ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 13 มี.ค. 2007 14.31 น. บทความนี้มีผู้ชม: 922249 ครั้ง

สร้างเสริมการเรียนรู้ โดย นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 1


เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

             นักศึกษา  นายพงศ์ภมร    ปักเข็ม

เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

           หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสรับสั่งแนะแนวทางการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง นับเนื่องมาจนถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 1 ขวบปีพอดี วิกฤตการณ์เศรษฐกิจของประเทศก็ยังคงอยู่ สมควรที่พวกเราได้ทบทวนพระราชกระแสกันอีกสักครั้ง เพื่อให้พวกเราได้ “ใจดี สู้เสือ” กันต่อไป เพื่อนำให้ตัวเราและชาติบ้านเมืองได้ผ่านมรสุมร้ายที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ด้วยสติที่มั่นคง ปัญญาที่เฉียบแหลม และด้วยความรู้ ความเข้าใจ อย่างลึกซึ้ง เพื่อปรับวิถีชีวิตของพวกเราชาวไทยให้ยึดมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างและยึดมั่นวิถีชีวิตไทย อันนำมาสู่พวกเราชาวไทยทุกหมู่เหล่าต่อไปชั่วกาลนาน

ความหมาย : เศรษฐกิจพอเพียง หรือ ระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเองได้

- เศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความสามารถของชุมชนเมือง รัฐ ประเทศ หรือภูมิภาคหนึ่ง ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการทุกชนิดเพื่อเลี้ยงสังคมนั้น ๆ   ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต่างๆ ที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ
- เศรษฐกิจพอเพียงในระดับบุคคลนั้น คือ ความสามารถในการดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างประมาณตน ตามฐานะ ตามอัตภาพ   และที่สำคัญไม่หลงใหลไปตามกระแสของวัตถุนิยม มีอิสรภาพ เสรีภาพ ไม่พันธนาการอยู่กับสิ่งใด
- หากกล่าวโดยสรุป คือ หันกลับมายึดเส้นทางสายกลาง ในการดำรง

หลักการพึ่งตนเอง อาจจะแยกแยะโดยยึดหลักสำคัญอยู่ 5 ประการ คือ

1.        ด้านจิตใจ ทำตนให้เป็นที่พึ่งตนเอง มีจิตสำนึกที่ดี สร้างสรรให้ตนเองและชาติโดยรวม มีจิตใจเอื้ออาทร ประณีประนอม เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

2.        ด้านสังคม แต่ละชุมชนต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแรง เป็นอิสระ

3.        ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ใช้และจัดการอย่างฉลาด พร้อมทั้งหาทางเพิ่มมูลค่า โดยให้ยึดอยู่บนหลักการของความยั่งยืน

4.        ด้านเทคโนโลยี จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่มีทั้งดีและไม่ดี ต้องแยกแยะบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้านและเลือกใช้เฉพาะที่สอดคล้องกับความต้องการ และสภาพแวดล้อม และควรพัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาของเราเอง

5.        ด้านเศรษฐกิจ แต่เดิมนักพัฒนามักมุ่งที่การเพิ่มรายได้ และไม่มีการมุ่งที่การลดรายจ่าย ในเวลาเช่นนี้จะต้องปรับทิศทางใหม่ คือ จะต้องมุ่งลดรายจ่ายก่อน เป็นสำคัญ และยึดหลักพออยู่ พอกิน พอใช้

ได้มีพระราชกระแสด้วยว่า “...หากพวกเราร่วมมือร่วมใจกันทำสัก 1/4 ประเทศชาติของเราก็สามารถรอดพ้นจากวิกฤติได้...”

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่ผ่านมา ได้พระราชทานพระราชดำรัสเพิ่มเติมในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

“...คำว่าพอเพียงมีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอใช้สำหรับใช้ของตัวเอง มีความหมายว่าพอมีพอกิน...พอมีพอกินนี้ ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง...”

“...ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ก็ทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำสมควรที่จะปฏิบัติ...”

“...Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง...”

“...คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข...”

ปัญหาที่ถาโถมสู่ไทยอย่างรวดเร็ว

1.        ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเกิดภาวะผันผวนอย่างรุนแรง ทำให้การลงทุนสะดุดหยุดชะงัก เกิดภาวะว่างงานขึ้นทั่วประเทศอย่างรุนแรงแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน มีจำนวนเป็นแสนเป็นล้านคน

2.        แผนพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมา มุ่งเน้นความเจริญทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เป็นหลักสำคัญ จึงทุ่มเทขยายการผลิตไปในด้านอุตสาหกรรมมากกว่าด้านเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการผลิตที่เน้นวัฒนธรรมประจำชาติมาแต่ครั้งอดีต

3.        ไทยตกอยู่ภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์ (Globalization) ทำให้คนไทยหลงกระแส เกิดความเชื่อว่า ของสากล หรือของฝรั่งเป็นของดี จนหลงลืมพื้นฐาน ทุนสังคม สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตไทยของตนเอง มุ่งเข้าเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ตลอดจนเปิดเสรีตามแฟชั่น โดยเฉพาะด้านการเงินการคลัง โดยปราศจากความพร้อมใด ๆ ไม่ว่าด้านบริหาร ด้านกฎหมาย ฯลฯ และปราศจากความเข้าใจในสาระที่เป็นหลักสำคัญของเรื่องต่างๆ ในสังคม เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดสภาวะ “หลง-โลภ-โง่-โกง-กัด” เกิดขึ้นในสังคม และครอบงำชีวิตประจำวันของคนไทย

4.        ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รุนแรงและรวดเร็วเกินกว่าที่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจะตั้งรับได้ทัน และมิได้มีแผนรองรับการล้มระเนระนาดทางเศรษฐกิจ ในลักษณะเช่นนี้มาก่อน

5.        ทิศทางของการดำรงชีพอยู่อย่างประคองตัว เพื่อลุกขึ้นยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง ด้วยวิธีการแบบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า “เศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง” (Relative Self-Sufficient Economy) จึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่ประชาชนคนไทยทั้งมวลควรน้อมเกล้า ฯ ไว้ปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้รอดพ้นจากภัยหายนะทางเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างปลอดภัย

6.        เมื่อค้นพบการดำรงชีพ “เศรษฐกิจแบบพอเพียง” แล้วควรมุ่งสู่มาตรฐาน “พออยู่ พอกิน” ตามพระราชดำริด้วยจึงจะพัฒนาและพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

การปฏิบัติตนตามแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

     1. ยึดความประหยัด ตัดทอนค่าใช้จ่ายในทุกด้าน ลดละความฟุ่มเฟือยในการดำรงชีพอย่างจริงจัง ดังพระราชดำรัสว่า
“...ความเป็นอยู่ที่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง...”

     2. ยึดถือการประกอบอาชีพด้วยความถูกต้อง สุจริต แม้จะตกอยู่ในภาวะขาดแคลนในการดำรงชีพก็ตาม ดังพระราชดำรัสที่ว่า
“...ความเจริญของคนทั้งหลาย ย่อมเกิดมาจากการประพฤติชอบและการหาเลี้ยงชีพ ชอบเป็นหลักสำคัญ...”

     3. ละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และแข่งขันกันในทางการค้าขายประกอบอาชีพแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรงดังอดีต ซึ่งมีพระราชดำรัสเรื่องนี้ว่า
“...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนา และการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น...”

     4. ไม่หยุดนิ่งที่จะหาทางให้ชีวิตหลุดพ้นจากความทุกข์ยากครั้งนี้ โดยต้องขวนขวายใฝ่หาความรู้ให้เกิดมีรายได้เพิ่มพูนขึ้นจนถึงขั้นพอเพียงเป็นเป้าหมายสำคัญ พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ให้ความชัดเจนว่า
“...การที่ต้องการให้ทุกคนพยายามที่จะหาความรู้ และสร้างตนเองให้มั่นคงนี้เพื่อตนเอง เพื่อที่จะให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ที่ก้าวหน้า ที่มีความสุข พอมีพอกิน เป็นขั้นหนึ่งและขั้นต่อไป ก็คือให้มีเกียรติว่ายืนได้ด้วยตนเอง...”

     5. ปฏิบัติตนในแนวทางที่ดีลดละสิ่งชั่วให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้ด้วยสังคมไทยที่ล่มสลายลงในครั้งนี้ เพราะยังมีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่ดำเนินการโดยปราศจากละอายต่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราโชวาท ว่า “...พยายามไม่ก่อความชั่วให้เป็นเครื่องทำลายตัว ทำลายผู้อื่น พยายามลดพยายามละความชั่วที่ตัวเองมีอยู่ พยายามก่อความดีให้แก่ตัวอยู่เสมอ พยายามรักษาและเพิ่มพูนความดีที่มีอยู่นั้น ให้งอกงามสมบูรณ์ขึ้น...”

แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพออยู่พอกินจะช่วยแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจ และปัญหาทางสังคมของไทยในขณะนี้ได้อย่างไร

ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมในขณะนี้ คือ จะต้องช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในภาคเกษตรและที่กลับคืนสู่ภาคเกษตรมีงานทำ มีรายได้ ในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้างรากฐานของชนบทให้แข็งแรงเพียงพอที่จะสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว

แนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงสำหรับเกษตรกร ตามแนวพระราชดำริ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ทฤษฎีใหม่”        3 ขั้น คือ

นัยสำคัญของแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ประการ ได้แก่

       ประการแรก เป็นระบบเศรษฐกิจที่ยึดถือหลักการที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรกเมื่อเหลือพอจากการบริโภคแล้ว
จึงคำนึงถึงการผลิตเพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา ผลผลิตส่วนเกินที่ออกสู่ตลาดก็จะเป็นกำไรของเกษตรกร ในสภาพการณ์เช่นนี้เกษตรกรจะกลายสถานะเป็นผู้กำหนดหรือเป็นผู้กระทำต่อตลาด แทนที่ว่าตลาดจะเป็นตัวกระทำหรือเป็นตัวกำหนด
เกษตรกรดังเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และหลักใหญ่สำคัญยิ่ง คือ การลดค่าใช้จ่าย โดยการสร้างสิ่งอุปโภคบริโภคในที่ดินของตนเอง  เช่น ข้าว น้ำ ปลา ไก่ ไม้ผล พืชผัก ฯลฯ

      ประการที่สอง เศรษฐกิจแบบพอเพียงให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรชาวบ้านจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้หลากหลาย ครอบคลุมทั้งการเกษตรแบบผสมผสาน
หัตถกรรมการแปรรูปอาหาร การทำธุรกิจค้าขาย และการท่องเที่ยวระดับชุมชน ฯลฯ เมื่อองค์กรชาวบ้านเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง และมีเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นแล้วเกษตรกรทั้งหมดในชุมชนก็จะได้รับการดูแลให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับการแก้ไขปัญหาในทุก ๆ ด้าน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศก็จะสามารถเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวไปพร้อม ๆ กับสภาวการณ์ด้านการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น

      ประการที่สาม เศรษฐกิจแบบพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีความเมตตา ความเอื้ออาทร และความสามัคคีของสมาชิกในชุมชนในการร่วมแรงร่วมใจเพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ให้บรรลุผลสำเร็จ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจึงมิได้หมายถึง  รายได้แต่เพียงมิติเดียว หากแต่ยังรวมถึงประโยชน์ในมิติอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ การสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันครอบครัว สถาบันชุมชน ความสามารถในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของชุมชนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป

      กล่าวโดยสรุป คือ แนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่มีสาระสำคัญดังกล่าวข้างต้นนั้น น่าจะนำมาใช้เป็นแบบอย่างของการพัฒนาประเทศไทยในระยะต่อไป แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แต่ผลกระทบต่าง ๆ จะไม่รุนแรงมากนักถ้าหากทุกภาคส่วนของสังคมมีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดีกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐาน
ของการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อคนอื่น ๆ ในสังคมเป็นประการสำคัญ ถึงแม้ว่าข้อคิดทั้งหมดจะมุ่งเน้นไปสู่กลุ่มเกษตรกร หรือผู้มีที่ดินทั้งหลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องกลับไปสู่ภาคเกษตรหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในสภาพความเป็นจริง สำหรับคนอยู่นอกภาคการเกษตรนั้น เศรษฐกิจพอเพียงก็จะต้องถูกนำมาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญา เป็นแนวปฏิบัติตน ไม่ว่าจะอยู่ในกิจกรรม อาชีพใด ก็ต้องยึดวิถีชีวิตไทย อยู่แต่พอดี อย่าฟุ่มเฟือยอย่างไร้ประโยชน์ อย่ายึดวัตถุเป็นที่ตั้ง ยึดเส้นทางสายกลาง อยู่กินตามฐานะ ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิต จำเริญเติบโต อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าใช้หลักการลงทุนเชิงการพนัน ซึ่งตั้งอยู่บนความเสี่ยง กู้เงินมาลงทุนโดยหวังรวยอย่างรวดเร็ว แล้วก็ไปสู่ความล้มละลายในที่สุด ตั้งอยู่บนหลักของ “รู้รักสามัคคี” ใช้สติปัญญาปกป้องตนเองไม่ให้หลงกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยไม่รู้ถึงเหตุและผลตาม สภาพแวดล้อมของไทย ให้รู้จัก แยกแยะสิ่งดี สิ่งเลว สิ่งที่เป็นประโยชน์ ตามสภาพความเป็นจริงของบ้านเมืองของเราเป็นที่ตั้ง ให้มีความรัก ความเมตตา ที่จะช่วยเหลือสังคมให้รอดพ้นจากภัยพิบัติ และรวมพลังกันด้วยความสามัคคีเป็นหมู่เหล่า ขจัดข้อขัดแย้งไปสู่ความประนีประนอม รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

เศรฐกิจพอเพียง

คือ การดำรงชีวิตในความพอดี มีชีวิตใหม่

คือ หวนกลับมาใช้วิถีชีวิตไทย

จะทำให้ชาติบ้านเมืองและตัวเราหลุดพ้นจากความทุกข์และมีความสุขในที่สุด

 

 

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที