สุวรรณี

ผู้เขียน : สุวรรณี

อัพเดท: 25 ส.ค. 2014 16.47 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4715 ครั้ง

จุดอ่อน 3 ประการของโลจิสติกส์ไทยกับการเปิดเออีซี (AEC)


จุดอ่อน 3 ประการของโลจิสติกส์ไทยกับการเปิดเออีซี

จุดอ่อนของโลจิสติกส์ไทยต่อการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเออีซี
 

1. การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์...ต้องพัฒนาคนก่อน ปัจจุบันพบว่ามีสถาบันการศึกษาของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการเรียนการสอนสาขาการจัดการโลจิสติกส์ในสาขาต่างๆ อย่างแพร่หลายทั้งในระดับ ปวส. ระดับปริญญาทั้งตรี โท และเอก แต่ในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน การศึกษาทั้งอาจารย์ เนื้อหาหลักสูตร และความพร้อมของนักศึกษาคงต้องมีการปรับปรุงอีกมาก

นอกจากนี้การยกวิทยฐานะของผู้ที่จบการศึกษาและการกําหนดคุณวุฒิวิชาของบุคลากรซึ่งทํางานที่เกี่ยวข้องกับ โลจิสติกส์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควรในฐานะสาขาอาชีพ อีกทั้งสถาบันการศึกษาแทบไม่มีหลักสูตรการบริหารจัดการโลจิสติกส์ข้ามแดน ซึ่งจะต้องศึกษาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และกฎหมายของแต่ละประเทศ รวมถึงจะต้องให้มีหลักสูตรภาคบังคับการฝึกงานในสถานประกอบการ หลักสูตรเกี่ยวข้องกับการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศ กฎหมายศุลกากร และอื่นๆ ซึ่งช่องว่างเหล่านี้เป็นจุดบกพร่องที่ควรรีบแก้ไข
 
2. ความพร้อมด้านอํานวยสะดวกทางการค้า – ขนส่ง ที่เกี่ยวกับกฎหมาย ข้อบังคับ ความสอดคล้อง และมาตรฐานเพื่อให้สินค้า-บริการ รวมทั้ง ข้อมูลข่าวสารสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้าข้าม พรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน  รวมถึงเร่งเจรจาในการจัดทําข้อตกลงในการกําหนดเส้นทางขนส่งผ่านแดนเพื่อการเข้าไปในประเทศสมาชิก หรือที่เรียกว่า Truck Route และข้อตกลงเกี่ยวกับการประกันภัยและความรับผิดชอบทั้งสินค้าและบุคคลที่สาม ทุกเส้นทางที่เข้าในประเทศเพื่อนบ้านยังไม่สามารถประกันภัยสินค้า ขณะที่ประเทศพม่าปัจจุบันยังไม่มีบริษัทรับประกันภัยทุกประเภท
 
3. ภาคบริการโลจิสติกส์ยังอ่อนแอ  ขาดทั้งกฎหมายในการกํากับดูแล และขาดหน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน ขณะที่ภาคธุรกิจเองซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ขาดความเป็นมืออาชีพในระดับสากล การดําเนินธุรกิจไม่ครบวงจร ขาดทั้งเครื่องมือ เทคโนโลยี นวัตกรรม รวมทั้งขาดความน่าเชื่อถือ ขาดการรวมตัวในลักษณะองค์กร ส่งผลต่อศักยภาพในการให้บริการ โอกาสที่จะถูกแย่งพื้นที่ตลาดมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง และมีข้อจํากัดในด้านการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปในประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคบริการโลจิสติกส์เป็นภาคที่อ่อนแอที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาดูแลอย่างเร่งด่วน
 
อย่างไรก็ดี กุญแจแห่งความสําเร็จของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อยู่ที่การเชื่อมโยงกับโซ่อุปทานภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี รวมทั้งท้องถิ่นจะต้องสามารถเข้าถึงโอกาสภายใต้การเปิดตลาด การค้า-บริการ และการลงทุน โดยจะต้องมีการพัฒนาจังหวัดที่มีชายแดนด้วยการยกระดับชายแดนให้เป็นนครชายแดนหรือ“BORDER CITIES”  ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงประตูทางผ่าน (Gateway) ของสินค้าเท่านั้น มีการผลักดันให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนหรือนิคมอุตสาหกรรมชายแดน รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าข้ามแดนและศูนย์รวบรวมตู้สินค้า (ICD)  ซึ่งนอกเหนือจากการสนับสนุนความคล่องตัวของการเคลื่อนย้ายการค้า – บริการ – การลงทุนข้ามพรมแดนระหว่างประเทศแล้ว ยังเอื้อต่อการกระจายรายได้ให้กับจังหวัดที่ติดกับชายแดนอีกด้วย 
 
ที่มา: ข้อมูลบางส่วนจากบทความ “แนวทางการพัฒนาและเตรียมพร้อมเพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเออีซี” โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ ประธานบริษัทในเครือ วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย www.tanitsorat.com
 อ่านบทความเต็มได้ที่ http://bit.ly/1koDn5u

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที