ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 24 ก.พ. 2013 10.06 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4183 ครั้ง

HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


กฎพื้นฐานของการสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบกับการสัมภาษณ์งาน

ภายหลังจากที่ไปทำการสัมภาษณ์งานมาแล้ว เรื่องหนึ่งที่คนทำงานทั้งหลายมักอยากรู้มักได้แก่

แล้วหากบางที  สมมตินะ สมมติว่า คุณสมัครและสัมภาษณ์มาตั้งนานแล้ว  ยังไม่เรียกทำงานสักที หรือ คุณได้ไปสัมภาษณ์งานกับองค์กรอีกแห่งหนึ่งแล้ว เค้าตอบรับคุณกลับมาแล้ว คุณก็คิดจะได้ร่วมงานกับเค้า  หรือหลังจากการสัมภาษณ์ คุณประเมินแล้วว่า สภาพแวดล้อมการทำงาน บรรยากาศในสถานที่ทำงาน สังเกตจากการไปสัมภาษณ์นี่ล่ะ  หรืออะไรต่าง ๆ ก็ตามแต่ที่คุณตัดสินใจแล้วล่ะว่า  ถึงได้งานก็ไม่ไปทำ คุณควรทำอย่างไร ?

โปรดฟังทางนี้ครับพี่น้อง......

ผมมีคำแนะนำ 3 อย่างที่คุณควรจะต้องหลีกเลี่ยงหลังการสัมภาษณ์งานและคุณก็ไม่สนใจจะไปทำงานกับบริษัทที่สัมภาษณ์ไปแล้ว 

1. อย่าทำให้ชาวบ้านเสียเวลา –  ผมไม่ได้หมายถึงชาวบ้านที่เดินตามถนนหรือตลาดหรอกครับ  ในที่นี้ก็คือ  หากคุณจะไม่ทำงานกับเค้าเพราะไม่สนใจแล้วหลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ก็ส่งอีเมล์ไปบอกอย่างสุภาพให้เห็นว่า คุณได้รับการตอบรับจากที่ทำงานที่สมัครมาก่อนหน้าแล้ว ไม่น่าเกลียดอะไรครับ แต่เหตุผลที่ไม่สมควรจะพูดได้แก่ คุณเห็นว่า คุณลักษณะส่วนตัวอาจจะเข้าไม่ได้กับวัฒนธรรมหรือค่านิยมขององค์กรจากที่ได้เห็น หรือเรียกว่า “ไม่ฟิต” กันนั่นเอง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคุณไม่มืออาชีพ ไม่ได้ศึกษาองค์กรของเค้าก่อนหน้านี้ แล้วไม่เสียเวลาสัมภาษณ์แบบที่คุณเองก็ไม่ใช่ เป็นต้น  แต่ไม่ว่าคำตอบที่คุณให้จะเป็นแบบใด  ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย หรือไม่ให้เกียรติกันนะครับ  

2. อย่าได้ตามจี้ติด – คำนี้ภาษาอังกฤษใช้ว่า “don’ t nag for results” ไม่แน่ใจว่าจะสื่อความถูกหรือเปล่า.... ผมหมายความว่า หากสัมภาษณ์ไปแล้วก็อย่ารีบร้อนไปครับ ควรเข้าใจก่อนว่า กระบวนการในการรับสมัครและสัมภาษณ์นั้น ใช้เวลาไม่น้อย อาจจะหนึ่งเดือนหรือสองเดือน ขึ้นอยู่กับความสำคัญของตำแหน่งงาน การนัดหมายผู้สัมภาษณ์ที่มักจะเป็นผู้บริหารขององค์กร และความต้องการเปรียบเทียบคุณสมบัติและคุณลักษณะส่วนอื่นของผู้สมัครงานให้ตรงกับที่องค์กรต้องการมากที่สุด หากคุณจะติดตามสอบถามความคืบหน้าของผลการสัมภาษณ์ หากรอสักสองหรือสามสัปดาห์หลังสัมภาษณ์แล้วคุณไม่ได้ข่าวคราวอะไร  ค่อยตามสอบถามกับ HR คนที่ประสานงานสัมภาษณ์ ก็ไม่น่าเกลียดครับ

3. อย่าปฏิเสธอย่างไม่เป็นทางการ – หรือคุยแค่ทางโทรศัพท์ ผมว่าโดยมารยาทแล้ว เวลาสมัครงานเราก็ส่งเอกสารหลักฐานกันเป็นเรื่องเป็นราว  เวลาจะปฏิเสธโดยมารยาทที่สมควรอย่างที่ผมว่าไปในข้อแรก  การทำแบบนี้  สื่อให้เห็นถึงมารยาทที่ดีครับ  การที่ต้องนำข้อนี้มาเน้นต่างหาก เนื่องจากผมเองในฐานะที่ดูแลงาน recruit พบว่า เวลาสัมภาษณ์เสร็จแล้ว หลังจากที่เราสรุปเรื่องเสร็จ โทรมาฝากเรื่องบอกกับ HR ว่าไม่มาทำงานแล้วนะ  เพราะ...... เป็นแบบนี้  สงสาร HR ที่ต้องมานั่งเริ่มนับหนึ่งใหม่ ส่วนคุณเองนั้น ดีไม่ดี โดน blacklist ว่าเป็นผู้สมัครงานที่ขาดความรับผิดชอบในแวดวง HR แบบนี้ “งานเข้า” เลยนะครับ

สิ่งที่ผมถ่ายทอดประสบการณ์ไปนี้  ท่านทั้งหลายที่ได้ไปสัมภาษณ์งานมาแล้ว น่าจะได้ทดลองนำไปใช้หากมีสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจทำเช่นนี้จริง

 

ชัชวาล  อรวงศ์ศุภทัต

Professional Human Resources-PHR

ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล                                      

บจก.กรุงไทยธุรกิจบริการ

E-Mail : chatchawal.dha@gmail.com

Blog : http://chatchawal-ora.blogspot.com/

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที