GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 11 เม.ย. 2017 10.08 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1410 ครั้ง

ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นฉุดความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในรอบปี 2016 สู่จุดต่ำสุดในรอบเจ็ดปีที่ 2,041.6 ตัน ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่ https://goo.gl/l46Mft หรือติดตามบทความอื่นๆ ที่ http://infocenter.git.or.th


อุปสงค์เครื่องประดับทองทั่วโลกตกต่ำ

ราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นฉุดความต้องการบริโภคเครื่องประดับทองในรอบปี 2016 สู่จุดต่ำสุดในรอบเจ็ดปีที่ 2,041.6 ตัน


•    ความต้องการเครื่องประดับทองของอินเดียในรอบหนึ่งปีถึงปลายปี 2016 ลดลงร้อยละ 22 หลังจากเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมทองคำของอินเดียในช่วงปีที่ผ่านมา
•    ความต้องการเครื่องประดับทองในจีนลดลงต่อเนื่องจากจุดสูงสุดเมื่อปี 2013 จากการขาดแคลนอุปทานทองคำที่จำกัดการเติบโตของตลาดในไตรมาสที่สี่ของปี 2016
•    ความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกมักสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีอยู่แล้ว และยังได้แรงหนุนเพิ่มจากราคาทองคำที่ดิ่งลงในช่วงปลายปี 2016 ทำให้การเติบโตของอุปสงค์เครื่องประดับทองในไตรมาสที่สี่เทียบกับไตรมาสก่อนของปี 2016 อยู่ที่ร้อยละ 26 ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี
 

ความต้องการที่ลดต่ำลงร้อยละ 5 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 (มาอยู่ที่ 622.0 ตัน) ได้ปิดฉากช่วงปีอันยุ่งยากในธุรกิจเครื่องประดับทอง โดยความต้องการเครื่องประดับทองตลอดปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 15 ความต้องการในแต่ละตลาดส่วนใหญ่ลดต่ำลงโดยมีกรณียกเว้นในตลาดเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น อินเดียและจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสองอันดับแรก คิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบร้อยละ 80 จากปริมาณความต้องการตลอดปีที่ลดต่ำลง 347.0 ตัน อินเดียมีความต้องการลดต่ำลงมากที่สุดเนื่องจากตลาดเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน
 

ราคาทองคำสูงผลักความต้องการเครื่องประดับทองทั่วโลกสู่จุดต่ำสุดในรอบเจ็ดปี
“ตลาดอินเดียและจีนอ่อนกำลังลงส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองลดลง 273 ตัน 
จากความต้องการทั่วโลกที่ลดลง 347 ตัน ในปี 2016”
 
อินเดีย

ความต้องการเครื่องประดับทองของอินเดียในรอบปีที่ผ่านมาลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบ 7 ปี ท่ามกลางการประท้วงหยุดงาน กฎระเบียบ และราคาทองคำที่สูง ความต้องการของอินเดียลดลง 148.3 ตันจากปี 2015 นับเป็นการลดลงต่อปีมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกข้อมูลเอาไว้

สถานการณ์ในอินเดียช่วงปี 2016 สร้างความท้าทายอย่างยิ่งในการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องในแง่ความต้องการทองคำ ในไตรมาสที่หนึ่ง การประท้วงหยุดงานของผู้ขายเครื่องประดับทั่วประเทศส่งผลให้อุตสาหกรรมทองคำหยุดทำการ ความยากลำบากยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมรายได้ที่ไม่แจ้งต่อทางการ โดยสถานการณ์ไปถึงจุดวิกฤติในไตรมาสที่สี่เมื่อมีการใช้นโยบายยกเลิกธนบัตรมูลค่าสูง จึงทำให้ความต้องการทองคำบางส่วนย้ายเข้าไปสู่ตลาดสีเทาซึ่งมีข้อมูลไม่ชัดเจน

ความต้องการในช่วงเทศกาลเดือนตุลาคมและราคาที่ลดลงในช่วงเดียวกัน ช่วยผลักดันให้ความต้องการเครื่องประดับทองเพิ่มสูงขึ้น ก่อนที่เกิดภาวะขาดสภาพคล่องในเวลาต่อมา ราคาทองคำที่ลดฮวบลงตรงกับช่วงเทศกาล Dussehra พอดี ช่วยให้ความต้องการทองคำเพิ่มสูงในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม 2016 ราคาที่ลดต่ำลงยังช่วยผลักดันยอดขายในเทศกาล Diwali ซึ่งเป็นโอกาสที่คนนิยมซื้อทองกันอีกด้วย จากนั้นรัฐบาลก็ประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่าสูง (500 รูปี และ 1,000 รูปี) จนก่อให้เกิดความแตกตื่นขึ้น

การประกาศยกเลิกธนบัตรดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 ทำให้ตลาดไม่ทันตั้งตัว ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่วันหลังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ด้วยความพยายามที่จะรีบนำธนบัตรที่ถูกยกเลิกออกมาแลก ผู้บริโภคจึงพากันไปซื้อทอง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาในประเทศขยับสูงกว่าราคาซื้อขายในตลาดโลกทันที สำหรับหลายคน ทองคำกลายเป็นเครื่องมือสะสมความมั่งคั่งที่ไม่ได้เปิดเผยต่อทางการ มีรายงานว่าทองคำที่ซื้อขายกันใน ‘ตลาดสีเทา’ มีราคาสูงถึง 50,000 รูปีต่อ 10 กรัม ขณะที่ราคาในตลาดทั่วไปอยู่ที่ 31,000 รูปีต่อ 10 กรัม ความเร่งรีบนี้ทำให้สินค้าหมดจากคลังของผู้ค้าปลีก ก่อนที่ภาวะขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงจะตามมา


ราคาทองคำในอินเดียยังคงลดต่ำลง
“ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นทันทีหลังการยกเลิกธนบัตรมูลค่าสูง ซึ่งทำให้ราคาทองคำในประเทศเพิ่มสูงกว่า
ราคาทองคำโลก แต่แนวโน้มนี้เกิดขึ้นในระยะสั้นๆ ราคากลับลดต่ำลงเมื่อเกิดภาวะขาดสภาพคล่องตามมา”
ชุมชนในเขตชนบทได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการขาดสภาพคล่องเงินสด แต่ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว รายได้ที่ดีจากฤดูมรสุมน่าจะช่วยขับเคลื่อนความต้องการทองคำต่อไป ความต้องการจากประชากรในชนบทซึ่งใช้เงินสดเป็นหลักลดดิ่งลงหลังเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง และไม่ใช่เฉพาะความต้องการทองคำ ยอดขายยานพาหนะสองล้อในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2016 ก็ลดลงร้อยละ 6 และร้อยละ 22 ตามลำดับเช่นกัน บริษัทผู้ผลิตรถ Mahindra and Mahindra รายงานว่ายอดขายรถแทรกเตอร์ในเดือนพฤศจิกายน 2016 ลดลงร้อยละ 23

แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เมื่อเงินตราที่ถูกยกเลิกกลับมาสู่ระบบการเงินผ่านเงินฝากธนาคารและค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยธนบัตร 500 รูปี และ 2,000 รูปีแบบใหม่ สภาพคล่องก็จะกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันฤดูมรสุมครั้งล่าสุดผ่านไปด้วยดีและรายได้ในภาคชนบทก็สูงตามไปด้วย จึงส่งผลดีต่อความต้องการทองคำ จำนวนการซื้อขายทางดิจิตัลน่าจะเริ่มสูงขึ้นจากการผลักดันของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มความโปร่งใสในตลาดทองคำ ความพยายามนี้อาจส่งผลแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ร้านเครือข่ายเครื่องประดับระดับประเทศทำผลงานได้ดีกว่าร้านอิสระขนาดเล็กในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

ความต้องการเริ่มชะงักในช่วงสองสามสัปดาห์แรกของปี 2017 เนื่องจากคนในแวดวงเครื่องประดับยังคงรอการประกาศงบประมาณของรัฐบาลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2017 เพื่อยืนยันการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้ากลุ่มทองคำและอัตราภาษีสินค้าและบริการ (GST) ซึ่งจะบังคับใช้ในช่วงปีนี้ เมื่อรายละเอียดเหล่านี้ได้รับการยืนยันแล้ว คาดว่าความต้องการที่ค้างอยู่นี้จะมีระดับสูง และน่าจะมีการสั่งสินค้าคงคลังเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของตลาด

จีน

ยอดขายที่น่าผิดหวังในช่วงเทศกาลส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สี่ของปี 2016ลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าราคาทองคำลดต่ำลง แต่ความต้องการเครื่องประดับทองกลับน้อยกว่าตัวเลขประมาณการอยู่มาก ในระหว่างช่วงวันหยุดประจำชาติหรือ ‘สัปดาห์ทองคำ’ ในเดือนตุลาคมของปี เราได้เน้นไปแล้วว่าหนุ่มสาวชาวจีนมักนิยมใช้รายได้ไปกับการซื้อประสบการณ์ เช่น การท่องเที่ยว มากกว่าใช้กับวัตถุสิ่งของรวมถึงเครื่องประดับทอง และแนวโน้มดังกล่าวดูเหมือนจะปรากฏชัดในเดือนตุลาคม 2016 เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อน ขณะที่ยอดขายเครื่องประดับทองกลับลดต่ำลง
 
Chow Tai Fook
 
บรรยากาศกลับมาในเดือนธันวาคม 2016 แต่ความต้องการของผู้บริโภคและการเพิ่มสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการยังคงถูกจำกัดด้วยอุปทานที่ขาดแคลน ในช่วงปลายปี 2016 เมื่อใกล้ถึงเทศกาลตรุษจีน ความต้องการก็ฟื้นกลับมา บรรยากาศโดยรวมดีขึ้นเนื่องจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐช่วยคลี่คลายปัจจัยความไม่แน่นอนออกไปจากตลาด ความสนใจของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นโดยได้แรงกระตุ้นจากราคาที่ต่ำลง รวมถึงผู้ขายคาดว่าความต้องการจะเพิ่มสูงในเทศกาลตรุษจีนช่วงปลายเดือนมกราคม 2017 จึงสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก

ความต้องการที่กระเตื้องขึ้นส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ทว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการ การควบคุมเงินตราอย่างเข้มงวดส่งผลให้มีการจำกัดปริมาณเงินหยวนที่ธนาคารสามารถส่งไปยังต่างประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณทองคำที่ผู้นำเข้าสามารถนำเข้ามาในประเทศ ปริมาณการนำเข้าที่ลดลง ทำให้ปริมาณทองคำในตลาดภายในประเทศลดลงด้วย การที่เครื่องประดับทอง ทองคำแท่ง และเหรียญทองคำ เป็นที่ต้องการมากขึ้นในเวลาเดียวกันส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศถีบตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาซื้อขายทันทีในตลาดโลก โดยบวกเพิ่มจากราคาในตลาดโลกเกือบ 50 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ สถานการณ์ยังคงติดขัดในช่วงสัปดาห์แรกๆ ของปี 2017 ก่อนเทศกาลตรุษจีน และแม้ว่าราคาส่วนต่างที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นการรีไซเคิลในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องเพิ่มสินค้าคงคลังตลอดไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้หลังจากสินค้าออกไปมากในช่วงเดือนธันวาคม 2016

ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ความต้องการที่ฟื้นตัวขึ้นมาบ้างหลังจากราคาลดลงในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 ยังไม่สามารถชดเชยกับความต้องการที่ลดลงจากราคาเฉลี่ยที่สูงขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้นของปี ในบรรดาตลาดขนาดรองลงมาในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวที่ความต้องการเครื่องประดับทองเติบโตในปี 2016 แม้ว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 2 การบริโภคภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถูกหักลบไปบางส่วนจากการที่ความต้องการของนักท่องเที่ยวอ่อนกำลังลง ความต้องการในเวียดนามโดยรวมยังคงที่ในปี 2016 โดยขยับลดลงจาก 15.6 ตันในปี 2015 เหลือ 15.4 ตัน ภาวะเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ บวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมั่นคง ช่วยส่งเสริมความต้องการเครื่องประดับทองซึ่งฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดที่ 10.5 ตันในปี 2012

ตะวันออกกลางและตุรกี

ความต้องการเครื่องประดับทองต่อปีในตุรกีอ่อนแรงลงไปอยู่ที่ 40.0 ตัน เนื่องจากราคาในประเทศที่สูงและการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่ำในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 ผู้บริโภคชาวตุรกีส่วนใหญ่พลาดโอกาสช่วงที่ราคาทองคำลดต่ำลงในเดือนตุลาคม 2016 เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่น่าพอใจไปหักลบกับราคาที่ลดลงในหน่วยเหรียญสหรัฐ สภาพการณ์ที่ท้าทายในภาคเศรษฐกิจและการเมืองยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ดังสะท้อนให้เห็นในความต้องการช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2016 ซึ่งลดลงร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ราคาน้ำมันที่ลดลง บวกกับประเด็นปัญหาที่แตกต่างกันไปในแต่ละตลาด ส่งผลต่อความต้องการในตะวันออกกลาง ความต้องการในภูมิภาคนี้ตลอดปี 2016 ชะลอตัวลงร้อยละ 16 ไปอยู่ที่จุดต่ำสุดที่ 193.1 ตัน แม้ว่ามีการเติบโตในอิหร่าน การที่น้ำมันมีราคาต่ำ ความต้องการของนักท่องเที่ยวอ่อนตัวลง และมีการลดเงินเดือน ส่งผลกระทบต่อความต้องการทองคำในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ซึ่งลดลงไปอยู่ที่จุดต่ำสุดในรอบ 19 ปี ที่ 43.0 ตัน ขณะที่วิกฤติค่าเงินของอียิปต์ทำให้ความต้องการลดลงร้อยละ 33 จนสร้างสถิติต่ำสุดที่ 25.5 ตัน อิหร่านทวนกระแสด้วยการเติบโตร้อยละ 15 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 ช่วยให้ความต้องการตลอดปีเพิ่มขึ้นเป็น 41.0 ตัน อันเป็นผลจากเศรษกิจภายในประเทศกระเตื้องขึ้นจึงช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมธุรกิจ

ประเทศตะวันตก

ปริมาณการซื้อเครื่องประดับทองของสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมายุติลงในปี 2016 โดยความต้องการลดลงร้อยละ 1 มาอยู่ที่ 118.3 ตัน จากการอ่อนตัวในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวสหรัฐมีความลังเลมากขึ้นในแง่ความต้องการเครื่องประดับทองในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 2016 เราพบว่าความต้องการทองคำในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 เพิ่มขึ้นตามปกติ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 69 จากไตรมาสที่สามอันเป็นผลจากการซื้อในช่วงวันหยุดเทศกาล แต่แนวโน้มนี้ก็ถูกรบกวนด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีช่วงเดือนพฤศจิกายน 2016 ซึ่งดึงความสนใจของคนทั้งประเทศและสร้างบรรยากาศความไม่แน่ใจให้ผู้บริโภคจำนวนมาก

ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 และความต้องการตลอดปีที่ผ่านมาในยุโรปมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรมีความต้องการต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งโดยรวมแล้วมีความต้องการคงที่ ในฝรั่งเศสนั้นความต้องการเครื่องประดับในปี 2016 ลดลงร้อยละ 4 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากความกังวัลเรื่องความปลอดภัยและการเมืองภายในประเทศที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ในสหราชอาณาจักรแนวโน้มความต้องการที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2012 มาถึงจุดหยุดชะงัก ความไม่แน่ใจและการคาดการณ์ในแง่ลบหลังการลงประชามติ Brexit ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้ความต้องการเครื่องประดับทองในไตรมาสที่สี่ของปี 2016 ลดลงร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 12.2 ตัน และส่งผลให้ความต้องการตลอดปี 2016 ลดลงร้อยละ 3 มาอยู่ที่ 25.2 ตัน
 

------------------------------------------
ที่มา: “Gold Demand Trends Full Year 2016.” WORLD GOLD COUNCIL. Available from http://www.gold.org/supply-and-demand/gold-demand-trends (February, 2017: pp. 2-5).

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที