พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 19 ก.ย. 2013 09.22 น. บทความนี้มีผู้ชม: 277015 ครั้ง

การทำกิจกรรม 5ส ให้ประสบความสำเร็จจะทำอย่างไร มีการนำทางในเชิงปฎิบัติอย่างไรที่มองเห็นและปฎิบัติตามได้ หากสนใจลองแวะมาอ่านบทความนี้แล้วเรามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันดีกว่า สนใจเชิญอ่านได้ครับ


ภาคปฏิบัติ 2

ตอนที่ 8 (ภาคปฏิบัติ 2)

ในการลงมือปฏิบัติกิจกรรม 5ส เมื่อเราสะสางสิ่งของไม่จำเป็นต้องใช้ออกไปแล้วเหลือเฉพาะสิ่งของจำเป็นต้องใช้ในการทำงานเท่านั้น แต่สิ่งของเหล่านั้นถูกจัดเก็บ จัดวางไว้ในตำแหน่งต่างๆของพื้นที่ซึ่งบางอย่างก็วางไว้เหมาะสมแล้ว (พร้อมที่จะหยิบใช้งานได้อย่างรวดเร็ว) แต่บางอย่างอาจไม่เหมาะสมซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงใหม่ อาจมีพื้นฐานของไคเซ็นบ้างแต่ก็มีความแตกต่างกันในเรื่องเป้าหมาย ซึ่งหลักการไคเซ็น คือ E:Eliminate, C : Combine ,R :Rearrange, S:Simplify ส่วนหลักการของ 5 ส คือ สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมารฐานและสร้างวินัย ไคเซ็นมองการปรับปรุงเฉพาะเรื่อง เครื่องมือในการปรับปรุงแต่ละตัวไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน เช่น E :Eliminate การยกเลิก ขจัดออก หรือข้ามขั้นตอน เมื่อปรับปรุงแล้วผลลัพธ์ที่ได้จบได้ในตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงไปกับเครื่องมือตัวอื่น ๆ C : Combine การรวบรวม ประกอบเข้าด้วยกัน เมื่อปรับปรุงแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็จบในตัวเอง เช่นกันขึ้นอยู่กับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเราจะใช้เครื่องมืออะไรของไคเซ็นจึงจะเหมาะสมกับเราก็เลือกเป็นตัว ๆ ไป ไคเซ็นจึงเป็นเรื่องง่าย ไม่ซับซ้อนทำแล้วดีขึ้นกว่าเดิมเพียงเล็กน้อยก็ถือว่าเป็นไคเซ็นแล้ว

ต่างจาก 5 ส ซึ่งเป็นการปรับปรุงเป็นแบบเชื่อมโยงกับเครื่องมือแต่ละตัวถ้าทำกิจกรรมแล้วไปไม่ถึงเครื่องมือตัวสุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่เครื่องมือตัวแรก จึงมีผู้กล่าวกันว่าทำ 5 สมาแล้วหลายปีแต่ยังไม่สำเร็จหรือบางคนกล่าวหนักกว่านั้นอีกเช่น 5 ส โรงงานผมมันล่มแล้วต้องกู้ใหม่ จึงมีหลักสูตรที่ชื่อว่า การฟื้นฟูการทำกิจกรรม 5 ส เกิดขึ้น ถ้าเรามาวิเคราะห์การทำกิจกรรม 5 ส กับเราเริ่มต้นที่ ส1 สะสาง ก่อนแล้วจึงทำ ส2 สะดวก แต่การที่จะรักษาสภาพไว้เพื่อให้ใช้งานได้สะดวกตลอดเวลาก็ต้องทำ ส 3 สะอาด ตามความเหมาะสมและความถี่ตามกาลเวลาและถ้าไม่ต้องการให้เกิดความผิดพลาด ในการหยิบใช้จัดเก็บบ่อย ๆ หรือใช้กับหลาย ๆคนก็ต้องทำ ส 4 สร้างมาตรฐานเอาไว้เหมือนกันมาตรฐานการทำงาน (WI) นั่นเอง แต่การสร้างมาตรฐานเอาไว้แล้วก็ใช่ว่าจะมีผู้ปฏิบัติตามกันทุกคน จึงจำเป็นต้องทำ ส5 สร้างวินัยให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงานทุก ๆ คน ทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุกคนไม่ลืมปฏิบัติตามมาตรฐานที่สร้างเอาไว้จนเกิดเป็นระเบียบวินัยที่ทุกคนยินดีปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ ซึ่งจะเห็นว่า 5 ส เป็นการปรับปรุงที่มีการเชื่อมโยงกันต่างกับไคเซ็น

สรุป 5 ส ต่างจากไคเซ็นอย่างไร

  1. ไคเซ็นเป็นการปรับปรุงเป็นเรื่อง ๆ ไปแต่ 5 ส เป็นการปรับปรุงแบบเชื่อมโยงหลายขั้นตอน
  2. ไคเซ็นเมื่อปรับปรุงจนพอใจแล้วถ้าพบว่ายังสามารถปรับปรุงได้อีกก็ทำต่อได้ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ 5 ส ถ้าทำไม่ครบทั้ง 5 ตัวต้องกลับมาเริ่มต้นที่ ส 1 ใหม่
  3. ไคเซ็นเลือกเครื่องมือเป็นตัว ๆ( E C R S ) มาใช้ได้แต่ 5 ส ต้องใช้ทั้ง 5 ตัว

เมื่อพูดถึงไคเซ็นแล้วก็ขอเพิ่มเติมให้ไปเลยว่าการทำไคเซ็นในสำนักงานต่างจากไคเซ็นในโรงงานอย่างไรจะได้นำไปเสริมการทำกิจกรรม 5ส ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น

งานสำนักงานเริ่มตั้งแต่ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายจัดซื้อจัดหา ฝ่ายขนส่ง ฝ่ายคลังวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ฝ่ายวางแผน ฝ่ายบุคคลและธุรการ ฝ่ายฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร ฝ่ายบัญชีและการเงิน ฝ่ายการตลาดและการขาย ส่วนโรงงานจะประกอบด้วยฝ่ายผลิต ฝ่ายควบคุมคุณภาพ ฝ่ายซ่อมบำรุงและคลังอะไหล่ ฝ่ายวิศวกรรม

งานสำนักงานส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมการเพื่อสนับสนุนฝ่ายผลิตให้สามารถดำเนินการผลิตสินค้าให้ได้ตามเวลา-ปริมาณและคุณภาพ ตามความต้องการของลูกค้า ดังนั้นจะเห็นว่างานสำนักงานจะเกี่ยวข้องกับการใช้เวลาและงบประมาณ เช่นฝ่ายวิจัยและพัฒนาจะกำหนดระยะเวลาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ฝ่ายจัดซื้อจัดหาจะถูกกำหนดเวลาให้ไปหาวัสดุหรือวัตถุดิบมาใช้งานให้ได้หรือฝ่ายบุคคลจะต้องคัดเลือกบุคลากรมาช่วยทำงานให้ได้ภายในเวลาที่กำหนดเป็นต้น ดังนั้น การทำไคเซ็นของงานสำนักงานก็จะเกี่ยวข้องกับการลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ลดต้นทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ

งานในโรงงาน ฝ่ายผลิตจะใช้เครื่องจักรในการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นสินค้าสำเร็จรูป มีกระบวนการประกอบสินค้าเป็นขั้นตอน มีการควบคุมคุณภาพการผลิต มีการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร โรงงาจะทำหน้าที่ผลิตสินค้าให้ได้ตามแผนผลิต แผนการขาย หรือแผนตามความต้องการของลูกค้า ในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งฝ่ายผลิตจะทำงานได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสำนักงาน เช่นการจัดเตรียมวัตถุดิบ ของฝ่ายจัดซื้อ การเตรียมบุคลากรของฝ่ายบุคคลและฝึกอบรม ดังนั้น การทำไคเซ็นของโรงงานจะเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรด้วยการปรับปรุงให้เครื่องจักรใช้งานง่าย ควบคุมได้อย่างเสถียร ผลิตสินค้าได้ตามปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ลดการผิดพลาดของการผลิตสินค้า ลดความบกพร่องของสินค้า ขจัดอุบัติเหตุ ขจัดปัญหาเครื่องจักรเสียระหว่างผลิต ฯลฯ

สรุป ไคเซ็นสำนักงานต่างจากไคเซ็นโรงงานอย่างไร

การไคเซ็น สำนักงาน โรงงาน
1. การค้นหาปัญหา ดูที่กระบวนการ ดูที่เครื่องจักร
2. ระยะเวลา ลดเวลาลง รักษาเวลาตามมาตรฐาน
3. ต้นทุนลดลง วัตถุดิบถูกลง สินค้าบกพร่องน้อยลง
4. ลดค่าใช้จ่าย บุคลากรลดลง การบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่ให้เสีย
5. การใช้อุปกรณ์ง่ายขึ้น อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องมือ-เครื่องจักร
6. สถานที่ สะดวก-สบาย ความปลอดภัย

พยัพ มาลัยศรี


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที