GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 25 พ.ค. 2016 05.33 น. บทความนี้มีผู้ชม: 1818 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "อนาคตตลาดทองคำใน CLMV" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


อนาคตตลาดทองคำใน CLMV

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปการถือครองเงินสด ณ วันนี้จะมีมูลค่าลดลง (Devalue) ในอนาคต หรือเรียกได้ว่าเงิน 100 บาทในวันนี้จะมีมูลค่าไม่เท่าเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงดังกล่าว การสะสมทั้งทองคำ และเครื่องประดับทอง นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้สะสมทั่วโลกในการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้อีกด้วย เช่นเดียวกับประชากรในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่แม้ว่าจะยังมีรายได้ต่อหัวไม่สูงนัก แต่ความนิยมในการสะสมทองคำก็ค่อยๆ เกิดขึ้นท่ามกลางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และรายได้ต่อหัวของประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ โดย 10 ปีที่ผ่านมาประชากรลาวมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยในปี 2557 มีรายได้ต่อหัวที่ 1,760 เหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 3% ต่อปี โดยในปี 2557 มีรายได้ต่อหัวที่ 5,500 เหรียญสหรัฐต่อปี

ที่มา: World Bank, 2015

หมายเหตุ: เมียนมาเริ่มมีข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2555

ปัจจัยที่ขับเคลื่อนความต้องการบริโภคทองคำ/เครื่องประดับทอง

การบริโภคทองคำของชาว CLMV กำลังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว กลุ่มประเทศ CLMV นิยมนำเข้าทองคำมากกว่าเครื่องประดับทอง โดยในปี 2558 แต่ละประเทศนำเข้าเครื่องประดับทองไม่ถึง 5% ของมูลค่าการนำเข้าทองคำและเครื่องประดับทองโดยรวม ยกเว้นเพียงเวียดนามที่มีสัดส่วนการนำเข้าเครื่องประดับทองราว 25%

จากการคาดประมาณตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ Economist Intelligence Unit หรือ EIU คาดว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาในช่วงปี 2556-2560 จะขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 7.2% ต่อปี ทำให้ชาวกัมพูชามีรายได้สูงขึ้น และมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าทองคำและเครื่องประดับทองที่เพิ่มขึ้นในปี 2558 โดยกัมพูชานำเข้าทั้งทองคำและเครื่องประดับทองสูงที่สุดในกลุ่ม CLMV โดยนำเข้าทองคำถึง 891 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าเครื่องประดับทองราว 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนลาวนำเข้าเฉพาะทองคำเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 1 เท่าตัว จาก 71 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2557 เพิ่มขึ้นเป็น 163 ล้านเหรียญสหรัฐในปีต่อมา ขณะที่เวียดนามนำเข้าเครื่องประดับทองด้วยมูลค่าราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทค้าเครื่องประดับทองรายสำคัญในเวียดนาม ได้แก่ Saigon Jewelry Company, PhuNhuan Jewelry Joint Stock และ DOJI Gold & Gems Group

ที่มา: Global Trade Atlas, ประมวลผลโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ความเป็นเมืองเพิ่มขึ้น การสะสมทองคำก็จะเพิ่มมากขึ้น โดยการสะสมทองคำของชาว CLMV ยังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง และกลุ่มคนมั่งมี เนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่มาก ผู้สะสมทองคำจึงเป็นกลุ่มคนมั่งมีที่เป็นส่วนน้อยในประเทศ โดยประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งยังมีรายได้ไม่สูงนัก ส่วนกลุ่มที่ร่ำรวยแม้จะมีสัดส่วนน้อย แต่ประชากรกลุ่มนี้ก็มีกำลังซื้อสูงมาก อาทิ นักการเมือง ทหาร      และนักธุรกิจ ดังเช่นกัมพูชาที่มีประชากรราว 15 ล้านคน พลเมืองถึง 75% เป็นคนมีรายได้น้อย ขณะที่มีคนรวยเพียง 5% เท่านั้นแต่กำลังซื้อของผู้มั่งมีที่นี่ไม่ธรรมดา อย่างการซื้อรถ/บ้าน มูลค่ากว่าล้านเหรียญสหรัฐชาวกัมพูชาก็ใช้เงินสดทั้งสิ้น คนกลุ่มนี้จึงนิยมสะสมทั้งทองคำแท่งเพื่อการลงทุนในระยะยาว และสะสมเครื่องประดับทองเพื่อใส่ออกงานสังคม โดยกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนิยมซื้อเครื่องประดับทองจากศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกรุงพนมเปญ เช่น Paragon Cambodia และ Soraya Shopping Center ส่วนผู้มีกำลังซื้อปานกลางนิยมเลือกซื้อจากร้านทองที่แฝงตัวอยู่ในตลาดสด

ทั้งนี้การสะสมทองคำของชาว CLMV แม้ว่ายังกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองและกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่การพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างชนชั้นกลางของแต่ละประเทศกำลังเพิ่มขึ้น จึงทำให้กลุ่มประเทศ CLMV มีแนวโน้มจะบริโภคทองคำมากขึ้น โดยลาวเป็นประเทศที่มีอัตราความเป็นเมืองขยายตัวสูงที่สุดในกลุ่ม CLMV ราว 38% รองลงมา คือ เมียนมา 34% เวียดนาม 33% และกัมพูชา 21% ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราความเป็นเมืองราว 49%

 

(ซ้าย) Soraya Shopping Center ณ กรุงพนมเปญ ที่มา: www.phnompenhinfo.com

(ขวา) ร้านขายทองคำในตลาดสดของกัมพูชา ที่มา: www.cambodiatravel.southeastasiatraveladvice.com

ความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของค่าเงินทำให้ชาว CLMV สะสมทองคำกันมากขึ้น เช่นเดียวกับชาวเวียดนามที่นิยมสะสมทองคำจากความไม่มั่นใจในสกุลเงินด่อง โดยผู้สูงอายุนิยมเครื่องประดับทองสีเหลือง 24 กะรัตแบบครบชุด ส่วนคนรุ่นใหม่นิยมเครื่องประดับทองแบบชิ้นเดียว โดยนิยมสะสมเครื่องประดับทองที่มีค่าความบริสุทธิ์ที่ 99.99% ลวดลายธรรมชาติ เช่น ลายดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ โดยสวมใส่กับชุดประจำชาติในการออกงานสังคม

กระแสการสะสมทองคำไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุอีกต่อไป ปัจจุบันวัยรุ่นชาวลาวที่มีฐานะนิยมสะสมทองรูปพรรณเพื่อใส่ออกงานสังคม เช่น งานแต่งงาน งานบุญต่างๆ โดยนิยมแต่งกายด้วยชุดผ้าไหมที่ตัดตามสมัยนิยม และใส่เครื่องประดับทองแบบครบชุด ประกอบด้วย สร้อยคอ ต่างหู แหวน กำไล หรือประดับด้วยเข็มกลัดทองเพียงชิ้นเดียว โดยมีน้ำหนักของทองคำตั้งแต่ 5 บาทไปจนถึง 30 บาท ซึ่งนิยมซื้อจากร้านคำพูวง (ຮ້ານຄຳພູວົງ) 

  

คุณอลี วงษ์ดารา Net  Idol ชาวลาววัย 24 ปี

โอกาสการค้าทองคำในกลุ่ม CLMV

กลุ่มประเทศ CLMV ต่างนำเข้าทองคำจากไทยเกือบทั้งหมดอยู่แล้ว เช่น กัมพูชานำเข้า 98% ลาวและเมียนมานำเข้า 99% เว้นแต่เวียดนามเท่านั้นที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากฮ่องกง ไทยจึงควรรุกตลาดโดยเน้นการส่งออกทองคำในรูปแบบของเครื่องประดับทองไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ให้มากขึ้น (ไม่รวมเวียดนามที่มีผู้ผลิต/จำหน่ายเครื่องประดับทองที่ครองตลาดอย่างชัดเจนอยู่แล้ว) เพราะยังมีโอกาสเติบโตอีกมากจากปัจจัยบวกต่างๆ เช่น เศรษฐกิจที่ CLMV ที่กำลังขยายตัว ความเป็นเมืองที่กำลังเพิ่มขึ้น และเทรนด์การสะสมครื่องประดับทองของวัยรุ่น ดังนั้นไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากปัจจัยบวกดังกล่าวร่วมกับจุดแข็งที่มี คือ ความประณีตของฝีมือช่าง รวมทั้งการมีรูปแบบวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงรสนิยม รูปแบบ และลวดลายเครื่องประดับทองของผู้บริโภคเพื่อนบ้านได้อย่างไม่ยากนัก อีกทั้งหากผู้ประกอบการไทยต้องการไปขยายธุรกิจ/ฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน ควรหาพันธมิตรท้องถิ่นจะลดความเสี่ยงจากการไปประกอบธุรกิจในต่างแดนได้


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที