GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 31 ต.ค. 2017 08.21 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3828 ครั้ง

ชื่นชมเอกลักษณ์ทองลายโบราณสุโขทัย หรือทองศรีสัชนาลัยงานหัตถศิลป์ที่ใช้ความประณีตสูงในการผลิตที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้ที่ https://goo.gl/K77ydQ หรือติดตามบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://infocenter.git.or.th


เครื่องประดับทองสุโขทัย


สุโขทัยถือเป็นแหล่งอารยธรรม และเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ ที่ปรากฏในปัจจุบัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีต ที่ทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษา ซึ่งจากรากฐานของศิลปวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาในอดีตได้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อการอนุรักษ์ในรูปแบบของเครื่องประดับทองโบราณที่นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย (Thai Culture Heritage) ของจังหวัดสุโขทัย ที่มีแหล่งการผลิตอยู่ที่ตำบลศรีสัชนาลัย และบางส่วนกระจายการผลิตอยู่ที่ตำบลท่าชัย

ความเป็นมาของทองสุโขทัย

นับตั้งแต่ครั้งโบราณเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเรืองอำนาจ การทำทองมักปรากฏอยู่ในแวดวงช่างทองหลวงของราชสำนัก ที่มีการสืบทอดอยู่ในวงจำกัด จนเมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอำนาจ สิ่งเหล่านี้ก็เกิดการสูญหาย และถูกผสมผสานเข้าไปรวมกับศิลปะรูปแบบอื่นๆ ในต่างถิ่น ล่วงเลยมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อราวปี 2473 ตระกูลช่างทองในจังหวัดสุโขทัยได้เรียนรู้เทคนิคการทำทองรูปแบบต่างๆ จากช่างชาวจีนผสานกับความรู้พื้นฐานที่ตนเองมี จนเกิดการผสมผสานและถ่ายทอดลงสู่รุ่นลูกหลาน การทำทองในระยะแรกเป็นการทำตามคำสั่งของลูกค้า จวบจนกระทั่งมีการค้นพบเส้นถักสำริดโบราณบริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นลวดลายที่ไม่มีอยู่ในท้องตลาด ช่างทองจึงเกิดความสนใจและพยายามแกะลวดลายถักสี่เสาของสร้อยสำริดโบราณ จนสามารถทำเป็นขั้นตอนในการถักสร้อยได้ในที่สุด จากนั้นช่างทองสุโขทัยได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงลวดลายต่างๆ ตามที่ปรากฏจากสร้อยถักโบราณ และลวดลายจากลายปูนปั้นตามโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัยจนเกิดเป็นความคิดที่จะสร้างชิ้นงานให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น จึงจะเห็นว่าทองลายโบราณสุโขทัย หรือทองศรีสัชนาลัยนั้น เป็นการเรียกชื่อชิ้นงานตามแหล่งกำเนิด หรือแหล่งผลิต ซึ่งก็คือ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ไม่ได้เป็นทองที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณาจักรสุโขทัย
 
คุณค่าทางศิลปะของทองสุโขทัย

ทองสุโขทัยเป็นเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากแหล่งผลิตอื่น ด้วยถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่ใช้ความประณีตสูงในการผลิต โดยช่างทองจะทำเครื่องประดับด้วยมือ จากการใช้ทองคำที่มีค่าความบริสุทธิ์สูงถึง 99.5-99.99% เช่นเดียวกับเครื่องประดับทองสมัยโบราณ ทำให้มีความแตกต่างจากทองรูปพรรณทั่วไปในสมัยปัจจุบัน หรือทองตู้แดงที่ใช้ทองคำบริสุทธิ์ 96.5% จึงทำให้สีของทองสุโขทัยที่ปรากฏออกมาคล้ายกับสีเหลืองของดอกจำปา ซึ่งมีความสวยงามแปลกตา และมีความสุกสว่างกว่าทองทั่วไป

นอกเหนือไปจากคุณสมบัติของวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตแล้ว ทองสุโขทัยยังมีเอกลักษณ์เฉพาะที่ปรากฏผ่านทางเทคนิค “การถักทอง” ให้เป็นเส้นลายตั้งแต่ 3 เสา จนถึง 200 เสา ซึ่งหากมีจำนวนเสามาก เส้นทองก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า “การถักกลม” นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ จำพวกสร้อยคอและสร้อยข้อมือ ส่วนการถักในลักษณะของเปียที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องใช้เรียกว่า “การถักแบน” นอกจากนี้ การผลิตทองสุโขทัยยังใช้เทคนิคลงยา (Enamel) โดยใช้คู่สีที่ตัดกัน ซึ่งส่วนมากนิยมใช้สีแดงและสีเขียวเข้ามาช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้แก่ชิ้นงาน เนื่องจากชิ้นงานผลิตขึ้นมาจากทองที่มีความบริสุทธิ์สูงทำให้มีความอ่อนตัวค่อนข้างสูง และมีน้ำหนักมากจึงไม่เหมาะต่อการตกแต่งด้วยอัญมณีขนาดใหญ่ แต่เลือกใช้วิธีการลงยาและเน้นการดุนลวดลายให้สวยงามแทน ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้แก่ชิ้นงานได้เป็นอย่างดี

 
      
    

ลวดลายที่ปรากฏผ่านชิ้นงานทองสุโขทัย ส่วนมากมีต้นแบบมาจากลวดลายตามผนังโบราณสถานในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ลายปูนปั้นผนังโบสถ์วัดนางพญา จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม รวมทั้งลวดลายจากโบราณวัตถุเครื่องสังคโลกโบราณ ประกอบกับช่างทองได้คิดค้นลวดลายจากสิ่งต่างๆ รอบตัวขึ้นมาใหม่อีก 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลวดลายพฤกษา เช่น ลายเครือเถา ลายดอกพิกุล ลายดอกบัว ลายพรรณพฤกษา กลุ่มลวดลายสิงสาราสัตว์ กลุ่มลวดลายไทยประยุกต์ เช่น ลายกนก ลายกระจัง ลายอุบะ กลุ่มลวดลายประติมากรรม กลุ่มลวดลายจากสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ ลายสุ่ม ลายลูกตะกร้อ ลายตะกรุด ลายมัดหมี่ ลายจักสาน ลายปี๊บ และกลุ่มลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายเม็ดมะยม ลายหยดน้ำ ลายไข่ปลา ลายเถาวัลย์ ลายลูกประคำ ดังนั้น จึงทำให้ทองลายโบราณสุโขทัยมีรูปแบบที่หลากหลายและคงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน

กรรมวิธีการผลิตทองสุโขทัย
           
กระบวนการผลิตทองสุโขทัย อาศัยเครื่องมือสำคัญ ได้แก่ โต๊ะทำทอง เครื่องมือพ่นไฟ เครื่องมือตีทอง เครื่องรีดทอง เครื่องมือชักลวด เครื่องมือแกะทอง เครื่องตัดทอง เครื่องชั่งทอง ฯลฯ โดยขั้นตอนแรกเป็นการหลอมทอง โดยนำทองคำแท่งบริสุทธิ์ 99.99% มาหลอมให้ละลาย นำไปใส่เบ้าและนำกลับมาตีหรือรีดเพื่อให้เกิดทองเป็นเส้นขนาดต่างๆ ตามความต้องการ จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการประดิษฐ์ลวดลาย โดยขั้นตอนนี้จะรวมถึงการถักทอง หรือการทำลูกประคำ ลูกอะไหล่ต่างๆ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของชิ้นงาน แล้วจึงใช้น้ำประสานทองเชื่อมชิ้นส่วนต่างๆ ให้ติดกัน ปิดท้ายด้วยการทำความสะอาดชิ้นงาน หรือการต้มทองโดยนำเอาทองมาเผาและแช่ลงในกรดกำมะถันเพื่อไม่ให้มีน้ำประสานทองเจือปนในชิ้นงาน ทั้งนี้ เครื่องประดับทองบางชิ้นอาจมีขั้นตอนการลงยาเพิ่มเข้ามา
 
ทองสุโขทัยที่ปรากฏในสังคมปัจจุบัน

ตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับทองสุโขทัยค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่มที่มีการแบ่งตลาดชัดเจน โดยยุคแรกๆ ในช่วงปี 2536 ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง มีความสนใจและชื่นชอบในการสะสมงานแนวศิลปะโบราณ เนื่องจากราคาของชิ้นงานจะสูงกว่าทองรูปพรรณตามท้องตลาดทั่วไป ปัจจุบันรสนิยมในการบริโภคไม่ได้มีเหตุผลแตกต่างจากเดิมมากนัก แต่จะเห็นว่ามีความหลากหลายของประเภทสินค้าและรูปแบบเพิ่มขึ้น อาทิ สร้อยคอทองคำ จี้ทองคำ กรอบพระ แหวนทองคำลงยา เข็มขัดลายต่างๆ หัวเข็มขัดแกะสลักหรือฉลุลวดลาย การตอกลายนูน ต่างหูแบบต่างๆ เป็นต้น ในส่วนของผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและเพื่อความอยู่รอดมากยิ่งขึ้น โดยการออกแบบสินค้าให้มีความหลากหลาย และเริ่มนำเสนอสินค้าผ่านทางเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายช่องทางในการเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจัยหลายๆ ประการ อาทิ ราคาทองคำที่นำมาเป็นวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น หรือจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจนทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง รวมถึงกระแสความนิยมต่างๆ ในสินค้าชนิดอื่น ทำให้ผู้ประกอบการทองสุโขทัยจำเป็นต้องปรับตัวโดยอาศัยการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้แข่งขันได้ในตลาด รวมถึงการรับจ้างผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าเพื่อประคับประคองธุรกิจต่อไป
           
สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคโดยทั่วไปที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับทองสุโขทัย คือ คุณค่าของชิ้นงาน เนื่องด้วยทองสุโขทัยนั้นสะท้อนถึงศิลปะและอัตลักษณ์ของความเป็นสุโขทัยชัดเจน งานแต่ละชิ้นมีการออกแบบเฉพาะตัวให้ไม่ซ้ำกัน จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะและเก็บสะสมเชิงอนุรักษ์ของเก่า แต่ในขณะเดียวกันสำหรับการสะสมเพื่อเก็งกำไรก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่การขายคืนอาจจะต้องประเมินมูลค่าโดยการหักน้ำหนักจากส่วนที่ลงยาออกไปเสียก่อน รวมทั้งการตีราคาต้องขึ้นอยู่กับแหล่งที่นำไปขายคืนด้วย ผู้ที่สนใจจะซื้อทองสุโขทัยสามารถซื้อได้จากแหล่งขายทองสุโขทัยโดยตรง เพราะมีความน่าเชื่อถือทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบของชิ้นงานที่คงความเป็นสุโขทัยแท้ๆ ปัจจุบันย่านการค้าที่จำหน่ายทองสุโขทัยยังคงตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย ส่วนใหญ่เป็นร้านเก่าแก่ที่สืบทอดจากตระกูลช่างทองสุโขทัยโดยตรง แล้วแตกแขนงเป็นร้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีสายสัมพันธ์เป็นเครือญาติกันแต่เดิมมา อันได้แก่ ร้านทองสมสมัย ร้านทองนันทนา ร้านไหมเงินไหมทอง ร้านอรอนงค์ช่างทอง ฯลฯ แต่ละร้านจำหน่ายเครื่องประดับทองสุโขทัย ทั้งสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู กำไล เข็มขัด เครื่องประดับลงยาสี ฯลฯ ซึ่งมีทั้งรูปแบบ ลวดลายและระดับราคาที่หลากหลาย
           
ปัจจุบันหลายหน่วยงานต้องการที่จะอนุรักษ์ทองสุโขทัยเอาไว้ไม่ให้สูญหาย และพยายามที่จะทำให้ทองสุโขทัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยจากยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุโขทัย ตามแผนพัฒนา 4 ปี (พ.ศ. 2558-2561) ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนขึ้น อันเป็นการผสานทั้งการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมการขายและการตลาดให้แก่สินค้าหัตถกรรมของจังหวัด ซึ่งหมายรวมถึงทองสุโขทัยเอาไว้ด้วย นอกจากนี้ สืบเนื่องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่เข้ามาช่วยส่งเสริม ทำสื่อประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรม และผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ตลอดจนช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าพื้นเมืองต่างๆ โดยทองสุโขทัยถูกจัดให้เป็นสินค้าโดดเด่นที่ทรงคุณค่าของจังหวัดสุโขทัย ดังนั้น ความพยาพยามที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการค้าและการตลาดจึงเป็นไปด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จนสามารถดึงดูดลูกค้าที่มีศักยภาพในการจับจ่ายใช้สอยให้ช่วยมาเพิ่มมูลค่าทางการค้าให้กับผู้ประกอบการและอนุรักษ์ทองสุโขทัยไว้ให้คงอยู่สืบต่อไป
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ตุลาคม 2560
 
------------------------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง :
1. “เล่าขานตำนานทองคำ”, ทองแสงนภา. http://www.sangnapa.com
2. ชุดองค์ความรู้ “ทองลายโบราณสุโขทัย”, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).
3. “ทองสุโขทัย”, หนังสือพิมพ์ข่าวสด (ฉบับวันที่ 09 มิถุนายน 2558).
4. “เครื่องทองสุโขทัย” หัตถศิลป์ร่วมสมัย, LEXUS Magazine (ฉบับตีพิมพ์เดือนตุลาคม ปี 2552).
5. “ทองสุโขทัย”, อำเภอศรีสัชนาลัย. http://sisatchanalai.com
6. “เครื่องทองสุโขทัย”, เครือข่ายกาญจนาภิเษก. http://kanchanapisek.or.th
7. “ทองสุโขทัย..มรดกทางวัฒนธรรม”, หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (วันที่ 17 กันยายน 2558).
8. “ทองสุโขทัย นพคุณแห่งเมืองเก่า”, สมาคมค้าทองคำ. http://www.goldtraders.or.th
9. “ทองสุโขทัย”, Gold @ Jewelry Society Magazine (วันที่ 30 มกราคม 2560).
10. “ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสุโขทัย ตามแผนพัฒนาจังหวัดสุโขทัย 4 ปี”, สำนักงานจังหวัดสุโขทัย.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที