GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 29 ก.พ. 2016 04.56 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3839 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "ชมพูภูคา เครื่องเงินเมืองน่าน" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


ชมพูภูคา เครื่องเงินเมืองน่าน

“น่าน” เมืองในม่านหมอกที่โอบล้อมด้วยขุนเขาเมืองนี้เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่โดดเด่นเมืองหนึ่งไม่แพ้ที่ใดในประเทศไทยที่มีประวัติการทำหัตถกรรมเครื่องเงินมาอย่างยาวนาน ผ่านการถ่ายทอดภูมิปัญญาและเทคนิคการผลิตจากรุ่นสู่รุ่น โดยได้ริเริ่มทำเป็นอาชีพตั้งแต่ พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา จากนั้นในปี 2538 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านหัตถกรรมเครื่องประดับเงิน เย็บปัก ประดิษฐ์ และสิ่งทอ ก็ได้รวมตัวกันในนาม “ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่าน” เปลี่ยนจากสินค้าเครื่องเงินพื้นบ้านฝีมือชาวเขากลายมาเป็นสินค้าของฝากให้แก่ผู้ที่มาเยือน

เครื่องเงินชมพูภูคาเป็นงานฝีมือของชาวเขาเผ่าเมี่ยน (เย้า) และม้ง (แม้ว) ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำเครื่องเงินมาตั้งแต่ยุคโบราณ โดยมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ และฝีมืองานช่างที่ปราณีต ทั้งสร้อยคอ กำไล ต่างหู แหวน   ปิ่นปักผม เข็มขัด นอกจากเครื่องประดับแล้วยังมีของใช้ เช่น ขัน โถ กระบวย และพาน เป็นต้น โดยเครื่องเงินดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากจากลูกค้าชาวไทยและต่างชาติจนเรียกได้ว่าหากไปถึงเมืองน่านแล้วจะต้องได้เครื่องเงิน ชมพูภูคาติดมือกลับมาเป็นของฝากอย่างแน่นอน

ความโดดเด่นของเครื่องเงินชมพูภูคา

เครื่องเงินชมพูภูคานั้นมีความงดงามไม่แพ้ที่ใด และโดดเด่นตรงที่ผสมเม็ดเงินในสัดส่วนสูงถึง 96-100 เปอร์เซนต์ ซึ่งมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆ จึงทำให้ได้เครื่องเงินที่ไม่แข็งจนเกินไป นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อด้านความละเอียดของฝีมือช่าง รวมทั้งมีลวดลายเฉพาะตัว โดยลายส่วนใหญ่มีที่มาจากธรรมชาติ เช่น ลายดอกกระถิน ลายเทพพนม ลายพันธุ์ไม้ในป่าหิมพานต์ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับลวดลายของไทลื้อ 

สลุงลายดอกกระถิน

ภาพประกอบจาก www.lannaka.com

พานคุหมากเงิน

ภาพประกอบจาก www.nansilvers.com

สลุง หรือสะหลุง เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึงภาชนะที่มีลักษณะเหมือนขันในภาคกลาง นิยมสลักเป็นลายกลีบบัว ลายเทพพนม ลายดอกกระถิน และลาย 12 นักษัตร เป็นต้น โดยลวดลายบนสลุงนี้เองจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าสลุงใบไหนใช้สำหรับชีวิตประจำวันทั่วไป หรือใช้สำหรับงานเทศกาลงานบุญต่างๆ เช่น หากใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ลวดลายบนสลุงจะเป็นลายดอกฝ้าย ลายดอกทานตะวัน และลายดอกกระถิน เป็นต้น แต่หากเป็นลวดลายเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เช่น ลาย 12 นักษัตร และลายชาดกต่างๆ จะใช้สำหรับงานเทศกาล และงานประเพณี เช่น งานสงฆ์น้ำพระในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือใช้สำหรับใส่น้ำมนต์เพื่อความเป็นศิริมงคล เป็นต้น

พานคุหมากเงิน เป็นภาชนะสำหรับบรรจุหมาก พลู ยาเส้น ที่แม้ว่าปัจจุบันผู้คนจะเลิกบริโภคหมากพลูไปมากแล้ว แต่พานคุหมากเงินก็ยังคงได้รับความนิยมจากนักสะสมเครื่องเงิน โดยลายที่นิยม คือ ลาย 12 ราศี ลายดอกกระถิน ลายกลีบบัว ซึ่งในปัจจุบันก็มีการประยุกต์รูปแบบของภาชนะให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น แต่ก็ยังคงความละเอียดอ่อนของฝีมือช่างอยู่ 


กระเป๋า กำไล และสร้อยคอ (จากซ้ายไปขวา)

ภาพประกอบจาก www.phukhasilvers.com

การันตีคุณภาพด้วยรางวัล OTOP 5 ดาว

ลักษณะโดยทั่วไปของเครื่องเงินแท้เมืองน่านนั้น เนื้อโลหะจะไม่มันวาว และมีเนื้ออ่อนโดยเฉพาะที่ตะขอ อีกทั้งจะมีน้ำหนักมากกว่าสแตนเลส เครื่องเงินจะมีพื้นผิวเรียบและมีความปราณีตเนื่องจากทำด้วยมือ สนนราคาของเครื่องเงินแต่ละชิ้นจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักและความยากง่ายของลวดลายเป็นสำคัญ โดยข้อควรระวังในการใช้เครื่องเงิน คือ ไม่ควรนำไปใส่ของร้อนอย่างแกงหรือของเค็มอย่างน้ำพริก เพราะจะทำให้สีของเนื้อเงินเปลี่ยนแปลงไปต้องนำไปขัดใหม่จึงจะได้เครื่องเงินที่สวยดังเดิม

จากเครื่องเงินฝีมือช่างชาวเขา ปัจจุบันเครื่องเงินชมพูภูคาได้รับรางวัลโอทอป 5 ดาวมารับรองคุณภาพ และกลายเป็นสินค้าเด่นของจังหวัดน่าน ทำให้มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ปัจจุบันศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคาและหัตถกรรมเมืองน่านก็เป็นทั้งแหล่งผลิต รับซื้อ รับฝากขายสินค้า และเป็นศูนย์ให้ความรู้ ฝึกอาชีพให้กับคนในชุมชนกว่า 200 ครอบครัว และมีสมาชิกที่รับงานจากทางศูนย์ไปผลิตราว 50 ครอบครัว ทำให้เป็นทั้งการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมหัตถกรรมเครื่องเงินให้อยู่คู่เมืองน่านสืบไป


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที