เมตตา

ผู้เขียน : เมตตา

อัพเดท: 25 ม.ค. 2007 07.38 น. บทความนี้มีผู้ชม: 27456 ครั้ง

เมื่อนักวิทยาศาสตร์อยากจะย้อนเวลากลับไปช่วยผู้มีพระคุณ เขาจะทำได้อย่างไร


เครื่องเรียกฝน

 อีกประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากพบดร.วินในวันรับโล่ห์รางวัล ผมได้เข้าไปเยี่ยมท่านที่ศูนย์วิจัยโลก สาขาเอเซียอาคเนย์  ที่ท่านประอยู่  เราคุยกันออกรสชาติมาก
      " ช่วงนี้คุณมีงานวิจัยอะไรอยู่ในมือบ้างไหม" ท่านสนใจเรื่องงานของผมอยู่เสมอ
      " ยังมีโครงการปรับปรุงเครื่องเรียกฝนขั้นที่ 2 อยู่ครับ"
      " คุณเป็นพ่อมด เรียกฝนได้ทุกที่แล้วยังไม่พอใจอีกหรือ ไหนลองเล่าหลักการทำงานของเครื่องให้ผมฟังได้ไหม"
      " ผมสังเกตว่า ก่อนที่ฝนจะตก จะต้องมีฟ้าผ่า ฟ้าร้องเกิดขึ้นเกือบทุกครั้ง เครื่องเรียกฝนนี้เลียนแบบหลักการธรรมชาติครับ โดยการตั้งเสาล่อเมฆไว้บนพื้นที่ที่ต้องการให้ฝนตก แล้วยิงเครื่องล่อเมฆให้ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศที่มีเมฆฝนอยู่หนาแน่น  ปล่อยประจุไฟฟ้าอ่อน ๆ ไว้  เพื่อดึงดูดความชื้นหรือก้อนเมฆให้มารวมตัวกัน เมื่อความหนาแน่นของก้อนเมฆได้ที่  ผมจะใช้ดาวเทียมสื่อสารควบคุมตำแหน่งเครื่องล่อเมฆให้ลอยมาอยู่เหนือเสาล่อเมฆ เสาล่อเมฆจะมีประจุบวกอย่างอ่อนๆ ดึงดูดก้อนเมฆให้คล้อยต่ำลงมา แล้วตกเป็นฝนในตำแหน่งที่เสาตั้งอยู่ ซึ้งเป็นพื้นที่ที่เราต้องการให้ฝนตก "
      " แล้วคุณควบคุมปริมาณน้ำฝนที่ต้องการได้อย่างไร" ดร.วิน ลูบคางอย่างใช้ความคิด
      " ถ้าต้องการให้ฝนตกไม่มาก ผมจะตั้งเวลาทำงานของเครื่องล่อเมฆให้สั้น ขนาดของก้อนเมฆจะไม่ใหญ่มาก  แต่ถ้าต้องการให้ฝนตกเหนือเขื่อนในปริมาณมาก ต้องตั้งเวลาทำงานของเครื่องล่อเมฆให้นานขึ้นครับ"
      " คุณได้รับเชิญไปเป็นพอมดเรียกฝนที่โน้น ที่นี่ คุณยังไม่พอใจอีกหรือ "
      " ยังครับ ผมยังไม่พอใจผลงานวิจัยนี้เท่าไร มันยังมีจุดอ่อนครับ ถ้าบริเวณนั้นไม่มีเค้าเมฆฝนเลย อย่างเช่นให้ผมไปเรียกฝนกลางทะเลทราย ผมคงทำไม่ได้แน่”

      “คุณไม่เคยหาเครื่องล่อเมฆเจอเลยสักครั้งหลังฝนตกใช่ไหม” ดร.วิน รู้ว่าผมพูดเล่นให้ติดตลก เลยแก้ไขคำพูดของผมให้ถูกต้อง เสียงหัวเราะของท่านกังวาลใส และแล้ว  ผมก็ได้ความคิดอะไรบางอย่างออกมาทันที

      “ผมนึกออกแล้ว ผมจะหาเครื่องล่อเมฆของผมเจอได้อย่างไร ถ้าผมติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณคลื่นวิทยุบอกตำแหน่งไว้ที่เครื่องล่อเมฆ แล้วตั้งเวลาให้เครื่องล่อเมฆส่งสัญญาณหลังฝนตก  แล้วใช้ดาวเทียมค้นหา  ผมก็รู้ตำแหน่งเครื่องล่อเมฆว่าไปตกที่ไหน”

     “แล้วคุณจะทำอะไร ถ้าคุณหาเครื่องล่อเมฆเจอ”

     “ ผมอาจจะใส่เครื่องบันทึกข้อมูลการทำงานของเครื่องไว้ด้วย จะได้สามารถดึงข้อมูลออกมาวิเคราะห์ผลการทำงานของเครื่องได้ และอาจจะพัฒนาเครื่องให้มีความแข็งแรงมากขึ้น เผื่อว่าจะได้นำเครื่องล่อเมฆกลับมาใช้งานได้อีก เป็นการลดต้นทุนการเรียกฝนดีไหมครับ”

     “ อืม เป็นความคิดที่ดีมาก  คุณสนใจจะมาร่วมโครงการวิจัยกับผมไหม” ท่านเอ่ยปากชวนซ้ำอย่างนี้ คงปฏิเสธไม่ได้แล้ว

     “ถ้าเป็นโครงการสร้างเครื่องผลิตพลังงานทดแทนละก็ ผมตกลงครับ เพราะผมยังไม่อยากใช้รถม้าครับ” ผมพูดปนรอยยิ้ม 

      “ถ้าอย่างนั้น เราจะได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังสักที”  เราจับมือกันนานมาก เพื่อเป็นการเพิ่มพูนมิตรภาพทางวิชาการ

       “แล้วโครงการยานเวลาล่ะ คุณไม่สนใจบ้างหรือ” ดร.วิน ย้อนกลับมาพูดเรื่องโครงการยานเวลาอีก

        “ท่านไม่กลัวว่าจะมีใครนำยานเวลาไปใช้ในทางที่ไม่ดีบ้างหรือครับ อย่างเช่น เข้าไปยุ่งกับเหตุการณ์ในอดีต แล้วทำให้เหตุการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป”

       “ผมเป็นห่วงเรื่องนี้มากเหมือนกัน  ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนั้นจริง ๆ  มวลมนุษยชาติต้องปั่นป่วนแน่ แต่….ความจริงตอนนี้ ผมสร้างยานเวลาเสร็จแล้ว แต่ยังมีปัญหาอยู่ 2 ข้อ”  เมื่อคุยมาถึงตรงนี้แล้ว ดร.วิน ถอนหายใจเฮือกใหญ่

          “โครงการมีจุดอ่อนตรงไหนหรือครับ”

          “ ข้อที่ 1 ยานไม่สามารถเดินทางไปสู่อนาคตได้ เพราะเหตุการณ์ในอนาคตยังไม่เกิดขึ้น ยกเว้นคนในโลกอนาคตจะเดินทางมาหาเรา”

           “ปีนี้เป็นปีแรกที่ยานเวลาใช้งานได้  ต่อไปอาจจะมีนักวิจัยพัฒนายานเวลานี้ต่อไปอีก  ถ้าคนในอนาคตเดินทางย้อนกลับมาหาเรา เราก็จะสามารถเดินทางไปอนาคคถึงช่วงเวลาที่เขาอยู่ได้ ใช่ไหมตรับ” ดร.พยักหน้าเห็นพ้อง “แล้วจุดอ่อนข้อที่ 2 ละครับ”

          “ จุดอ่อนข้อที่ 2 ยานเวลาต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ เพราะการทำงานของยานต้องใช้พลังงานสูง จริง ๆ  ผมไม่อยากใช้พลังงานประเภทนี้เลย” ผมสังเกตเห็นสีหน้าของดร.วินค่อนข้างเครียด

            “ท่านบอกว่า ท่านสร้างยานเวลาเสร็จแล้ว แต่ทำไมผมไม่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับผลงานของโครงการนี้เลยละครับ”

            “ โครงการนี้ผมทำวิจัยเพียงคนเดียว และยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ไหนมาก่อน  ขนาดหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผมยังไม่รู้รายละเอียดเลย  ผมบอกคุณเป็นคนแรก”  ดร.วิน มีสีหน้าเครียดมากขึ้น  “ผมอยากให้คุณสร้างเครื่องจักรที่สามารถสร้างพลังงานสูงเท่าเทียมกับพลังงานเนิวเคลียร์   และต้องเป็นพลังงานที่ใช้งานได้อย่างไม่มีวันหมดสิ้น  มีขนาดเล็กกะทัดรัดสามารถบรรจุลงไปในยานเวลา เพื่อช่วยให้งานวิจัยครั้งนี้ของผมสมบูรณ์แบบ คุณพอจะทำให้ผมได้ไหม”

            “ผมไม่รับปากนะครับ ผมขอกลับไปคิดดูก่อนนะครับ”

            “ผมขอร้องคุณ…..”  ดร.วินล้มและตกลงจากเก้าอี้นั่ง  ผมรีบเข้าไปประคองรับ ท่านแน่นิ่งไม่ไหวติง ผมตะโกนให้เลขาของท่านโทรศัพท์ตามรถพยาบาลของสถาบันวิจัยโลกมารับโดยด่วน ถ้าท่านเป็นอะไรไป ผมจะทำอย่างไร…..


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที