TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 12 ก.พ. 2007 11.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58200 ครั้ง

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องพูดต้องคุย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน


นกน้อยจากรัง

ปลายเดือนตุลาคม 1982 คือกำหนดเวลาที่ดิฉันและคณะนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกลับถึงเมืองไทย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทริปแห่งความสนุกสนานเบิกบาน มิตรภาพเบ่งบานทั่วทั้งมหาวิทยาลัยโฮเซและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความสุขและสนุกสนานของดิฉันมีอยู่ไม่ถึงข้ามคืนที่กลับถึงกรุงเทพฯ เพราะในวันนั้นคือวันที่ดิฉันสูญเสียเพื่อนรัก (นายตั้ม : ไพฑูรย์ หงส์ศิรินันท์)ไปด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก และเป็นการสูญเสียที่ดิฉันเสียใจมากจนทุกวันนี้
   
ดิฉันและตั้มสนิทกัน เพราะการร่วมทำงานวิชาโฆษณาของดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งอาจารย์เอาโปรเจ็คต์จริง ๆ มาให้นักศึกษาได้ปฎิบัติ เป็นโปรเจ็คต์ทำโฆษณาเหล้าจีน โดยมีเงินรางวัลเป็นเดิมพัน พวกเราในกลุ่มก็ต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ หมายถึงทดลองใช้ ทีนี้ความเป็นเหล้าจีนก็ต้องทดลองดื่ม จึงจะสามารถทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ได้ถ่องแท้ ก็ได้นายตั้มนี่แหละ ทำหน้าที่เป็นเด็กเดินซื้อเหล้าจีน ที่ท่าพระจันทร์ทุกวัน จนอาแปะเจ้าของร้านสงสัยถามว่า “ ลื้อเป็งเด็กเป็งเล็ก ทำไมกิงเล่าทุกวังวะ นังสือนังหาไม่เลียงลิไง อั๊วจะไม่ให้ลูกเลียงทำมะสากแล้ว เดี๋ยวเป็งอย่างลื้อ ”
 

นายตั้มผู้เรียบร้อยก็ไม่ต่อความยาวสาวความยืด เดินหิ้วถุงเหล้าจีนกลับมาที่กลุ่มทุกวัน แล้วก็นั่งดูพวกเราผู้หญิงซ่า(ส์)ทั้งก๊วนจิบเหล้าเซี่ยงชุน แล้ววิพากษ์วิจารณ์รสชาติ เก็บข้อมูลต่างๆนานา วันไหนกลับค่ำหน่อย นายตั้มก็จะอยู่เป็นเพื่อนเดินไปขึ้นรถเมล์ด้วยกัน เช้ามาก็จะรีบมาหาที่โต๊ะหน้าคณะ พวกเราโดยเฉพาะดิฉันชอบแกล้งใช้ให้ตั้มวิ่งไปเอาของ วิ่งไปโน่นมานี่ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีเจตนาเป็นอื่น แต่เพราะความไม่เดียงสาและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพวกเราเท่านั้น ขนาดปีสี่เทอมหนึ่งนายตั้มตกท่อขาแพลงต้องเข้าเฝือกถือไม้เท้ามามหาวิทยาลัย ดิฉันลืมสมุดเล็คเชอร์ไว้ที่ชั้น 4 และจะรีบไปเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นที่คณะศิลปศาสตร์ ด้วยความมีน้ำใจ ตั้มก็ยังอุตส่าห์ปีนบันไดขึ้นไปเอามาเก็บไว้ให้ แถมตอนดิฉันไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่โตเกียว ก็ใช้งานให้นายตั้มกับนังฮุ้ย เพื่อนซี้อีกคนช่วยเป็นธุระติดต่อเรื่องฝึกงานที่ปตท. ซึ่งตอนนั้นสำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนวิภาวดีสมัยนั้นทุรกันดาร กำลังซ่อมทางมีฝุ่นเยอะมาก ต้องลงรถเมล์ที่เลนกลาง แล้วปีนบันไดลิง (3-4 ขั้น) ซึ่งการทางพิเศษกรุณามาพาดไว้ที่ขอบแบ่งเลน เพื่อให้ผู้สัญจรไปมาข้ามมาที่บาทวิถีด้านใน เพราะถนนทุกเลนขณะนั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด เรียกว่าลำบากลำบนมาก นายตั้มซึ่งขาเข้าเฝือกเดินไม่ถนัด ก็ต้องเป็นธุระจัดการให้ดิฉัน เพราะเรา 3 คน (ดิฉัน ตั้ม ฮุ้ย) จะฝึกงานด้านประชาสัมพันธ์ด้วยกัน แล้วความมีน้ำใจขนาดนี้ พอกลับจากโตเกียว มาถึงยังไม่ทันจะได้พูดคุยอะไรกันเลย ก็มาด่วนจากไปอย่างนี้ ดิฉันทำใจไม่ได้จริงๆ

 
ดิฉันร้องไห้ตลอดในงานศพ และนึกตำหนิตัวเองอยู่ตลอดเวลา ความเศร้าโศกของดิฉัน ทำให้เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันในคณะเอาไปลือกันว่า นายตั้มเป็นเพื่อนใจของดิฉัน จนอาจารย์แม่ของดิฉัน (รศ.อรทัย ศรีสันติสุข) ต้องเรียกดิฉันไปถาม ว่าจริง ๆ คืออะไร ดิฉันก็เลยต้องเรียนอาจารย์ว่า จริง ๆ ก็คือนายตั้มไม่ใช่เพื่อนใจดิฉันหรอก แต่เป็นยิ่งกว่า คือเพื่อนแท้แช่แป้งเลยแหละ ( ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า  คือ เพื่อนสนิทชิดเชื้อนั่นเอง )
 

ดิฉันไปฝึกงานที่ปตท.พร้อมกับคุณนายฮุ้ย เพื่อนซี้อีกคนที่เหลืออยู่ ซึ่งตอนนั้นสำนักประชาสัมพันธ์ของปตท.มีผอ.พยอม ลิมปโพยม ดูแลอยู่ ดิฉันมีพี่เลี้ยงสองคนคือ พี่อี๊ด-อัจฉรา กรรณสูต คู่ชีวิตเจ้าพ่อช่อง7สี คุณชาติเชื้อ กรรณสูต ขณะนั้นเป็นเลขานุการของผอ.พยอม และพี่ปุ๊ก- บุษบง ทาบทอง ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่คณะวารสารฯ การฝึกงานเป็นไปอย่างสนุกสนาน แต่กว่าจะสนุกสนานได้ก็เล่นเอาพวกดิฉันย่ำแย่เหมือนกัน เพราะเข้าไปฝึกงานแรกๆพี่ๆไม่ยอมให้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันเลย มีแต่ถ่ายเอกสาร เรียงเอกสาร จำเจน่าเบื่อมาก จนนังฮุ้ยเพื่อนดิฉันต้องสำแดงเดชเข้าไปคุยกับผอ.พยอม และถึงขนาดควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ทุ่มแฟ้มเสนองานใส่หน้าผอ.เพราะความโมโห แต่ท่านผอ.ก็ดีใจหาย ไม่ถือโกรธอะไร แถมยังอบรมพวกเรา แล้วก็มอบหมายงานสำคัญๆให้ทำ โดยให้พี่อี๊ดและพี่ปุ๊กเป็นผู้ดูแล ช่วงนั้นจำได้ว่ามีกรณีงานหินอยู่เรื่องหนึ่ง คือพนักงานของโรงกลั่นบางจาก ซึ่งตอนนั้นยังไม่แยกจากอ้อมอกปตท. สไตรค์ขอขึ้นค่าแรง ท่านผู้ว่าฯขณะนั้นคือ ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมณ์ ต้องออกไปเคลียร์ และพวกดิฉันได้รับคำสั่งให้ตามไปทำข่าวในสถานการณ์จริง ตื่นเต้นและสนุกมาก

 
ไม่เพียงแต่การฝึกงานที่ปตท.สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯเท่านั้น พวกดิฉันถูกส่งตัวไปฝึกที่สำนักงานย่อยเชียงใหม่ด้วย เป็นการเดินทางไปภาคเหนือเป็นครั้งแรกของดิฉัน รู้สึกตื่นตาตื่นใจพอสมควรและยิ่งไปกว่านั้นก็คือ หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เป็นช่วงการแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา – ธรรมศาสตร์ที่พี่ปุ๊กนัดเพื่อนๆมธ.ไว้ว่าจะไปเชียร์กัน แล้วตอนดึกก็จะไปดิสโก้ฟังเพลงต่อ ดิฉันและฮุ้ยถูกชักชวนให้ไปด้วยกัน แต่นึกรู้ทันทีว่า ถ้าขออนุญาตคุณพ่อ คำตอบที่ได้ก็คือไปเชียร์ฟุตบอลได้ แต่จบแล้วต้องกลับบ้าน ถ้าจะดิสโก้ก็ให้ชวนเพื่อนๆมาที่บ้าน แล้วทำไฟกะพริบปริ๊บๆเหมือนในคลับ และเปิดเพลงที่อยากฟัง ถ้าอยากชักดิ้นชักงอก็เชิญได้ตามสบาย แต่ต้องเป็นที่บ้านเท่านั้น คุณพ่อดิฉันไม่ชอบที่สุดเรื่องการไปเต้นดิสโก้ในคลับ ซึ่งยุคของดิฉันมีหลายแห่งที่ฮิตกันเหลือเกิน แล้วก็เป็น Talk of the town ที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Wadai ni natta พวกเราวัยรุ่นก็อยากลองเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ดิสโก้ด้วย ดิฉันก็เลยจำต้องผิดศีลห้า ข้อ มุสาวาทา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) โดยบอกคุณพ่อว่าจะไปฝึกงานที่เชียงใหม่กับปตท. 4วัน 3 คืน ความจริงแค่ 3 วัน 2 คืน แต่บวกวันที่ไปเชียร์กีฬาและเต้นดิสโก้เข้าไปด้วย แล้วก็ไปค้างที่บ้านพี่ปุ๊กลูกพี่คนงาม รู้สึกมันตื่นเต้นพิกลที่ได้ทำอะไรๆต้องห้ามแบบนี้
 

ดิฉันใช้เวลาฝึกงานอยู่ 3 เดือน โดยก่อนสิ้นสุดการฝึก พวกดิฉันต้องเสนอแผนการปรับปรุงสำนักประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องขอคุยหน่อยว่า แผนปรับปรุงที่พวกเราเสนอไปนั้น ถูกนำเสนอต่อคณะผู้บริหารของปตท.ยุคนั้นและมีการประยุกต์ใช้หลายอย่างทีเดียว นอกจากนั้นที่เป็นผลพลอยได้จากการฝึกงานก็คือ มิตรภาพระหว่างพี่ๆที่ปตท.ยังคงได้รับการสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมาเป็นสิบๆปีแล้วก็ตาม

 

หลังจากการฝึกงานเสร็จสิ้นลง พวกเราเด็กวารสารปี 4 ทั้งหลายก็จะต้องเขียนสารนิพนธ์ส่งอาจารย์ แล้วก็หัวฟูหางาน ตัวดิฉันเองนอกจากจะเขียนสารนิพนธ์แล้ว ยังต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเทอมสุดท้ายด้วย ชีวิตยุ่งชุลมุนจนไม่มีเวลานึกถึงเรื่องหางานเลยแม้แต่น้อยนิด

 
แล้ววันแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของดิฉันก็มาถึง ในวันที่ดิฉันส่งสารนิพนธ์ตอนเย็น (สี่โมงเย็น) ที่ห้องอาจารย์ที่ปรึกษา (รศ.อรทัย ศรีสันติสุข ) อาจารย์ได้เล่าให้ฟังว่า มีข่าวจากฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนแก่ข้าราชการและนักศึกษา มธ. จำนวน 1 ทุน ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคโอ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น โดยไม่มีข้อผูกมัด และอาจารย์อยากให้ดิฉันลองสมัครดู แต่เมื่อโทรไปถามทางฝ่ายวิเทศฯ ก็รู้ว่าทุนจะหมดเขตรับสมัคร ภายในสี่โมงครึ่งวันนั้นเอง ดิฉันเลยต้องวิ่งแจ้นไปกรอกใบสมัคร แล้วส่งเอกสารการศึกษา รวมทั้งแผนการศึกษา ( Study plan ) ตามไปทีหลัง ซึ่งก็ได้รับความเมตตาจากอาจารย์อรทัย ที่โทรไปขอให้ทางฝ่ายวิเทศ ขยายเวลารอเอกสารของดิฉันอีกครึ่งวัน ดิฉันรู้ว่าการสมัครสอบชิงทุนครั้งนี้ความหวังริบหรี่เต็มทน เพราะเพื่อน ๆ คาบข่าวมาบอกว่า มีผู้สมัคร 10 คน จาก 8 คณะ แล้วแถมมีอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชีสมัครด้วย 1 คน ซึ่งโดยปกติ คณะกรรมการก็จะให้ความสำคัญกับอาจารย์ก่อนอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นบุคลากรของมธ. ถ้าเรียนจบกลับมาก็สามารถทำงานพัฒนามหาวิทยาลัยได้ทันที ผิดกับนักศึกษาซึ่งต้องรออัตราและสั่งสมประสบการณ์ ทำให้มหาวิทยาลัยสูญเสียมากกว่า ก็เป็นอันว่างานนี้ดิฉันเตรียมทำใจกินแห้วไว้แล้วเต็มเปี่ยม แต่การตัดสินจากคณะกรรมการที่มธ.ยังไม่ถือเป็นเด็ดขาด ต้องส่งรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกไปที่มหาวิทยาลัยเคโอ เพื่อให้คณะกรรมการที่นั่นคัดเลือกเป็นด่านสุดท้าย
 
หลังจากส่งประวัติ เอกสารการศึกษา และแผนการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย ดิฉันต้องรอเรียกสอบสัมภาษณ์ ซึ่งคณะกรรมการที่เป็นผู้สอบนั้นมาจากคณะต่างๆทั้งแปดคณะ(สมัยนั้น) วันที่ถูกเรียกไปสอบสัมภาษณ์นั้นไม่รู้สึกเครียดหรือตื่นเต้นแต่อย่างใด เพราะประจักษ์แจ้งแก่ใจแล้วว่าปิ๋วแน่ นักศึกษาแท้ๆฤาจะสู้อาจารย์เก่าได้ก็เลยทำตัวสบายๆ ไม่เกร็ง และเมื่อโผล่หน้าเข้าไปในห้องสอบสัมภาษณ์ ดิฉันก็เห็นดร.ลิขิต ธีระเวคิน นั่งยิ้มแป้นเป็นสง่าอยู่แล้วก็มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆอีก 4-5 ท่าน พอดร.ลิขิตเห็นหน้าดิฉันเท่านั้นก็เรียกว่า นี่ไง ! แม่สาวน้อยมหัศจรรย์ แล้วก็พูดประโยคภาษาญี่ปุ่นสไตล์ของอาจารย์ที่ว่า Anata wa Nihonjin no tomodachi desuka : ประโยคเดิม ที่ชอบล้อเลียนดิฉัน และพอดิฉันหย่อนก้นลงที่เก้าอี้ เท่านั้นแหละ อาจารย์ก็บอกคณะกรรมการเลยว่า ดิฉันนี่แหละสาวน้อยมหัศจรรย์ ที่แอบหนีไปเกียวโตโดยลำพัง ตอนไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม กับมหาวิทยาลัยโฮเซ ซึ่งคณะกรรมการก็ให้ความสนใจ ถามเรื่องราวมากมาย เป็นคำถามที่สนุกสนาน ไม่เครียด อีกทั้งไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุนเลยสักเท่าใดนัก จำได้ว่าใช้เวลาอยู่ในห้องสัมภาษณ์นานมาก จนผู้สมัครคนต่อไปซึ่งก็เป็นเพื่อน ๆ กันจากคณะศิลปะศาสตร ์รู้สึกเครียด เพราะเข้าใจว่าจะถูกซักถามอย่างเข้มข้น หลังจากออกจากห้องสัมภาษณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศฯ ก็มาบอกให้รู้ว่า ทางมหาวิทยาลัยเคโอน่า จะแจ้งผลกลับมาอย่างช้าที่สุด เดือนมิถุนายน (หลังจากสอบสัมภาษณ์แล้วสองเดือน) ดิฉันรับฟังอย่างไม่กระตือรือร้นเพราะคิดว่าไม่ได้อยู่แล้ว
 
หลังจากการสอบสัมภาษณ์ชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปแล้ว ดิฉันก็วิ่งชุลมุนอยู่กับการทำหนังสือรุ่นของมหาวิทยาลัย เพราะได้เข้าไปเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรุ่น และยังต้องประสานเรื่องการซ้อมรับปริญญาอีก ไม่มีเวลาคิดเรื่องผลสอบชิงทุนจริงๆจังๆเลย ซึ่งปีนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับปริญญาต้นเดือนสิงหาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาพระราชทานด้วยพระองค์เอง พวกเราตื่นเต้นกันมาก เพราะก่อนหน้านั้นมีข่าวลือว่าทรงพระประชวร อาจไม่เสด็จฯมาพระราชทาน ความตื่นเต้นของดิฉันเพิ่มทวีขึ้น นอกเหนือจากการจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรเกียรตินิยมอันดับ 2 (ฟลุคซะไม่มี) ก็เมื่อท่านอาจารย์อรทัยแจ้งให้ทราบว่าผลสอบชิงทุนประกาศแล้ว และผู้ที่ได้รับทุนคือ ดิฉัน โอ้โฮ ! ความรู้สึกของดิฉัน ณ ขณะนั้นเกินบรรยายจริงๆ (ที่ภาษาญี่ปุ่นบอกว่า Nantomo ienai desu : ) และเป็นครั้งแรกที่ได้รับคำชมจากปากของคุณพ่อ ซึ่งตลอดเวลาท่านไม่เคยพูดชมเชยอะไรเลยแม้แต่น้อย
 

ดิฉันออกเดินทางไปญี่ปุ่นอีกครั้งหลังจากรับพระราชทานปริญญาบัตรแล้วสองเดือน คือประมาณเดือนตุลาคม 1983 และเป็นวันที่ไม่มีวันลืมเลยในชีวิตนี้ เพราะเป็นวันที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร แม้จะไม่ถึงน้ำท่วมฟ้า ปลากินดาวอย่างโบราณว่า แต่ก็ขนาดศาลาพ่อขุนของมหาวิทยาลัยรามคำแหงจมอยู่ในน้ำเลยทีเดียว เพื่อนๆหลายคนที่ลุยน้ำไปส่งถึงกับบอกว่าดิฉันนี่ท่าจะเป็นตัวเสนียดของแผ่นดิน เพราะขนาดฝนตกไล่หนักอย่างนี้ (โปรดสังเกตความปากมอมของเพื่อนๆดิฉัน ขนาดจบมหาวิทยาลัยแล้ว นิสัยยังไม่ดีขึ้นเลย)

 

เมื่อไปถึงสนามบินนาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเคโอ ชื่อคุณชิมิซึมารับ รวมทั้งหนุ่มน้อยซึซึกิ จากมหาวิทยาลัยโฮเซ ที่เคยส่งจดหมายน้อยสารภาพรักคราวที่แล้ว ก็มายืนทำหน้าเขินอาย รออยู่ที่ประตูทางออก ความจริงนายซึซึกินี้มีน้ำใจอย่างมาก เพราะช่วงที่ดิฉันปรับตัวในระยะแรก ๆ ก็ได้ยอดชาย นายคนนี้นี่แหละคอยช่วยเหลือ มาหาเป็นเพื่อน ที่มหาวิทยาลัย ตอนกลางวัน ชวนไปเข้ากลุ่ม ร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโฮเซบ้าง เพื่อให้ดิฉันคุ้นเคย และชินกับระบบการเรียน และการเข้ากลุ่มกับนักศึกษาญี่ปุ่น  ซึ่งก็นับว่าโชคดีสำหรับดิฉัน และจากการเข้ากลุ่มในครั้งนั้น ทำให้ได้เรียนรู้วิธีโยนโบว์ลิ่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมสุดฮิต ของวัยรุ่นญี่ปุ่นขณะนั้น (ใครห้ามมาท้าดวลนะ เพราะเข้าหม้อ คืนกลับกรุโฮเซหมดแล้ว ถ้าโยนอีก คงเป็นตัวดิฉันที่วิ่งผ่านลู่เข้าไปสไตรค์แทนลูกโบว์ลิ่งน่ะ)

 
คุณชิมิซึเป็นชายวัยกลางคน มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่าย ดูแลอำนวยความสะดวก ให้กับนักเรียนต่างชาติ ที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยเคโอ เป็นคนใจดีมาก จะคอยเป็นธุระจัดการ เรื่องหอพัก  เงินเดือน เรื่องการเรียน จิปาถะ สำหรับตัวดิฉันเองนั้น ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ไปพักที่หอพักนักเรียนต่างชาติ ชื่อริกโก้ ไคคัง : Rikkoukaikan : ซึ่งเป็นหอพักของเอกชน ที่ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ที่มีครอบครัว และไปประกอบกิจการในต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่พักของลูกหลานตัวเอง ซึ่งเติบโตอยู่ต่างประเทศ และกลับมาศึกษาที่ญี่ปุ่น โดยมากก็เป็นพวกชาวญี่ปุ่น ที่เติบโตในฮาวาย บราซิล เปรู และประเทศแถบละตินอเมริกา ซึ่งเป็นที่มาของชื่ออาคารต่าง ๆ ภายในหอริกโก้ เป็นต้นว่าอาคารญี่ปุ่นหรือ นิฮงคัง อาคารบราซิล (บราซิลคัง) อาคารฝรั่งเศส(ฟรานส์คัง) เป็นต้น หอริกโก้นี้อยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยเคโอมาก ก่อนหน้าที่ดิฉันจะเดินทางไปนั้นได้ยินว่าเดินทางลำบาก เพราะต้องนั่งรถไฟบนดินจากสถานีเนริมะ ( Nerima station ไปลงที่สถานีอิเคบุคุโร ( Ikebukuro station : ) แล้วก็ต่อสายยามะโนเตะ  ) อีก เพื่อไปลงสถานีทะมาจิ อันเป็นสถานีรถไฟบนดิน ที่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเคโอ รวมเบ็ดเสร็จใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง หลาย ๆ คนที่มาอยู่ก่อนหน้าน ี้บอกว่าทุลักทุเลและเครียดมาก แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เมื่อดิฉันไปถึง ได้มีการเปิดใช้สถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นสายตรง เชื่อมต่อจากมหาวิทยาลัยเคโอ ไปถึงหอพักของดิฉันได้โดยสะดวกง่ายดาย ใช้เวลา 45 นาที (เฮงอีกตามเคย) แล้วแถมความแร้นแค้นของการเดินทางนี้ เป็นผลให้รุ่นพี่ และเพื่อนนักเรียนไทย ที่ไปอยู่หอริกโก้ก่อนหน้าดิฉัน อพยพหนีไปอยู่ในเมืองกันหมด แล้วโละมรดกเครื่องครัว เครื่องนอนไว้ให้ดิฉัน ก็เลยทำให้ดิฉันยิ่งสบายใหญ ่เนื่องจากไม่ต้องขวนขวายหาซื้อ เพราะของญี่ปุ่นแพงเหลือหลาย
 

ที่หอริกโก้นี้  ทางมหาวิทยาลัยเคโอ มอบหมายให้ดิฉันอยู่ในความดูแลของรุ่นพี่คนไทยชื่อ ดร.วาสนา ปานมณี ที่พวกเราเรียกติดปากว่า พี่ต้อย ซึ่งได้ทุนแลกเปลี่ยน ระหว่างมหาวิทยาลัยเคโอ กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ทุนต่างจากที่ดิฉันได้รับ) โดยทุนนี้รู้จักกันในหมู่นักเรียนไทยที่เคโอว่า ทุนลูกเมียน้อย เพราะได้เงินน้อยกว่า และสิทธิต่าง ๆ ก็น้อยกว่า ส่วนทุนของดิฉันนั้น เรียกว่าทุนลูกเมียหลวง เพราะจ่ายโดยรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ก็โถ ! มีบ่อยครั้ง ที่ลูกเมียน้อย ก็มักจะได้อะไรดีกว่าลูกเมียหลวง พี่ต้อยเป็นรุ่นพี่ที่น่ารัก สวย สมาร์ท สูงโปร่ง หน้าคมเข้มแบบแขกขาว และที่สำคัญ ก็คือเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือมาก จะคอยดูแล คอยเตือนพวกเราเรื่องความประพฤติต่าง ๆ ที่สำคัญคือ คอยตรวจเช็คพฤติกรรม แบบไม่ให้รู้ตัว และมีวิธีการเตือนแบบแปลก ๆ เช่น ช่วงที่ดิฉันไปอยู่ใหม่ ๆ เจ็ดวันแรกจะกลับหอดึกมาก เพราะมีเพื่อน ๆ จากมหาวิทยาลัยโฮเซ มาพาไปเที่ยวบ้าง ทานข้าวกันบ้าง พี่ต้อยจะทนไม่ไหว เช้าวันหนึ่งก็รีบมาหาที่ห้องแล้วถามว่า ไฟที่ห้องดิฉันเสีย หรืออย่างไร ถึงเปิดสว่างช้ามากทุกคืน ดิฉันฟังแล้วก็ขำ บอกว่าไม่ใช่ไฟเสียหรอกค่ะ หนูกลับถึงหอดึก พี่ต้อยก็เลยได้ทีอบรมว่า อย่าเที่ยวให้มันดึกดื่นมากนัก อันตราย แต่เมื่อดิฉันอธิบายถึงสาเหต ุที่กลับดึกแล้วก็ไม่ว่าอะไร ซึ่งเป็นความซาบซึ้งอย่างมาก เพราะแม้จะอยู่ห่างไกล จากอกพ่อแม่ แต่ก็มีผู้ใหญ ่คอยเป็นห่วงเป็นใย ต้องเรียกว่านี่เป็นลักษณะพิเศษของคนไทย ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ความผูกพันในเชื้อชาติ ก็เชื่อมโยงพวกเรานักเรียนไทยไว้ด้วยกันเสมอ



By : เอริโกะ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที