ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 16 ม.ค. 2007 11.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 347902 ครั้ง

เข้าใจ เรียนรู้ถึงปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม


ประเภทของสีย้อม

การจำแนกสีย้อมที่นิยมกันมากที่สุด คือ การจำแนกสีย้อมตามการนำไปใช้ เพราะจะต้องมีความคงทนการซัก  มีความคงทนต่อแสงและยังต้องมีความคงทนต่อความร้อน  ซึ่งในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมได้จำแนกสีย้อมตามวิธีใช้ออกเป็น  11 ประเภท คือ (1) สีเอซิด  (2) สีไดเร็กท์  (3) สีเบสิค  (4) สีดิสเพอร์ส (5) สีรีแอกทีฟ (6) สีอะโซอิค  (7) สีแว็ต  (8) สีมอร์แดนท์ (9) สีอินเกรน  (10) สีออกซิเดชัน   และ (11) สีซัลเฟอร์ โดยที่สีย้อมแต่ละประเภทจะมีสูตรโครงสร้างทางเคมี     สมบัติของสีย้อม  ตลอดจนวิธีใช้ที่แตกต่างกันไป  ดังนั้นการเลือกใช้สีย้อมจึงมีความสำคัญอย่างมากในการย้อมสี  เพราะวัตถุที่ต้องการย้อมอาจสามารถย้อมด้วยสีย้อมเพียงชนิดเดียวหรือย้อมด้วยสีย้อมหลายชนิดที่ต่างชนิดกันได้  เช่น  เส้นใยเซลลูโลสส่วนใหญ่จะย้อมด้วยสีไดเร็กท์  เป็นต้น

1) สีเอซิด (acid dye) สีชนิดนี้เกิดจากสารประกอบอินทรีย์  มีประจุลบ ละลายน้ำได้ดี   ส่วนใหญ่เป็นเกลือของกรดกำมะถัน  กลไกในการติดสีเกิดเป็นพันธะไอออนิก  ใช้ย้อมเส้นใยโปรตีน  ในน้ำย้อมที่มีสภาพเป็นกรดเจือจาง  สีเอซิดบางตัวสามารถนำไปใช้ย้อมเส้นใยเซลลูโลสบริสุทธิ์ได้  เช่น  ปอ  ป่าน ไนลอน ใยขนแกะ ไหม    และอะคลิริกได้ดี  วิธีการใช้จะนำสีย้อมที่เกิดจากสารประกอบอินทรีย์ไปละลายน้ำย้อมที่เป็นกรดหรือเป็นกลาง   สีเอซิดไม่ทนการซัก  ไม่ทนเหงื่อ

2) สีไดเร็กท์ (direct dye)หรืออาจเรียกว่าสีย้อมฝ้าย  สีชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นสารประกอบ อะโซที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง  มีหมู่กรดซัลโฟนิคที่ทำให้ตัวสีสามารถละลายน้ำได้ มีประจุลบ  นิยมใช้ย้อมเส้นใยเซลลูโลส  สีจะติดเส้นใยได้โดยโมเลกุลของสีจะจัดเรียงตัวแทรกอยู่ในระหว่างโมเลกุลเส้นใย และยึดจับกันด้วยพันธะไฮโดรเจน สีไม่ทนต่อการซักน้ำ ตกง่าย ทนแสง

3) สีเบสิก (basic or cationic dye) สีย้อมชนิดนี้เป็นเกลือของเบสอินทรีย์ (organic base) ให้ประจุลบ   ละลายน้ำได้  นิยมใช้ย้อมเส้นใยโปรตีน  ไนลอนและใยอะคริลิกได้ดี  ในขณะย้อมโมเลกุลของสีส่วนที่มีประจุลบจะยึดจับกับโมเลกุลของเส้นใย  เป็นสีที่ติดทน ไม่ควรใช้ย้อมเส้นใยธรรมชาติเพราะจะไม่ทนการซักและแสง

4) สีดิสเพอร์ส (disperse dye) เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำแต่มีสมบัติกระจายได้ดี  สามารถย้อมเส้นใยอะซิเตท  เส้นใยโพลีเอสเตอร์  ไนลอน  และอะคริลิกได้ดี  การย้อมจะใช้สารพา (carrier) เพื่อช่วยเร่งอัตราการดูดซึมของสีเข้าไปในเส้นใยหรือย้อมโดยใช้อุณหภูมิ และความดันสูง             สีดิสเพอร์สเป็นสีที่ทนแสงและการซักฟอกค่อนข้างดี  แต่สีจะซีดถ้าถูกควันหรือแก๊สบางชนิด  เช่น แก๊สไนตรัสออกไซด์ สีดิสเพอร์สแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม  โดยพิจารณากลุ่มเคมีในตัวสีย้อม ได้แก่ สีย้อมอะโซ (azo  dyes)และสีย้อมแอมมิโน แอนทราคิวโนน (amino antraquinone) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ประกอบด้วยอนุพันธ์ของเอทราโนลามีน (ethanolamine; NH2CH2CH2CH) หรืออนุพันธ์ที่คล้ายคลึงกัน

5) สีรีแอกทีฟ (reactive dye) เป็นสีที่ละลายน้ำได้  มีประจุลบ  เมื่ออยู่ในน้ำจะมีสมบัติเป็นด่าง  สีย้อมชนิดนี้เหมาะกับการย้อมเส้นใยเซลลูโลสมากที่สุด โมเลกุลของสีจะยึดจับกับหมู่      ไฮดรอกไซด์ (OH-) ของเซลลูโลสและเชื่อมโยงติดกันด้วยพันธะโควาเลนท์ในสภาวะที่เป็นด่าง  กลายเป็นสารประกอบเคมีชนิดใหม่กับเซลลูโลส   สีรีแอกทีฟมี  2  กลุ่ม  คือ กลุ่มที่ย้อมติดที่อุณหภูมิสูง  70-75 oC  และกลุ่มที่ย้อมติดที่อุณหภูมิปกติ  สีรีแอกทีฟให้สีที่สดใส   ทุกสีติดทนในทุกสภาวะ 

6) สีอะโซอิค (azoic dye) สีย้อมชนิดนี้ไม่สามารถละลายน้ำได้  การที่สีจะก่อรูปเป็นเส้นใยได้ต้องย้อมด้วยสารประกอบฟีนอลซึ่งละลายน้ำได้ก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้รวมตัวเป็นสี (coupling) แล้วย้อมทับด้วยสารไดอะโซคอมโพแนนท์จึงจะเกิดเป็นสีได้  สีอะโซอิคใช้ย้อมเส้นใยได้ทั้งเซลลูโลส  ไนลอน หรืออะซิเตท สีอะโซอิคเป็นสีที่ทนต่อการซัก  แต่ไม่ทนต่อการขัดถู

7) สีแว็ต (vat dye) เป็นสีที่ไม่สามารถละลายน้ำได้    เมื่อทำการย้อมต้องเตรียมน้ำย้อมให้  สีแว็ตละลายน้ำโดยให้ทำปฏิกิริยากับสารรีดิวซ์และโซเดียมไฮดรอกไซด์  สีแว็ตจะถูกรีดิวส์ให้กลายเป็นเกลือจึงซึมเข้าไปในเส้นใยได้  เมื่อนำผ้าไปผึ่งในอากาศสีในเส้นใยจะถูกออกซิไดส์เป็น  สีแว็ต  สีย้อมชนิดนี้มีส่วนประกอบทางเคมีที่สำคัญอยู่   2  ชนิด คือ สีอินดิโก (indigoid) และ          สีแอนทราควินอยด์ (antraquinoid)

8) สีมอร์แดนท์ หรือโครม (mordant or chrome dye) สีย้อมชนิดนี้ต้องใช้สารช่วยติดเข้าไปช่วยเพื่อให้เกิดการติดสีบนเส้นใย  สารที่ช่วยติดที่ใช้คือ  สารประกอบออกไซด์ของโลหะ  เช่น โครเมียม  ดีบุก  เหล็ก  อะลูมิเนียม เป็นต้น สีมอร์แดนท์เป็นสีที่มีโมเลกุลใหญ่ซึ่งเกิดจาก                สีมอร์แดนท์หลายโมเลกุลจับกับโลหะแล้วละลายน้ำได้จึงทำให้ย้อมได้ง่าย  ซึ่งใช้ย้อมเส้นใยโปรตีนและเส้นใยพอลีเอไมด์ได้ดี

9) สีอินเกรน เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ โดยจะเกิดเป็นคอลลอยด์หลังจากเกิดปฏิกิริยากับน้ำ     สีย้อมชนิดนี้ใช้สำหรับย้อมฝ้าย

10) สีออกซิเดชัน(oxidation dye) เป็นสีที่มีละลายน้ำโดยจะเกิดเป็นคอลลอยด์หลังจากเกิดปฏิกิริยาในน้ำโดยสีจะติดแน่น อาศัยปฏิกิริยาการตกตะกอนผลึกภายในเส้นใย ใช้สำหรับย้อมฝ้ายและขนสัตว์ 

11) สีซัลเฟอร์ (sulfer dye) เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อทำการย้อมต้องรีดิวซ์สีเพื่อให้โมเลกุลอยู่ในสภาพที่ละลายน้ำได้  แต่สีซัลเฟอร์บางชนิดที่ผลิตออกมาจำหน่ายในรูปที่ถูกรีดิวซ์จะละลายน้ำได้  นิยมนำสีซัลเฟอร์มาย้อมฝ้าย สีจะติดทน และยังเป็นสีที่มีราคาถูก  แต่สีที่อ่อนจะไม่ทนต่อการซัก 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที