TPA Magazine

ผู้เขียน : TPA Magazine

อัพเดท: 12 ก.พ. 2007 11.49 น. บทความนี้มีผู้ชม: 58198 ครั้ง

ภาษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดก็ตาม เราต้องพูดต้องคุย เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันและกัน


แหกคอกแหวกกฎ

ระหว่างที่พักอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นนี้ ทางพ่อแม่ญี่ปุ่น ก็จะพาไปเที่ยวในที่ต่างๆ แต่ดิฉันนั้นมีพิเศษ เพราะหมอโตชิโอะส่งตั๋วรถไฟชินคันเซ็น รถไฟที่เร็วเป็นอันดับสองของโลก บางทีเรียกว่ารถไฟหัวจรวด) ไปเกียวโตมาให้ แล้วก็โทรมาขออนุญาตโฮสท์แฟมิลี่ของดิฉันว่า ขอให้ดิฉันเดินทางไปเที่ยวเกียวโตโดยไม่ค้างคืน ซึ่งความจริงแล้วดิฉันไม่สามารถไปได้ เพราะ ดร .ลิขิตและอาจารย์บัญญัติสั่งไว้นักหนาว่า ห้ามออกนอกกรุงโตเกียวแต่กรณีของดิฉันนั้น โฮสท์แฟมิลี่อนุญาตโดยพาดิฉันมาขึ้นรถไฟชินคันเซ็นที่สถานีโตเกียว แล้วก็กำชับดิฉันนักหนาว่า ขากลับเมื่อมาถึงสถานีโตเกียว ดิฉันต้องยืนรออยู่ที่ชานชลาเบอร์นั้นเบอร์นี้ ห้ามไปไหนเด็ดขาด เพราะถ้าดิฉันเกิดหายตัวไปละก็ มีหวังโฮสท์แฟมิลี่ถูกคณะกรรมการกองทุนของมหาวิทยาลัยโฮเซเล่นงานแน่ๆ แล้วที่สำคัญคือไม่รู้จะไปหา “ ลูกสาวชาวไทย ”   แบบนี้ได้ที่ไหน (พันธุ์แท้อย่างดิฉันหายากอยู่แล้วนะ)    
 

     ดิฉันเดินทางออกจากโตเกียวโดยลำพังด้วยความรู้สึกตื่นเต้นแบบเด็กๆ อย่างแรกคือได้แหกกฎข้อกำหนดของดร.ลิขิตและอาจารย์บัญญัติ สองอาจารย์ผู้ควบคุมความประพฤติของพวกเรา อย่างที่สองก็คือจะได้พบเพื่อนเก่า ซึ่งจะว่าไปก็น่ารักมากที่เอื้ออาทรขนาดมาพบที่โตเกียวไม่ได้ ก็อุตส่าห์หาวิธีให้ได้เจอกันจนได้ ซึ่งความจริงแล้วเมื่อมองย้อนกลับไปหลังจากนั้นอีกหลายปี ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กที่แย่มาก ไร้วินัยโดยสิ้นเชิง เพราะหากขณะนั้นดิฉันเกิดเป็นอะไรไป ใครจะรับผิดชอบ เรียกว่าผู้ที่ต้องตกที่นั่งลำบากคนแรกก็คือครอบครัวโฮสท์แฟมิลี่ ที่อนุญาตให้ดิฉันเดินทางออกนอกโตเกียวโดยลำพัง รองลงมาก็คือ ดร.ลิขิตและอาจารย์บัญญัติ ผู้ดูแลพวกเราจากเมืองไทย แล้วก็คุณหมอโตชิโอะเพื่อนต่างแดนหนุ่มใหญ่ใจดีนี่แหละ พฤติกรรมแบบนี้ใครอย่าริเอาเป็นเยี่ยงและอย่างเชียวนา โดยเฉพาะสมัยนี้คนดีๆหายาก รู้หน้าไม่รู้ใจ

    
   

     นับว่าเด็กนิสัยไม่ดีย่างดิฉันโชคยังดี พระคุ้ม เพราะเดินทางถึงเกียวโตโดยสวัสดิภาพ หลังจากใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงบนรถไฟ ซึ่งจำได้ว่าตัวเองสนุกสนานจนลืมเวลาเลยเชียว เพราะบนรถไฟชินคันเซ็นมีตู้เสบียง มีสาวน้อยเดินเข็นรถอาหาร เครื่องดื่ม ร้องเชิญชวนซื้อของกินตลอด เสียงร้องแหลมๆ เชื้อเชิญ .....

      
     ( sandoichi wa ikaga desuka )

หมายถึง รับแซนด์วิชมั้ยค่ะ     หมายถึง แซนด์วิช หมายถึงเป็นอย่างไรบ้าง ในที่นี้คือ รับมั้ย ทานมั้ย ซื้อมั้ย เป็นต้น อย่างเวลาเราจะถามใครๆว่า เขาจะ รับกาแฟหรือชามั้ย เราจะใช้ประโยค นี้แหละ โดยเติมคำว่า   ( กาแฟ ) หรือ  ( ชา ) ไว้ข้างหน้า ก็จะได้ประโยคหากินว่า ... (Koohii wa ikaga desuka ) หมายถึงรับกาแฟมั้ยคะ หรือ  (Koucha wa ikaga desuka ) แปลว่า รับชามั้ยคะ เป็นต้น (สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมาก่อน อาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับการเปล่งสำเนียง คำว่ากาแฟในภาษาญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นใช้ทับศัพท์ ภาษาอังกฤษว่าคอฟฟี่ แต่เนื่องจากภาษาญี่ปุ่นไม่มีสระออ ทำให้เสียงที่เปล่งออกมาว่า คอฟฟี่จึงเป็น โคฮี่ และถ้าพูดเต็มประโยค ก็จะออกเสียงว่า โคฮี่วะอิคะงะเดสก๊ะ โดยขึ้นเสียงสูงที่คำว่าก๊ะ และถ้าคุณอยากฟังดู เป็นสาวญี่ปุ่นก็ควรทำเสียงแหลมสูง รสชาติกาแฟก็อาจน่าดื่มยิ่งขึ้น)

 

     ดิฉันตื่นตากับวิวทิวทัศน์สองข้างทาง โดยเฉพาะในวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใส สามารถมองเห็นภูเขาไฟฟูจิสวยงาม ตั้งตระหง่านอยู่ทำให้รู้โดยสัมผัสที่หกว่า วันนี้คงจะเป็นวันดี และมีเรื่องสนุกแน่ๆ  รถไฟเข้าเทียบชานชาลาเกียวโต ตอน 11 โมง คุณหมอโตชิโอะยืนยิ้มเผล่อยู่ที่ชานชาลาด้านใน คราวนี้ไม่มอมแมม แต่งตัวสุภาพ แต่ก็ยังสะพายย่ามเหมือนเดิม ทันทีที่ปะหน้ากัน คุณหมอก็ใส่ภาษาญี่ปุ่นมาเป็นชุด ด้วยคงคิดว่า วิทยายุทธ์ของดิฉันแก่กล้า แต่โทษทีนะคะ งูๆ ปลาๆ เอง ฟังดูคุณหมอโนะๆ เนะๆ รู้เรื่องเพียง 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราก็เลยต้องใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นปนๆ กัน สนุกดี

 
     ประโยคแรกที่ได้ยินจากปากคุณหมอผู้ใจดีก็คือ  (Ohisashiburi desu. Ogenkidesuka.) หมายถึงไม่ได้พบกันตั้งนาน สบายดีหรือเปล่าครับ ซึ่งดิฉันมาเข้าใจภายหลังว่า ถ้าเราบังเอิญพบใคร หรือจะไม่บังเอิญก็แล้วแต่ เป็นการพบที่เราไม่ได้เจอะเจอกันมาน้านนานมาก คนญี่ปุ่นจะพูดทักทายกันว่า  hisashiburi desu. หรือ Ohisashiburidesu. ( สุภาพมากขึ้น ) ดิฉันคิดว่าน่าจะคล้ายๆคำว่า คิดถึงจังเลยในภาษาไทยหรืออาจจะหมายถึง ไม่ได้พบกันเสียนานเป็นไงบ้าง อะไรทำนองนี้ เวลาตอบกลับก็จะพูดแบบเดียวกันคือ hisashiburi desu. หรือบางทีก็จะพูดว่า Sou desu ne ซึ่งหมายถึง นั่นนะสิ หรือใช่แล้ว หรือจริงๆด้วย แล้วก็มักจะตามด้วยประโยคอื่นๆ เช่น สบายดีรึเปล่า   genkidesuka. เป็นอย่างไรบ้าง dou desuka . ยุ่งมั้ย   Isogashii desuka เป็นต้น
 
     ด้วยว่าการเดินทางมาเกียวโตครั้งนี้ มีเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะดิฉันต้องกลับโตเกียว ด้วยรถเที่ยวสี่โมงเย็น เพื่อให้ถึงโตเกียวตอนทุ่มเศษๆ มิฉะนั้นโฮสท์แฟมิลี่คงโกรธตายแน่  ดังนั้นคุณหมอโตชิโอะ ไกด์จำเป็นของดิฉัน ก็จะต้องทำเวลาพาทัวร ์เฉพาะแหล่ง หรือสถานที่สำคัญๆ เท่านั้น ยิ่งกว่าหนังฝรั่ง เรื่องเซเว่นไนท์อินเจแปน ( 7 nights in Japan ) อีกนะ  คุณๆ เคยดูหนังรื่องที่ว่านี้รึเปล่า เป็นเรื่องรักแรกพบของเจ้าชายฝรั่ง ดูเหมือนน่าจะเป็นชาวอังกฤษ กับไกด์สาวชาวญี่ปุ่นในเวลาเจ็ดคืน แล้วเรื่องจบลง ด้วยการลาจากซาโยนะระ เพราะทั้งคู่แต่งงานกันไม่ได้ ด้วยพระเอกเป็นรัชทายาท ที่จะต้องสืบราชบัลลังก์  ช่วงเจ็ดคืนในญี่ปุ่น ก็มีเรื่องสวีทหวานแหวว ให้จดจำติดตรึงใจ ว่าแล้วเรื่องมันเศร้า แต่ของดิฉัน 5 ชั่วโมงในเกียวโต (5 hours in Kyoto) นี้ต่างกัน เพราะไม่มีเจ้าชายเจ้าหญิง มีแต่สาวซ่า(ส์) กับหมอหนุ่มใจดี ซึ่งพาไปเที่ยว วัดคิโยมิซึ kiyomizutera) ตั้งอยู่บริเวณเขาฮิงะชิยะม่า พื้นที่วัดกินบริเวณตั้งแต่ตีนเขาไปจนถึงยอดเขาเลยทีเดียว
 
     ตัววัดสร้างด้วยไม้ มีความสูง 15 ชั้น และที่น่าทึ่งก็คือ เป็นการสร้างที่ไม่ใช้ตะปู แม้แต่ดอกเดียว น่าจะคล้ายๆ การสร้างเรือนไทยของบ้านเราสมัยก่อน ซึ่งใช้ลิ่มแทนการตอกตะปูเช่นกัน เวลาขึ้นไปอยู่บนศาลาของวัด จะมองเห็นวิวของเมืองโตเกียว โดยรอบสวยมาก ช่วงที่ดิฉันไปนั้น ใบไม้เปลี่ยนสี เป็นสีเหลือง-แดง เพราะย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วงแล้ว บรรยากาศโรแมนติกมาก ที่น่าสนใจ ก็คือที่วัดนี้มีน้ำตกสามสายไหลลงมา จากภูเขาเชื่อกันว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ [ เป็นที่มาของชื่อวัด หมายถึงบริสุทธิ์ คือสายน้ำหรือน้ำ ]  ซึ่งถ้าใครดื่มเข้าไปแล้ว จะโชคดีในเรื่องต่างๆ 3 เรื่อง คือ ความรัก สุขภาพ และความร่ำรวย คุณหมอโตชิโอะ เชียร์ให้ดิฉันเข้าคิวดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์น ี้เพื่อความสวัสดีมีชัย โดยให้เลือกเอาสายที่ดิฉันปรารถนา อยากเป็นอยากได้ ในอนาคต ดิฉันทำตามการเชียร์ โดยไปเข้าคิวรอซึ่งยาวมาก และสังเกตว่าคนที่ดื่มน้ำนั้น บางคนก็ตักสายแรก บ้างก็สายที่สอง บ้างก็สายที่สาม แต่รู้สึกสายสุขภาพ และความร่ำรวยนั้น จะมีคนดื่มพอๆ กัน เมื่อมาถึงคิวของดิฉัน ด้วยความที่รอนานมาก แถมหนาวก็หนาว เพื่อให้คุ้มสมกับที่รอคิวนาน ดิฉันก็เลยดื่มทั้งสามสายเสียเลย ให้รู้แล้วรู้รอด เรียกว่าให้ร่ำรวยความรัก สุขภาพพลานามัยดี มีทรัพย์ศฤงคารได้ทั้งหมด ทำให้ไกด์จำเป็น ขำในความโลภ และงกของดิฉัน คิดดูเถอะ มาก็ตั้งไกล แถมยังต้องยืนรอหนาวไปจนทุกอณูขุมขน ดื่มแค่นี้ยังน้อยไป ไม่เอาถุงพลาสติกใส่กลับมาแจกเพื่อนๆ ผู้ร่วมชะตากรรม ที่โตเกียวก็ดีถมไปแล้วนะ
 

     หลังจากดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์เรียบร้อยแล้ว เราก็แวะไปดูสวนหิน ที่วัดเรียวอันจิ ซึ่งเป็นวัดที่กำแพงทำด้วยดินเหนียว ภายในวัดจัดเป็นสวน แต่ไม่มีต้นไม้ แม้แต่ต้นเดียว เป็นสวนที่บรรจงวางหิน 15  ก้อนไว้บนทรายขาว ซึ่งสวนนี้ได้รับการยกย่อง และเป็นแบบฉบับการแต่งสวนแบบญี่ปุ่น ที่แสดงถึงความสงบ สมาธิ บนพื้นทรายสีขาวนี้จะได้รับการดูแลรักษา ทำความสะอาดทุกวัน ดังนั้นลักษณะลวดลายบนพื้นทราย ก็จะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่มีการทำความสะอาด ดิฉันไปยืนดูแล้วคะเนว่า เวลากวาดพื้นทรายนี้ จะต้องใช้กำลังและสมาธิอย่างมาก เพราะพื้นที่ตรงนั้นกว้าง และยาวมาก ขืนวอกแวกนิดเดียว ทรายเหล่านั้น ก็คงไม่อยู่ในสภาพที่เป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างที่เห็น นอกจากสวนหินนี้แล้ว คุณหมอยังพาดิฉันไปย่ำเท้าที่ปราสาทนิโจ ของโชกุนโตคุงะ
ว่า ที่เรียกว่าย่ำเท้า เพราะปราสาทแห่งนี้ สร้างด้วยเทคนิคพิเศษ หรืออะไรก็ไม่ทราบ เวลาที่เท้าเหยียบไปบนพื้นไม้แล้วเกิดเสียงดัง คล้ายเสียงร้องของนกไนติงเกล นัยว่าผู้เป็นเจ้าของปราสาท ทำพื้นนี้เพื่อเป็นสัญญาณเตือนภัย เวลามีผู้บุกรุก ดูเอาเถอะ ! สุนทรียะของคนโบราณ แม้แต่เรื่องอันตราย ก็ยังทำให้เป็นสิ่งรื่นรมย์  แต่ดิฉันอดคิดแบบห่ามๆไม่ได้ว่า ถ้าเกิดมาทำพื้นไม้แบบนี้ที่เมืองไทยบ้าง มีหวัง นกไนติงเกลคงขัน หรือส่งเสียงร้องจนหงอยแน ่ เพราะขโมย หรือแขกผู้มาเยือน แบบไม่ได้รับเชิญของเราชุมเหลือเกิน

 
     ช่วงบ่าย เราทั้งคู่พักทานอาหารกลางวัน แบบอาหารกล่อง ที่เรียกว่าเกียว-เบ็นโตะ  รสชาติอร่อยไม่เลว บริเวณเนินซันเน็น-ซะกะ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีพื้นที่ลาดชันตลอด เดินขึ้นๆ ลงๆ จนปวดเมื่อยไปหมด เวลาห้าชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว เป็นห้าชั่วโมง ที่สนุกสนาน เต็มไปด้วยความรู้ น่าเสียดาย ที่ดิฉันมีเวลาน้อยเกินไป และคุณหมอโตชิโอะ ผู้อารี ก็เป็นไกด์ที่ฉลาดเหลือหลาย เล่าได้ทุกเรื่อง น่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์มากกว่า เป็นหมอ เพราะวิธีการเล่า และเปรียบเทียบ ของคุณหมอนั้น สนุกสนาน มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าสนใจมาก
 
     บ่ายวันนั้น ดิฉันลาจากซาโยนาระ ที่สถานีรถไฟชินคันเซ็นเกียวโต ในเวลาเกือบจะสี่โมงเย็น ซึ่งรถไฟกำลังจะเคลื่อนอยู่รอมร่อ ก่อนจากกัน ดิฉันมอบเข็มกลัดเน็คไท รูปนางรำ ให้เป็นที่ระลึก ส่วนคุณหมอ ควักของที่ระลึกออกมา จากย่ามสองอย่าง อย่างแรก เป็นรองเท้าเล็กๆ สานด้วยเชือกกระสอบสีน้ำตาล นัยว่าเป็นเครื่องราง ของนักเดินทาง ที่คุณหมอติดตัวอยู่ตลอดเวลา รองเท้าสานคู่นี้ ดิฉันนำติดตัวกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้ง ตอนไปเรียนต่อ แล้วก็เป็นเครื่องย้ำเตือน ถึงมิตรภาพที่ดีระหว่างเราทั้งสอง ส่วนอีกอย่างหนึ่ง เป็นลูกบอลที่ทำจากไหมญี่ปุ่น เรียกว่าเทมะริ สวยงามมาก ลูกบอลน ี้ตั้งอยู่ที่ตู้หนังสือ ในห้องนอนของดิฉัน อีกหลายปีต่อมา จนกระทั่ง หลานชายจอมซน แอบเข้ามาในห้อง และดอดเอาไปรื้อเล่น ไม่เหลือซากเลย น่าเสียดายมาก
 

     รถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีเกียวโตอย่างช้าๆ โดยมีคุณหมอโตชิโอะ ไกด์ผู้อารีของดิฉัน ยืนยิ้มโบกมืออยู่จนลับตา และนั่นเป็นครั้งสุดท้าย ที่ได้พบกัน เพราะหลังจากนั้น อีกหนึ่งปีถัดมา คุณหมอก็แต่งงาน แล้วไปตั้งรกรากอยู่ที่สเปน

 

     ดิฉันเดินทางกลับถึงโตเกียว ด้วยความปลอดภัย และโล่งอก ของโฮสท์แฟมิลี่  ที่มายืนรอรับอยู่นานแล้ว ด้วยความเป็นห่วง นี่ถ้าดิฉันหายไป มีหวัง คงป่วนกันทั้งกลุ่มนักเรียนแลกเปลี่ยนนี้แน่ๆ

 
     หลังจากที่เสร็จสิ้นโปรแกรม ค้างกับครอบครัวญี่ปุ่นแล้ว พวกเราก็กลับไปพักที่หอพักเยาวชนอิจิงะย่าตามเดิม ต่างก็มีเรื่องแปลกๆ สนุกๆ มาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งทุกเรื่อง (shot) ที่เล่าของทุกคน ชิดซ้ายหมด เพราะ
“ 5 ชั่วโมงในเกียวโต ”  ( 5 hours in Kyoto ) ของดิฉันกินขาด และเพื่อนๆ ทุกคนก็พร้อมใจกัน ปิดเป็นความลับ ด้วยว่าทั้ง ดร.ลิขิต และ อาจารย์บัญญัติ คุมเข้มเหลือเกิน แต่คุณเชื่อมั้ย ความลับไม่มีในโลก(จริงๆ) เพราะดร.ลิขิต รู้เข้าจนได้ ในวันสุดท้าย ที่มีพิธีมอบประกาศนียบัตร จากมหาวิทยาลัยโฮเซ ให้กับพวกเราหมู่ลิงทั้ง 15 ชีวิตที่บากบั่น ขยันเรียน ฟังบรรยายทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยด ี อาจารย์ให้พวกเราสารภาพบาปเสีย ใครไปทำอะไรไว้ ตลอดสิบกว่าวัน ที่อยู่ญี่ปุ่นนี้  เพื่อว่าจะได้กลับเมืองไทยอย่างไร้มลทิน (เห็นฤทธิ์อาจารย์มั้ยละ) ดิฉันก็เลยต้องบอกอาจารย์ว่า
– หนูไปเที่ยวเกียวโตมาค่ะ ดร.ลิขิตตกใจมาก บ่นเสีย 10 กระบุงโกย แล้วแถมทริปนี้ มีเรื่องประหลาดๆ เกิดขึ้นกับดิฉันบ่อยมาก จนอาจารย์ทั้งสองท่าน ตั้งฉายาว่าสาวน้อยมหัศจรรย์ เรื่องล่าสุดปิดท้ายการเดินทางที่จนทุกวันนี้ เมื่อพบดร.ลิขิต  ดิฉันก็ยังถูกล้อเลียนอยู่เหมือนเดิม คือตอนขากลับที่สนามบินนาริตะ พวกนักศึกษามหาวิทยาลัยโฮเซ ที่ร่วมกิจกรรมกับพวกเราตลอดสิบกว่าวันนี้ ได้ตามมาส่งที่สนามบิน มีการมอบของที่ระลึก เซ็นสมุดเฟรนด์ชิป ( friendship ) ถ่ายรูป  อะไรต่ออะไร อีนุงตุงนังไปหมดคนที่ป๊อปปูล่าร์ เช่น พี่ยี (ดร.สุมาลี) ก็จะมีหนุ่มญี่ปุ่นตามมาส่ง ทำท่าสวีทด้วยที่สนามบิน สาวห้าวและแสบๆ อย่างเจ้ายุ่ง เจ้าเก่ง เจ้านุ้ย ก็มีเพื่อนหนุ่มๆ
ตามมาส่งด้วยเช่นกัน ส่วนดิฉันก็ตลกอีกเหมือนกัน เพราะหนุ่มนักศึกษาโฮเซชื่อ ซึซึกิ ซึ่งดูแลดิฉันตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม ได้ยื่นกระดาษประมาณว่าจดหมายน้อยให้ พร้อมบอกให้ดิฉันไปอ่านบนเครื่องบินก็แล้วกัน
 
     เรื่องที่ขำก็คือ คนที่อ่านจดหมายน้อยนี้ ไม่ใช่ดิฉัน กลับเป็นดร.ลิขิต ที่มาชิงเอาไปอ่าน ด้วยเสียงอันดัง เพราะหนุ่มซึซึกิ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ I fall in love with you at first sight”
ดร.ลิขิตขำกลิ้ง และวิเคราะห์มาตลอดเส้นทางโตเกียว-ฮ่องกง-กรุงเทพฯ ว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้หนุ่มซึซึกิ มาตกหลุมรักรจนาท่าพระจันทร์ ตัวดำปี๋อย่างดิฉันได ้ แล้วอาจารย ์ก็คิดประโยคภาษาญี่ปุ่น ตามสไตล์ของตนเองมาล้อเลียนดิฉันว่า

– คุณเป็นเพื่อนกับคนญี่ปุ่นใช่มั้ย ซึ่งความจริงแล้วประโยคนี้ถูกไวยากรณ์ แต่คนญี่ปุ่นเจ้าของภาษาจะไม่พูดกัน ดิฉันเข้าใจว่าอาจารย์มีนัยว่าดิฉันมีหนุ่มญี่ปุ่นมาจีบใช่มั้ย !!!


By : เอริโกะ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที