GIT Information Center

ผู้เขียน : GIT Information Center

อัพเดท: 02 ก.พ. 2016 10.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 3384 ครั้ง

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับขอนำเสนอบทความเรื่อง "พิชิตตลาด...ผงาดเหนือคู่แข่ง...อัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 59" สนใจบทความอื่นๆ อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.git.or.th/Gem สอบถาม พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ https://www.facebook.com/GITInfoCenter


พิชิตตลาด...ผงาดเหนือคู่แข่ง...อัญมณีและเครื่องประดับไทยปี 59

เศรษฐกิจโลกปี 59...หนทางที่ยังต้องฟันฝ่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 2559 น่าจะยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยเฉพาะจีนประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้ จึงเกรงว่าจะฉุดให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งพึ่งพาการค้ากับจีน และประเทศที่พึ่งพาการค้าสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันที่มีราคาลดต่ำลงอย่างมาก อาทิ รัสเซีย บราซิล กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ไม่เว้นแม้แต่ประเทศในอาเซียนอย่างเช่นสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยเองก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย ถึงแม้ว่าประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดอย่างสหรัฐอเมริกาจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังคงเป็นการเติบโตที่ไม่ชัดเจนในระยะยาว

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 เหลือร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 3.3 ที่คาดไว้เดิม พร้อมระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศรายได้สูง เสถียรภาพของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และจีนต้องสามารถเปลี่ยนผ่านไปพึ่งพิงการเติบโตจากการบริโภคภายในประเทศและธุรกิจภาคบริการได้สำเร็จ

ขณะที่ทางฝั่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจสร้างความเปราะบางแก่เศรษฐกิจทั่วโลก อีกทั้งปัจจุบันการขยายตัวของการค้าทั่วโลกชะลอตัวลงอย่างมาก ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกหลายๆ ประเทศยังมีระบบการเงินที่อ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบดังกล่าวอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2559 มีความผันผวนสูง

ฉะนั้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางในขณะนี้ น่าจะส่งผลให้กำลังซื้อในหลายตลาดถดถอยลง ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่ออุปสงค์การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับไม่มากก็น้อย จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวให้พร้อมเผชิญหน้าและฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านี้ไปให้ได้

รักษาฐานตลาดเดิม เติมคู่ค้าส่วนตลาดใหม่  ตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2559 คงหนีไม่พ้นตลาดส่งออกหลักรายเดิมทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่คาดว่าความต้องการซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีทิศทางที่สดใสขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัว ดังนั้น การรักษาฐานตลาดลูกค้าเดิม และแสวงหาช่องทางเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ ในตลาดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง 

 

สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาเพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นให้การใช้จ่ายภายในประเทศของชาวอเมริกันกระเตื้องขึ้นมากตั้งแต่ช่วงเทศกาลปลายปีที่ผ่านมา จึงมีแนวโน้มที่อุปสงค์การบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ด้วย โดยธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.7 ในปี 2559 และร้อยละ 2.4 ในปี 2560

สหรัฐฯ เป็นตลาดผู้บริโภคเครื่องประดับเงินรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาการบริโภคเครื่องประดับทองในตลาดแห่งนี้ปรับตัวดีขึ้นมาโดยตลอด เนื่องจากชาวอเมริกันได้หันมาเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่มีระดับราคาลดลงตามราคาวัตถุดิบทองคำในตลาดโลกกันมากขึ้น จะเห็นได้จากมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับทองไปยังสหรัฐฯ ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2558 เติบโตเกือบร้อยละ 5 มีมูลค่า 5,246.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเครื่องประดับเงินขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 มีมูลค่า 1,977.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ส่งออกเครื่องประดับทองของไทยที่จะต้องรีบเร่งรุกตลาดในยามที่ราคาวัตถุดิบทองคำปรับตัวลงมากในช่วงนี้ 

เครื่องประดับสไตล์ minimalist แบรนด์
bandhu จากยุโรป

สหภาพยุโรป เศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากแต่การฟื้นตัวค่อนข้างเปราะบางและยังต้องเผชิญกับภาวะเงินฝืดต่อไป โดยธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ทั้งในปี 2559 และ 2560 ซึ่งในภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้นน่าจะทำให้มีแรงซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับกลับมาเพิ่มขึ้น จากความนิยมของผู้บริโภคหลายประเทศในสหภาพยุโรปที่มักซื้อเครื่องประดับเงินหรือเครื่องประดับทองที่มีปริมาณกะรัตต่ำ มีดีไซน์เรียบง่ายในสไตล์น้อยคือมาก หรือที่เรียกว่า มินิมัลลิสม์ (Minimalist Jewelry) และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพในสนนราคาไม่สูงนัก

ตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีศักยภาพมากที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรปและเป็นคู่ค้าหลักของไทยก็คือ เยอรมนี ซึ่งนอกจากจะเป็นประเทศผู้บริโภครายสำคัญแล้ว ยังเป็นฐานกระจายสินค้าต่อไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะยุโรปตะวันออกอีกด้วย ปัจจุบันช่องทางการค้าออนไลน์กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในเยอรมนีซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศนิยมใช้บริการสั่งซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผู้ซื้อจะคำนึงถึงความปลอดภัยในการซื้อขายมากกว่าราคาสินค้า ทั้งนี้ ในระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2558 เยอรมนีนำเข้าเครื่องประดับจากไทยด้วยมูลค่า 496.51 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มจากจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าร้อยละ 7.46   

เครื่องประดับแบรนด์ Trecenti จากญี่ปุ่น

ญี่ปุ่น เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัวดีขึ้นราวร้อยละ 0.8 ในปี 2558 จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จนทำให้ค่าเงินเยนลดลง และธุรกิจการท่องเที่ยวก็เติบโตอย่างมาก หากแต่จากอุปสงค์ในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้จ่ายของผู้บริโภคกอรปกับการส่งออกนั้นยังอ่อนแรง ธนาคารโลกจึงได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ที่ราวร้อยละ 1.3 ในปี 2559 และร้อยละ 0.9 ในปี 2560

แม้ในช่วงที่ผ่านมาชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่ก็ตาม หากแต่ผู้บริโภคในระดับกลางถึงบนก็ยังคงนิยมซื้อเครื่องประดับทองหรือเครื่องประดับเพชรเพื่อสะสมเป็นทรัพย์สิน ขณะที่สาวๆ ญี่ปุ่นมักชอบซื้อเครื่องประดับทองขนาดเล็กรูปแบบน่ารักเก๋ไก๋ไว้ครอบครอง และเนื่องด้วยปัจจุบันญี่ปุ่นได้ก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้วด้วยสัดส่วนประชากรสูงวัยราวร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสนใจลูกค้ากลุ่มนี้เป็นพิเศษ คนเหล่านี้มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี อีกทั้งยังมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง (ใช้จ่ายเงินปีละกว่า 150,000 ล้านบาทไปกับสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ) เครื่องประดับที่จะครองใจกลุ่มลูกค้าสูงวัยจะต้อง
สวมใส่ง่าย คุณภาพดี รวมถึงเน้นงานดีไซน์ ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสมและคุ้มค่า

ส่งออกทองคำแท่งโตไวในอาเซียน เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคเออีซี ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดอาเซียน เนื่องด้วยหลายประเทศสมาชิกกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น อาทิ กลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) ที่ธนาคารโลกระบุว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.1 ในปี 2559 และ 2560 ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 5 และฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 6 เป็นต้น

แม้ว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปยังอาเซียนในปัจจุบันจะยังมีมูลค่าต่ำมากเมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิม หากแต่หลายปีมานี้กลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งออกทองคำแท่ง ซึ่งผู้ประกอบการทองของไทยได้รุกเปิดตลาดสำเร็จ จนปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนถึงกว่าร้อยละ 40 ของยอดส่งออกทองคำทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวในอนาคตอันใกล้ โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปจำหน่ายยังกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประชากรในประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นตามลำดับ และมักนิยมเก็บออมเงินในรูปของทองคำแท่งเพื่อสะสมความมั่งคั่งมากกว่าการฝากธนาคาร ขณะที่สินค้าขั้นกลาง/กึ่งวัตถุดิบอย่างเพชรพลอยเจียระไนก็ยังมีแนวโน้มส่งออกไปยังอินโดนีเซีย เวียดนาม ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับแห่งใหม่ได้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปทั้งเครื่องประดับแท้เทียมซึ่งเป็นสินค้าหลักส่งออกไปยังสิงคโปร์และมาเลเซีย 

 รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

กลยุทธ์เพิ่มยอดขาย ขยายโอกาสส่งออก จากมุมมองของ รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ กูรูทางด้านการตลาดจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2559 ว่าเป็นช่วงจังหวะที่ผู้ประกอบการควรหันกลับมาพิจารณาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานธุรกิจของตนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตและการออกแบบสินค้าใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า อีกทั้งยังควรเน้นการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจงหรือ Niche Market กันมากขึ้น โดยกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าเป็นคนกลุ่มใด และในลูกค้ากลุ่มนี้อาจสร้างการเติบโตแก่ยอดขายได้จากกลยุทธ์การขายเพิ่ม (Up Sell) โดยหาช่องทางในการขายสินค้าให้แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น การขายข้าม (Cross Sell) คือมองหาวิธีในการนำเสนอสินค้ารูปแบบอื่นๆ ให้แก่ลูกค้ากลุ่มเดิมเพื่อเพิ่มยอดขาย รวมถึงการขายขยายที่เป็นการเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยอาศัยความเชื่อมโยงจากกลุ่มลูกค้าเดิมให้ช่วยบอกต่อไปยังคนรู้จักอื่นๆ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ประกอบการในแต่ละห่วงโซ่ธุรกิจเพื่อรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกันก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรหาโอกาสต่อยอดไปสู่การสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อสร้างการรับรู้และการจดจำในคุณค่าของสินค้า ทำการตลาดเชิงรุกที่เน้นการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าด้วย Digital Marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่มาแรงในปี 2559 ที่หลากหลายแบรนด์สินค้าให้ความสำคัญมากขึ้น ด้วยการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำแต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วโลกได้หลากหลายกลุ่มอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าโดยตรงเพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงรูปแบบสินค้าให้ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในแต่ละตลาดได้อีกทางหนึ่งด้วย 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที