GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 13 ก.ย. 2017 07.40 น. บทความนี้มีผู้ชม: 2353 ครั้ง

ติดตามเรื่องราวของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นพระราชาธิบดี และเป็นสิ่งที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ใน https://goo.gl/DpgLV7 หรือติดตามบทความอื่นๆ เพิ่มเติมที่ http://infocenter.git.or.th


พระมหาพิชัยมงกุฎ สุดยอดศิราภรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี

“เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ หากแต่มีความสำคัญยิ่งกว่านั้น เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นพระราชาธิบดี จึงเป็นสิ่งที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก”*

การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้แก่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฎิบัติตามแบบโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมานับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ด้วยเป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นพระราชาธิบดี หรืออีกนัยหนึ่งคือเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความมีอำนาจ ฐานันดรศักดิ์ และความชอบธรรมในการเป็นพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์จะทรงเครื่องราชกกุธภัณฑ์เพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และจะไม่ทรงอีกเลยตลอดรัชสมัย หากแต่เจ้าพนักงานจะเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทอดถวายไว้ข้างพระราชบัลลังก์ 



 
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com


ในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้น ‘มงกุฎ’ ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งรูปแบบของมงกุฎของพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละยุคจะมีความแตกต่างกันออกไป สำหรับมงกุฎของพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีนั้นมีพระนามว่า ‘พระมหาพิชัยมงกุฎ’
 


 
พระมหาพิชัยมงกุฎ
ภาพจาก: กรมช่างสิบหมู่


พระมหาพิชัยมงกุฎ คือสุดยอดศิราภรณ์ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรชัยพฤกษ์ วาลวิชนีกับแส้จามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน) สร้างขึ้นเมื่อปี 2325 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทำด้วยทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชรและอัญมณี เมื่อแรกสร้างมีความสูงประมาณ 51 เซนติเมตร และที่ส่วนบนสุดของพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นยอดแหลม ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้รับสั่งให้พระราชสมบัติ (การเวก รัตนกุล) เดินทางไปเลือกซื้อเพชรเม็ดงามที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เพื่อนำมาประดับที่ยอดของพระมหาพิชัยมงกุฎ เพชรเม็ดดังกล่าวมีขนาด 40 กะรัต โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้แก่เพชรเม็ดนี้ว่า “พระมหาวิเชียรมณี” นอกจากนี้ ยังโปรดฯ ให้สร้างพระกรรเจียกจอน (เครื่องประดับหู) เพิ่มขึ้น ทำให้พระมหาพิชัยมงกุฎมีความสูง 66 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 7.3 กิโลกรัม ซึ่งการที่พระมหาพิชัยมงกุฎมีน้ำหนักมากถึงเพียงนี้ ก็เพื่อต้องการสื่อความหมายว่า พระมหาพิชัยมงกุฎนี้เป็นของหนัก เปรียบได้กับพระราชภาระอันใหญ่หลวงของพระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับหลังจากการสวมมงกุฎนี้ เพราะต้องทรงแบกรับทุกข์สุขของพสกนิกรทั้งประเทศ อันเป็นหน้าที่ที่มิอาจวางลงได้
 


 พระมหาวิเชียรมณี
ภาพจาก: https://www.silpa-mag.com

 
ทั้งนี้ กล่าวกันว่าการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้ประดับเพชรบนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎนั้น ไม่เพียงแต่เพื่อเพิ่มความงดงามและทรงคุณค่าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้สยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมอีกด้วย เนื่องจากชาวตะวันตกมักอ้างเหตุผลว่าสยามและประเทศในภูมิภาคนี้เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน การถูกยึดครองโดยชาติตะวันตกจะช่วยทำให้ประเทศเหล่านี้หลุดพ้นจากความด้อยพัฒนา ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องประกาศศักดาให้ชาติตะวันตกรับรู้ว่าสยามเป็นประเทศที่เจริญแล้วและมีอารยะ นับเป็นพระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
---------------------------------------------------------- 
ข้อมูลอ้างอิง:
1. เรื่องเล่า (ของ) เมืองไทย ตอนที่ 6 เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์: พระมหาพิชัยมงกุฎ. เมืองไทยประกันชีวิต เรียบเรียงโดย อ.เผ่าทอง ทองเจือ. (16 ธันวาคม 2559). https://www.muangthai.co.th:1767/news/view/MuangthaiStory6
2. เพชรพระมหาวิเชียรมณี วิเทโศบายต้านการล่าอาณานิคม. (30 พฤศิจากายน 2559). http://www.zanzaap.com/2016/11/mahavichianmanee
3. พระมหาพิชัยมงกุฎ เครื่องราชศิราภรณ์ล้ำค่าของพระเจ้าแผ่นดิน. OK Nation. (มีนาคม 2553). http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=567001
4. “พระมหาวิเชียรมณี” เพชรประดับบนยอด “พระมหาพิชัยมงกุฎ”. Silpa-Mag.com. (6 พฤษภาคม 2560). https://www.silpa-mag.com/club/miscellaneous/article_8992
 
 

 
 



*ให้คำจำกัดความโดย สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที