GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 01 พ.ค. 2018 08.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3831 ครั้ง

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไม่รวมทองคำในไตรมาสแรกของปี 2561 ทำรายได้ 2,093 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตสูงขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้าส่งออกสำคัญเกือบทุกประเภทขยายตัวได้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน รวมถึงเครื่องประดับเทียม ซึ่งตลาดหลักเดิมของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ยังคงมีมูลค่าเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนตลาดสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งไทยส่งออกเครื่องประดับทองไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตลาดหลักของไทย และตลาดใหม่ที่น่าจับตาอย่างกาตาร์ คูเวต และโอมาน ได้เติบโตสูงขึ้นมาก ขณะที่การส่งออกเครื่องประดับเงินไปยังรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน ก็ยังคงขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง สำหรับรายละเอียดของสถานการณ์ส่งออกติดตามได้ในบทวิเคราะห์นี้


ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไตรมาสแรกปี 61 ขยายตัวเกือบ 4%

สถานการณ์การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยในไตรมาสแรกของปี 2561

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐตามพิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71* ในระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2561 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.59 (ร้อยละ 21.09 ในหน่วยของเงินบาท) จากเดิมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2560 ที่มีมูลค่า 3,721.84 ล้านเหรียญสหรัฐ (130,765.49 ล้านบาท) มาอยู่ที่ 3,253.24 ล้านเหรียญสหรัฐ (103,193.47 ล้านบาท) นับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.18 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ทั้งนี้ หากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,093.00 ล้านเหรียญสหรัฐ (66,284.83 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 3.93 (ลดลงร้อยละ 6.20 ในหน่วยของเงินบาท)

สถานการณ์การส่งออก

สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ ทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูปหรือทองคำกึ่งสำเร็จรูป ในสัดส่วนร้อยละ 35.66 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปรับตัวลดลงร้อยละ 32.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เนื่องมาจากนักลงทุนชะลอการลงทุนในทองคำฯ ส่งผลให้ราคาทองคำเฉลี่ยอยู่ในแนวลบตั้งแต่เดือนมกราคม โดยในดือนมีนาคมมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1,324.66 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ (http://www.kitco.com) โดยได้รับแรงกดดันจากเงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 4 ครั้งในปีนี้ แต่นักลงทุนกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้ง รวมถึงสัญญาณความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลกดดันตลาดสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้นักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงแทน

เครื่องประดับแท้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญในอันดับที่ 2 ในสัดส่วนร้อยละ 32.64 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวม ขยายตัวร้อยละ 4.26 โดยการส่งออก เครื่องประดับทอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.72 ส่วนหนึ่งมาจากราคาทองคำในช่วงไตรมาสแรกปรับตัวลดลง ทำให้ราคาเครื่องประดับทองถูกลง ประกอบกับการออกแบบและฝีมือของไทยประณีตเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ส่งผลให้ไทยส่งออกไปยังประเทศสำคัญส่วนใหญ่ได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดราวร้อยละ 32 สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ ตลาดสำคัญในอันดับ 2, 4 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 1.3, ร้อยละ 20.38, ร้อยละ 50.87 และร้อยละ 82.64 ตามลำดับ เครื่องประดับเงิน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.07 ซึ่งแม้ว่าไทยจะส่งออกไปยังเยอรมนี ตลาดอันดับ 1 ได้เพิ่มขึ้น แต่ตลาดอันดับ 2 อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเยอรมนีหดตัวลง ร้อยละ 1.48 อีกทั้งตลาดออสเตรเลีย และฮ่องกง ที่อยู่ในอันดับ 4 และ 5 ต่างก็มีมูลค่าลดลงมากร้อยละ 21.31 และร้อยละ 61 ตามลำดับ เครื่องประดับแพลทินัม เติบโตต่อเนื่องร้อยละ 7.87 ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และราคาเฉลี่ยแพลทินัมที่ปรับตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี และเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ลดลงร้อยละ 1.3 จูงใจให้ผู้ชื่นชอบเครื่องประดับหรูสีขาวและกลุ่มคู่แต่งงานหันมาซื้อเครื่องประดับแพลทินัมมากขึ้น ส่งผลให้ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นและฮ่องกง ตลาดหลักใน 2 อันดับแรกที่ครองส่วนแบ่งรวมกันเกือบร้อยละ 70 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.98 และกว่า 1.36 เท่า ตามลำดับ สำหรับตลาดที่น่าจับตา คือ สิงคโปร์ และกาตาร์ ที่แม้จะยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกนี้เติบโตสูงมากกว่า 1.8 เท่า และ 57.88 เท่า ตามลำดับ

เพชร เป็นสินค้าส่งออกรายการสำคัญในอันดับ 3 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 14.24 เติบโตร้อยละ 6.04 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยสินค้าหลักในหมวดนี้เป็นเพชรเจียระไน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.11 อันเนื่องมาจากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญส่วนมากได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดหลักใน 5 อันดับแรกอย่างฮ่องกง เบลเยียม อินเดีย สหรัฐอเมริกา และอิสราเอล ที่ต่างขยายตัวร้อยละ 6.15, ร้อยละ 7.26, ร้อยละ 36.28, ร้อยละ 35.28 และ
ร้อยละ 6.14 ตามลำดับ

พลอยสี เป็นสินค้าส่งออกอันดับที่ 4 ในสัดส่วนร้อยละ12.38 ของมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับโดยรวมของไทย ด้วยอัตราการเติบโตร้อยละ 1.06 โดยสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้เป็น พลอยเนื้อแข็งเจียระไน (ทับทิม แซปไฟร์ และมรกต) เติบโตได้ร้อยละ 0.91 เนื่องจากการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตลาดในอันดับ 2 และ 3 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.81 และร้อยละ 1.66 ตามลำดับ นอกจากนี้ ไทยยังสามารถส่งออกไปยังศรีลังกาตลาดในอันดับ 4 ได้สูงกว่า 26.31 เท่า ในขณะที่ตลาดอันดับ 1 อย่างฮ่องกงปรับตัวลดลงร้อยละ 4.79 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ขยายตัวร้อยละ 2.09 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังฮ่องกง ซึ่งครองส่วนแบ่งสูงสุดถึงเกือบร้อยละ 66 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.25 รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส ตลาดในอับดับ 4 และ 5 ก็เติบโตได้สูงมากกว่า 8.42 เท่าและร้อยละ 43.18 ตามลำดับ สะท้อนถึงฝีมือการเจียระไนพลอยสีของไทยที่ยังคงได้รับการยอมรับในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง

เครื่องประดับเทียม เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 5 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 2.91 และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.09 จากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็นลิกเตนสไตน์ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ตลาดในอันดับ 1, 2, 4 และ 5 ได้สูงขึ้นร้อยละ 18.26, ร้อยละ 56.14, ร้อยละ 61.68 และร้อยละ 2.35 ตามลำดับ เว้นเพียงสหรัฐอเมริกา ตลาดในอันดับ 3 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.84

ตลาดส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (รวมทองคำ) ที่มีมูลค่าสูงสุดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ในสัดส่วนร้อยละ 21.55 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ 18.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกสินค้าหลักอย่างทองคำฯ ในสัดส่วนราวร้อยละ 82 ได้ลดลงร้อยละ 20.65

ฮ่องกง เป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 20.75 ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.84 จากการส่งออกเครื่องประดับเงิน และพลอย-เนื้อแข็งเจียระไน ได้ลดลงร้อยละ 61 และร้อยละ 4.79 ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่ยังสามารถเติบโตได้ในตลาดนี้ ได้แก่ เพชรเจียระไน เครื่องประดับทอง และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15, ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 18.25 ตามลำดับ

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.97 ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.22 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ ในสัดส่วนราวร้อยละ 66 โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับเงินปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.48 ส่วนที่เหลือเป็นเครื่องประดับทอง เติบโตได้ถึงร้อยละ 20.38 รวมถึงพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและเพชรเจียระไน สินค้าสำคัญลำดับถัดมาก็ขยายตัวได้ร้อยละ 4.81 และร้อยละ 35.28 ตามลำดับ

กัมพูชา นับเป็นตลาดส่งออกในอันดับ 4 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 9.74 และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดเป็นทองคำฯ ที่กลับมาเติบโตเป็นบวกร้อยละ 3.10

ส่วนตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยที่สำคัญในอันดับ 5 คือ เยอรมนี ในสัดส่วนร้อยละ 5.14 ขยายตัวร้อยละ 11.76 เนื่องจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ ซึ่งเป็นสินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 90 โดยกว่าร้อยละ 86 เป็นการส่งออกเครื่องประดับเงิน ที่เติบโตได้ร้อยละ 9.91อีกทั้งเครื่องประดับทอง สินค้าลำดับถัดมาก็มีมูลค่าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 68.04

ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ไปยังตลาด/ภูมิภาคต่างๆ ดังตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.93 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.93 และร้อยละ 6.23 ตามลำดับ อีกทั้งไทยยังสามารถส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อาทิ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย ญี่ปุ่น รวมถึงรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ได้สูงขึ้นร้อยละ 25.89, ร้อยละ 18.49, ร้อยละ 0.36 และร้อยละ 29.71 ตามลำดับ

มูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่เติบโตนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังเยอรมนี และเบลเยียม ตลาดหลักใน 2 อันดับแรกที่มีส่วนแบ่งรวมกันราวร้อยละ 61 ได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.45 และร้อยละ 5.65 ตามลำดับ โดยสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังเยอรมนีเป็นเครื่องประดับเงิน ส่วนสินค้าหลักในตลาดเบลเยียมเป็นเพชรเจียระไน ที่ล้วนเติบโตได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การส่งออกเพชรเจียระไนไปยังเบลเยียมนั้นส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกจากบริษัทเบลเยียมรายใหญ่อย่าง โรซี่ บลู-ไดมอน จำกัด ที่มาตั้งโรงงานอยู่ในไทยส่งออกเพชรเจียระไนกลับไปยังบริษัทแม่เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกต่อต่างประเทศ สำหรับการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร ตลาดอันดับ 3 หดตัวลงร้อยละ 15.49 โดยเครื่องประดับทองเป็นสินค้าหลักในตลาดนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.22

การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสดใส ตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังอยู่เกณฑ์ดีทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคการผลิตและภาคบริการที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในการบริโภคมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เติบโตในแนวบวกในช่วงไตรมาสแรก 2561 (https://tradingeconomics.com) มีผลทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์ statista.com ได้คาดการณ์ว่ายอดขายของร้านค้าเครื่องประดับในสหรัฐฯ ในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปี 2560

การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่ขยายตัวได้นั้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวอาหรับมีกำลังซื้อสูงและภาพลักษณ์สินค้าไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าดีที่มีคุณภาพสูง จึงทำให้ไทยส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยที่นอกจากจะจำหน่ายในประเทศแล้วยังส่งออกต่อตลาดต่างประเทศทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.29 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดนี้เป็นเครื่องประดับทองที่มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 50.87 รวมถึงไทยสามารถส่งออกไปยังกาตาร์ ตลาดในอันดับ 2 ที่เติบโตได้สูงกว่า 1.31 เท่า จากการส่งออกเครื่องประดับทองได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 82.64 อีกทั้งเพชรเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัม สินค้าสำคัญถัดมาก็สามารถขยายตัวได้เป็นอย่างดี สำหรับตลาดที่น่าสนใจคือ คูเวต และโอมาน ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 3.16 เท่า และ 1.87 เท่า โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังสองประเทศนี้เป็นเครื่องประดับทอง รองลงมาเป็นเครื่องประดับเทียมที่ล้วนเติบโตได้สูงหลายเท่าตัว

มูลค่าการส่งออกไปยังอินเดียที่เติบโตได้นั้นเป็นผลมาจากการส่งออกเพชรเจียระไน สินค้าหลักในสัดส่วนราวร้อยละ 63 ได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 36.28 ทั้งนี้ นอกจากอินเดียจะเป็นแหล่งค้าและเจียระไนเพชรที่สำคัญของโลกแล้ว อินเดียยังเป็นผู้บริโภคเพชรเจียระไนรายใหญ่ของโลกอีกด้วย ส่งผลให้อินเดียเป็นผู้นำเข้าเพชรเจียระไนในสามอันดับแรกของโลก

มูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังรัสเซีย ยูเครน และคาซัคสถาน ตลาดหลักใน 3 อันดับแรกได้สูงขึ้นถึงร้อยละ 87.03, ร้อยละ 64.56 และกว่า 3.34 เท่า ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังทั้งสามตลาดดังกล่าวเป็นเครื่องประดับเงินที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 76.20,
ร้อยละ 97.58 และ 3.44 เท่า ตามลำดับ

สำหรับตลาดสำคัญอื่นๆ ที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ฮ่องกง อาเซียน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และจีน ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 1.08, ร้อยละ 1.81, ร้อยละ 18.98 และร้อยละ 13.16 ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังอาเซียนที่ลดลงนั้น เนื่องมาจากการส่งออกไปยังตลาดส่วนใหญ่ได้ลดลง แม้ว่าตลาดอันดับ 1 อย่างสิงคโปร์จะเติบโตได้ก็ตาม อย่างไรก็ดี มีตลาดที่น่าสนใจที่ไทยส่งออกไปได้สูงขึ้นมากคือ บรูไน ซึ่งเติบโตได้กว่า 30 เท่า เนื่องจากไทยส่งออกเครื่องประดับทองได้เพิ่มสูงมากจากที่ไม่เคยมีการส่งออกมาก่อนเลยในปีที่ผ่านมา

มูลค่าการส่งออกไปยังประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ลดลงนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในภูมิภาคนี้ได้ลดลงร้อยละ 19.77 โดยสินค้าส่งออกหลักไปยังออสเตรเลียเป็นเครื่องประดับแท้ ซึ่งส่วนมากเป็นเครื่องประดับเงิน รองลงมาเป็นเครื่องประดับทอง ต่างมีมูลค่าลดลงร้อยละ 21.31 และร้อยละ 17.39 ตามลำดับ

ส่วนการส่งออกไปยังจีนที่ปรับตัวลดลงนั้น แม้ว่าสินค้าหลักอย่างเครื่องประดับเงินจะเติบโตได้ร้อยละ 7.35 หากแต่สินค้าสำคัญอื่นอย่างพลอยสีทั้งพลอยเนื้อแข็งเจียระไนและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ต่างหดตัวลงมากถึงร้อยละ 78.34 และร้อยละ 97.67 ตามลำดับ

บทสรุป

การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในรูปของเงินเหรียญสหรัฐในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 12.59 (ร้อยละ 21.09 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) แต่หากพิจารณาถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำฯ จะพบว่าเติบโตร้อยละ 3.93 (ลดลงร้อยละ 6.2 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) และหากพิจารณาถึงมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย เมื่อหักออกด้วยมูลค่าการส่งออกทองคำฯ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ส่งกลับจากการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสุทธิมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.15 (ลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อพิจารณาในหน่วยเงินบาท) ดังตารางที่ 3

ปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (ไม่รวมทองคำ) ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้สามารถขยายตัวได้ อาจมาจากภาพรวมภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น และราคาวัตถุดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ เมื่อถัวกับการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ราคาสินค้าสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปไทยไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับชื่อเสียงของสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ส่งผลบวกต่ออุปสงค์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องเฝ้าติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจบั่นทอนการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เสถียรภาพทางการเมืองในเขตยูโรโซน เช่น เยอรมนีอาจจัดการเลือกตั้งใหม่ หรือความเสี่ยงต่อการแยกตัวของคาตาโลเนียออกจากสเปน และประเด็น Brexit ของอังกฤษ เป็นต้น และภาวะหนี้ในระบบเศรษฐกิจของจีนที่ค่อนข้างสูง เหล่านี้อาจส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความผันผวนของค่าเงินบาท และความเข้มข้นในการแข่งขันที่น่ามีจะมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการในต่างประเทศน่าจะงัดกลยุทธ์ต่างๆ มาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในปีนี้ได้

ทั้งนี้ ในส่วนของภาครัฐก็ได้มีมาตรการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกชนิด การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอัญมณีที่ยังมิได้เจียระไน หรือการช่วยพัฒนาสินค้าและศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบกิจการในภูมิภาคต่างๆ ของไทย และการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้ออกงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดย ผู้ประกอบการที่ต้องการกู้เงินเพื่อพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ สามารถขอกู้เงินได้จากโครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีวงเงินกู้รวม 8,000 ล้านบาท โดยผู้กู้สามารถกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 3 ปี ปีถัดไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ตลอดอายุสัญญา โดยสามารถยื่นกู้ได้ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไปจนกว่าจะหมดวงเงิน

สำหรับธุรกิจที่ต้องการเติบโตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วข้างต้น เจ้าของกิจการควรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และใช้นวัตกรรมสร้างสรรค์สินค้าให้มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากคู่แข่ง สร้าง Story หรือ Gimmick ให้กับสินค้าหรือแบรนด์ เพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า ซึ่งจะนำไปสู่การจดจำในตัวสินค้าหรือแบรนด์ รวมถึงแสวงหาลูกค้าใหม่ผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนการตลาดก็ควรทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่อาจหันมาให้ความสำคัญการตลาดบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะกำลังได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ควรกล้าฉีกกรอบความคิดการทำธุรกิจแบบเดิม มาเป็นธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด โดยอาจพิจารณาทำความร่วมมือกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อขยายตลาด หรือเปลี่ยนคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันมาร่วมมือเป็นพันธมิตรกัน เพื่อต่อยอดขยายธุรกิจแบบไร้ขีดจำกัด ซึ่งถือเป็นการสร้างหนทางสู่ความสำเร็จให้หลากหลายมากขึ้น

*พิกัดอัตราศุลกากรตอนที่ 71 ว่าด้วย “ไข่มุกธรรมชาติหรือไข่มุกเลี้ยง รัตนชาติหรือกึ่งรัตนชาติ โลหะมีค่า โลหะที่หุ้มติดด้วยโลหะมีค่า และของที่ทำด้วยของดังกล่าว เครื่องเพชรพลอย และรูปพรรณที่เป็นของเทียม เหรียญกษาปณ์”  

-------------------------------------

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

30 เมษายน 2561


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที