khwanjai

ผู้เขียน : khwanjai

อัพเดท: 18 ก.ย. 2013 10.25 น. บทความนี้มีผู้ชม: 11868 ครั้ง

เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจ


การดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

หลายคนที่เคยดูละครคงเคยเจอเหตุการณ์ที่ผู้ชายต้องเสียชีวิตขณะหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ สุดท้ายแล้วแพทย์ก็บอกว่าผู้ป่วยเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจวายเฉียบพลัน คนที่เป็นโรคหัวใจที่เคยดูก็คงหวาดวิตกกับการมีเพศสัมพันธ์ แต่จริงๆแล้วการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้เป็นข้อห้ามของผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ก็มีข้อควรระวัง และสิ่งที่ต้องรู้ ดังต่อไปนี้

1.พลังงานที่ต้องใช้ในการมีเพศสัมพันธ์

ในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ปริมาณการใช้ออกซิเจนจะอยู่ประมาณ 3-4 เท่าของปริมาณการใช้ปกติ เปรียบเทียบได้กับการเดินลงบันได 1 ชั้น หรือการเดินด้วยความเร็ว ประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้พลังงานมากนัก แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ มีงานวิจัยที่บอกว่า ถ้าเกิดมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ครองของตน จะมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อร่างกายและการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และพบว่าอัตราการตายที่เกิดขึ้นขณะที่มีเพศสัมพันธ์ 80% เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ใช่คู่ครองของตน และมักจะเกิดขึ้นหลังจากรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2.เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

ผู้ป่วยโรคหัวใจหลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ในสัปดาห์ที่ 4-6 หลังออกจากโรงพยาบาล โดยสิ่งที่บ่งบอกถึงความมั่นใจในการเริ่มต้นของการมีเพศสัมพันธ์ คือ สามารถเดินได้ปกติในระยะทาง 1 กิโลเมตร ภายใน 10 นาทีโดยไม่มีอาการผิดปกติ หรือได้รับการตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ (EST)สามารถทำกิจกรรมได้ในระดับที่มากกว่าอย่างน้อย 5 เท่า ขณะพัก

3.              เวลาและสภาพแวดล้อมในการมีเพศสัมพันธ์

ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการมีเพศสัมพันธ์ คือ ช่วงเวลาที่มีการพักผ่อนมาแล้ว เช่น ช่วงเช้าหลัง   ตื่นนอน หรือช่วงบ่ายที่ได้นอนพักมาแล้ว ควรหลีกเลี่ยงช่วงที่มีอากาศร้อนหรือหนาวเกินไป หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หลังจากรับประทานอาหารมื้อใหญ่ หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือมีภาวะเครียดทางจิตใจ

4.              ท่าทางที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์

ท่าทางที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ควรเป็นท่าทางปกติ และเป็นฝ่ายตั้งรับ จะค่อนข้างปลอดภัยกว่า แต่ก็มีงานวิจัยที่บ่งบอกว่า ท่าทางที่ใช้ในการมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีความแตกต่างกันของการเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และการเพิ่มความดันโลหิต

5.              อาการผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์

อาจจะเกิดอาการผิดปกติได้ในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เช่น อาการเจ็บหน้าอก อาการหัวใจเต้นผิดปกติ อาจจะต้องอมยาอมใต้ลิ้นก่อนมีเพศสัมพันธ์ หรืออมยาอมใต้ลิ้นทันทีที่เกิดอาการ และหยุดพักการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว

 

โดยสรุปการมีเพศสัมพันธ์ของผู้ป่วยโรคหัวใจไม่ใช่ข้อห้าม  แต่อย่างไรก็ตาม

ผู้ป่วยไม่ควรมีเพศสัมพันธ์บ่อยเกินไป คนอายุ 40 ปีขึ้นไปควรมีเพศสัมพันธ์ประมาณสัปดาห์ละไม่เกิน 1 - 2  ครั้ง และการที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้อย่างมีความสุขนั้น ทั้งคู่ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคด้วยเพื่อลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น
 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที