พยัพ

ผู้เขียน : พยัพ

อัพเดท: 12 พ.ย. 2013 15.02 น. บทความนี้มีผู้ชม: 152150 ครั้ง

ทำไม TPM จึงน่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรม


Overlaping Small Group กลไกสู่ความสำเร็จของ TPM

ตอนที่ 8: Overlapping Small Group กลไกสู่ความสำเร็จของ TPM

                ในการดำเนินการTPM จะมีการจัดโครงสร้างองค์กรTPM เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ “Zero Loss” โดยการทำกิจกรรมของ Small Group ในสายงานการบังคับบัญชาเดิม (Overlapping Organization) ซึ่งเราจะแบ่งกลุ่มย่อย (Small Group) เป็น 3 ระดับประกอบด้วย

                1. Project Team: กลุ่มย่อยในระดับบริหารจัดการ

                2. Section Team: กลุ่มย่อยในระดับแผนก หัวหน้างาน วิศวกร

                3. Operation Team: กลุ่มย่อยในระดับปฏิบัติการ

การดำเนินการTPMจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้นั้นจะต้องวางระบบการทำกิจกรรมให้กลุ่มย่อยทั้ง 3 ระดับทำกิจกรรมประสานงานกันให้ดี อย่าให้การทำกิจกรรมเกิดความซ้ำซ้อนหรือก้าวก่ายกันหรือเกี่ยงกันระหว่างระดับต่างๆจะทำให้หมดกำลังใจหรือเกิดความเบื่อหน่ายท้อถอยกันไปเสียก่อนต้องระมัดระวังให้ดี การสูญเสีย(Loss)ที่เกิดขึ้นในองค์กรถ้าพวกเราช่วยกันค้นหากันทุกหน่วยงานก็จะพบว่ามีเป็นจำนวนมากอาจจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่บ้าง  ในการลดหรือขจัดปัญหาที่ทำให้เกิดการสูญเสียอาจทำได้ง่ายหรือยากขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของบุคลากรในกลุ่มย่อยจะร่วมกันแก้ไขหรือปรับปรุงได้มากน้อยแค่ไหน เราจึงต้องมีการแบ่งงานให้กลุ่มย่อยในระดับต่างๆอย่างชัดเจนโดยมีเกณฑ์การประเมินปัญหาต่างๆเพื่อแบ่งงานกันดังนี้

                1. Project Team: จะรับผิดชอบปัญหาที่มีผลกระทบกับหลายฝ่าย หลายแผนก หลายกระบวนการปัญหาเร่งด่วน-สำคัญ ปัญหาซับซ้อนต้องใช้บุคลากรจากหลายฝ่าย ต้องใช้เทคนิคและความรู้ความสามารถสูง มีค่าใช้จ่ายสูง

                2. Section Team: จะรับผิดชอบปัญหาที่มีผลกระทบกับแผนกหรือหน่วยงานเดียว ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรในระบบการทำงานของหน่วยงานตัวเอง การแก้ไขปัญหาจะใช้เทคนิคเฉพาะงานและความรู้ความสามารถปานกลาง มีค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

                3. Operation Team: จะรับผิดชอบปัญหาที่เกิดจากเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ประจำวัน สามารถแก้ไขปรับปรุงได้เอง แต่ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยได้รับคำแนะนำและช่วยเหลือสนับสนุนจากหัวหน้างาน ใช้ความรู้พื้นฐานทางเทคนิคในการบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเอง มีค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่มีเลย

                เมื่อกลุ่มย่อยระดับต่างๆมีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของกลุ่มตัวเองแล้ว Project Team จะเป็นกลุ่มเริ่มต้นของการค้นหาการสูญเสีย(Loss)ที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยเริ่มทำกิจกรรมที่ Pilot Project ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มแรกจะเริ่มสำรวจตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องจักรต้นแบบและทำการค้นหาการสูญเสียหรือข้อบกพร่องจากการทำงานของเครื่องจักร 7-8 การสูญเสียจาก 16 การสูญเสียหลัก แล้วนำปัญหาระดับต่างๆมาวิเคราะห์และแบ่งให้กลุ่มย่อยระดับ Section และ Operation ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงตามความสามารถและความรับผิดชอบ ส่วนกลุ่มที่2 Pilot Project จะเริ่มสำรวจตรวจสอบประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานเดิมและการปฏิบัติงานของบุคลากรว่าการให้บริการได้ตามมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ และมีการสูญเสีย ข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนอะไรบ้างโดยดูจาก 5 การสูญเสียที่เกิดขึ้นในสำนักงานจาก 16 การสูญเสียหลักของTPM เช่นกันแล้วนำปัญหาระดับต่างๆมาวิเคราะห์และแบ่งให้กลุ่มย่อยระดับ Section และ Operation ช่วยกันแก้ไขปรับปรุงตามความสามารถและความรับผิดชอบเหมือนกันกับกลุ่มแรก ส่วนการสูญเสียอีก 3 การสูญเสียที่เหลือซึ่งจะเป็นการสูญเสียที่เกิดจากหลายฝ่ายหลายหน่วยงานจึงเป็นหน้าที่ของ Project Team รับผิดชอบ การทำกิจกรรมลดหรือขจัดการสูญเสียจะได้ผลมากเมื่อมีการขยายการทำกิจกรรมไปทั่วทุก Small Group ทุกหน่วยงานทั่วทั้งองค์กร เมื่อเรานำการสูญเสียทั้งหมดมารวมกันเราเรียกว่า การสูญเสียโดยรวม(Total Loss)ทำให้เราสามารถมองเห็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นในองค์กรได้ชัดเจน

                การวางระบบกลไกของกลุ่มย่อยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเราวางระบบไม่ดีก็จะไม่สามารถมองเห็น Total Loss ได้ซึ่งการมองไม่เห็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นในองค์กรนับว่าเป็นความเสี่ยงของธุรกิจอย่างมากเพราะนั่นหมายถึงว่าเราไม่รู้เลยว่าต้นทุน(Cost)ที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการของเรามีค่าเท่าใด การกำหนดราคาขายสินค้าหรือบริการของเราขณะนี้อยู่ในสถานะกำไรหรือขาดทุนซึ่งเราควรจะรู้อยู่ตลอดเวลาจะได้ปรับกลยุทธ์ได้ทันท่วงที ดังนั้นการดำเนินการTPM จึงให้ความสำคัญกับการลดและขจัดการสูญเสีย ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายไว้สูงมากคือ ทำให้การสูญเสียเป็นศูนย์ (Zero Loss) เมื่อมีการกำหนดเป้าหมายไว้แล้วก็ต้องหาวิธีการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ TPM จึงกำหนดกิจกรรมไว้ให้ทำ 8 กิจกรรมด้วยกันโดยทุกกิจกรรมจะร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนเป้าหมาย “3 Zero” (เครื่องจักรเสีย ผลิตของเสียและอุบัติเหตุเป็นศูนย์)ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายหลักคือ การสูญเสียเป็นศูนย์นั่นเอง ซึ่งเราสามารถจัดความสัมพันธ์ของ Small Group ระดับต่างๆกับความรับผิดชอบใน 8 กิจกรรมหลักของ TPM มากน้อยดังนี้

 

17670_payap1.jpg

 

               จากตารางความสัมพันธ์ระหว่าง Small Group กับ 8 Pillar จะเห็นว่า Project Team จะให้ความสำคัญในการทำกิจกรรมการลดและขจัดการสูญเสีย (KK) การให้การศึกษาและฝึกอบรมทีมงาน (ET) การควบคุมและป้องกันล่วงหน้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใหม่และเครื่องจักรใหม่(IC) การบำรุงรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไม่ให้มีการร้องเรียนจากลูกค้า (QM) การสนับสนุนการผลิตและบริการของสำนักงานอย่างมีประสิทธิภาพ (OI) และการรักษาความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม (SHE)

                ส่วนSection Team จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบปัญหาระดับกลางที่แบ่งมาจาก Project Team โดยที่แผนกตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ นอกจากหน่วยงานซ่อมบำรุงเท่านั้นที่ฝ่ายหรือแผนกตัวเองต้องรับผิดชอบการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (PM) ให้กับเครื่องจักรของทุกฝ่ายในโรงงานจึงต้องให้ความสำคัญมากและทุกแผนกยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปรับปรุง การให้การศึกษาและฝึกอบรมทีมงานอย่างมาก (ET) รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน สุขอนามัยและความปลอดภัย (SHE) ด้วย

                สำหรับ Operation Team จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยตนเอง (JH) อย่างมากและเน้นการให้การศึกษาและฝึกอบรมพื้นฐานทางเทคนิคการซ่อมและปรับปรุงของเครื่องจักร (ET) และแก้ไขปรับปรุง การรักษาความปลอดภัยในการทำงาน สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม (SHE)

                ในการส่งเสริมให้กลุ่มย่อยสามารถทำกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มย่อยระดับต่างๆควรจะมีความรู้ ความเข้าใจ ความมุ่งมั่น ความพยายาม ความอดทน ในการทำกิจกรรมให้ประสบความสำเร็จ จากแนวคิดในการพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพของ Stephen R. Covey โดยการปรับปรุงอุปนิสัย 7 ประการซึ่งสมาชิกแต่ละคนหรือหมู่คณะของกลุ่มย่อยทุกระดับควรมีคุณสมบัติอุปนิสัย 7 ประการของการทำ TPM อย่างมีประสิทธิภาพติดตัวไว้ดังนี้

                อุปนิสัยที่1. การเป็นนักปฏิบัติการเชิงรุก

 เนื่องจากความสามารถของคนเราแบ่งเป็น2 กลุ่มด้วยกันกลุ่มแรกจะมีความสามารถเชิงรับ(Passive)นั่นคือมีความสามารถในการแก้ไขปัญหา หรือทำงานตามคำสั่งได้ดี ส่วนกลุ่มที่สอง จะมีความสามารถเชิงรุก(Proactive) นั่นคือมีความสามารถในการค้นหาสิ่งผิดปกติ แก้ไขปัญหา จุดบกพร่อง จุดอ่อน หรือจุดที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น(Kaizen) สามารถตั้งโจทย์ กำหนดเป้าหมาย และหาวิธีการทำให้บรรลุเป้าหมายได้ด้วยตนเอง สมาชิกกลุ่มย่อยหรือทีมงานที่จะทำกิจกรรมTPM ถ้าเดิมมีอุปนิสัยเชิงรับมากกว่าเชิงรุก จะต้องฝึกฝนใหม่ให้เป็นนักปฏิบัติการเชิงรุกมากขึ้น พัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นจากการเป็นคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมาเป็นคนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่น Project Team ควรมีความสามารถในการค้นหาการสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานขององค์กร วิเคราะห์และแยกแยะปัญหาหาสาเหตุและแก้ไขปัญหายากๆได้ การค้นหาจุดที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตให้เกิดขึ้นในองค์กร ส่วน Section Team ควรมีความสามารถในการค้นหาการสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการหรือเครื่องจักรในหน่วยงานตนเอง  วิเคราะห์และแยกแยะปัญหาหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาปานกลางได้ ค้นหาจุดที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันและป้องกันการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรได้ ส่วน Operation Team ควรมีความสามารถในการค้นหาสิ่งผิดปกติ(Abnormal) แก้ไขปัญหา จุดบกพร่อง จุดอ่อนหรือจุดที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นสามารถบำรุงรักษาเครื่องจักรที่กลุ่มหรือตัวเองใช้งานได้ด้วยตนเอง

                ในการปฏิบัติงานทุกหน่วยงานจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ ในการปฏิบัติงาน ซึ่ง TPM จะมีขั้นตอนการใช้งานและบำรุงรักษาดังนี้

                1.เรียนรู้ประโยชน์และการใช้งานเครื่องจักรให้ถูกต้อง

                2.ศึกษาโครงสร้างการทำงานและสามารถแก้ไขซ่อมแซมเครื่องจักรได้เมื่อชำรุดเสียหาย

                3.สามารถปรับปรุงดัดแปลง-เปลี่ยนแปลงเครื่องจักรให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

                4.สามารถบำรุงรักษาเชิงป้องกันได้

                5.สามารถบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ได้

จะเห็นว่าข้อ 1-2 เป็นอุปนิสัยเชิงรับของบุคคลธรรมดา แต่ข้อ 3-4-5 เป็นอุปนิสัยของนักปฏิบัติการเชิงรุก

                                                         “ชีวิตข้าฯเป็นของข้าฯข้าลิขิต”

                อุปนิสัยที่ 2. การกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน   

การตั้งเป้าหมายมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน เพราะจุดเริ่มต้นก่อนที่เราจะทำอะไรลงไปเราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของความสำเร็จที่เราต้องการอยู่ที่ตรงไหนดังคำกล่าวที่ว่า “ฝันให้ไกล ไปให้ถึง ซึ่งเป้าหมาย” นั่นหมายความว่า ในการทำกิจกรรมTPM สมาชิกหรือทีมงานจะต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) ที่ทำให้ทุกคนนึกภาพเห็นไปด้วยกันว่าภาพที่เราอยากเห็นในอนาคตจะเป็นอย่างไรเมื่อนึกภาพออกมาชัดเจนตรงกันแล้วจะได้กำหนดภารกิจ (Mission) ที่จะต้องทำให้เกิดผลขึ้นมาสมาชิกทุกคนจะได้รู้ว่าแต่ละคนจะต้องช่วยกันทำอะไรบ้างงานจึงจะสำเร็จบรรลุตามเป้าหมาย (Target)

                ในการทำกิจกรรมTPM การกำหนดเป้าหมายจะต้องมีการเปรียบเทียบจากผลการปฏิบัติงานเดิมก่อนลงมือทำ TPM เราเรียกกันว่า Bench Marking (BM) เมื่อรู้ค่าตัวเลขเดิมแล้วจึงจะมีการกำหนดเป้าหมาย(Target) กำหนดตัวเลขใหม่โดยใช้ระยะเวลาเป็นตัวเปรียบเทียบเช่น เป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้เมื่อมีการดำเนินการไปถึงกำหนดระยะเวลาก็จะต้องวัดผลการปฏิบัติจริง(Actual) ว่าบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ดังนั้น Small Group ทุกระดับจะต้องเรียนรู้วิธีการกำหนดเป้าหมายให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรใน 8 กิจกรรมของ TPM จะต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนซึ่งTPM จะใช้หัวข้อในการวัดเป็น P,Q,C,D,S,M,E

                ในการดำเนินชีวิตก็เหมือนกันเราจะต้องหยั่งรู้ถึงเป้าหมายชีวิตของตนเอง มองเห็นคุณค่าของตนเองเพิ่มพลังภายในให้ตนเองด้วยการสร้างความสำเร็จแม้งานเล็กๆก่อนทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจ ถ้ามีอุปสรรคใดๆเกิดขึ้นในระหว่างการทำกิจกรรม ก็อย่าคิดน้อยใจ เสียใจ เบื่อ กลุ้มใจ เพราะความคิดด้านลบนี้จะบั่นทอนพลังใจของตัวเราให้ลดลงไปเรื่อยๆไม่มีประโยชน์กับชีวิตเราเลย สุดท้ายก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย

                                                                “จักตั้งจิตคิดค้นหาเป้าหมาย”

 

 

                อุปนิสัยที่ 3. การจัดลำดับความสำคัญของงานให้เหมาะสม  

จากตารางความสัมพันธ์ระหว่าง Small Group และ 8 Pillar สมาชิกกลุ่มย่อยที่จะทำ TPM จะต้องรู้ว่ากลุ่มของเราจะต้องรับผิดชอบทำกิจกรรมอะไรกันบ้างใน 8 กิจกรรมนั่นคือพวกเรารู้ว่า งานสำคัญหลักของกลุ่มมีอะไรบ้าง งานที่ต้องมีส่วนร่วมมีอะไรบ้างและงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ความสำเร็จของการทำงานประกอบด้วย สิ่งสำคัญและเวลาที่กำหนดเสร็จ สิ่งสำคัญประกอบด้วย วิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย ส่วนเวลาที่กำหนดเสร็จประกอบด้วย ความเร่งด่วนหรือไม่ด่วน(ปกติ)ขึ้นอยู่กับความต้องการและการตอบสนองให้กับลูกค้า ความสัมพันธ์ของสิ่งสำคัญและความเร่งด่วนเราสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ

  1. สำคัญ-ด่วน              2.สำคัญ-ไม่ด่วน      3.ไม่สำคัญ-ด่วน     4. ไม่สำคัญ-ไม่ด่วน

การจัดลำดับความสำคัญของงานกลุ่มย่อยระดับต่างๆต้องพิจารณางานของตัวเองให้ดีจาก ตารางความสัมพันธ์ SG / 8 Pillars

                Project Team : งานประเภทที่ 1  จะเป็น Pillar KK,QM,OI,SHE  งานสำคัญ-ด่วน เช่น ผลิตสินค้าส่งลูกค้าไม่ทันเวลา ไม่มีวัตถุดิบส่งให้ฝ่ายผลิต เครื่องจักรชำรุดเสียหายระหว่างการผลิต ผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพตามข้อกำหนดของลูกค้า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติงาน ส่วนงานประเภทที่ 2 จะเป็น Pillar ET,IC,PM เช่นงานสำคัญ-ไม่ด่วน การฝึกอบรมทีมงาน การป้องกันล่วงหน้าในการจัดหาเครื่องจักรใหม่  การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน สำหรับงานประเภทที่ 3,4 ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเกรงใจใครควรละเว้นเสียบ้างหรือตัดออกไปเลยเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยเสียเวลาเปล่า(Muda)จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

                Section Team: งานประเภทที่1 จะเป็น Pillar PM,ET,SHE  งานสำคัญ-ด่วนเช่น มีเครื่องจักรชำรุดเสียหายระหว่างการผลิต  การจัดฝึกอบรมทีมงานให้มีความรู้ความสามารถทำกิจกรรม TPM ได้โดยเร็ว การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ส่วนงานประเภทที่ 2 จะเป็น Pillar KK,JH,IC,QM,OI งานสำคัญ-ไม่ด่วน เช่น การลดและขจัดการสูญเสีย การบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเอง การป้องกันล่วงหน้าในการจัดหาเครื่องจักรใหม่  การบำรุงรักษาคุณภาพสินค้า  การปรับปรุงสำนักงาน สำหรับงานประเภทที่ 3,4 ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเกรงใจใครควรละเว้นเสียบ้างหรือตัดออกไปเลยเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยเสียเวลาเปล่า (Muda) จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเช่นกัน

                Operation Team: งาประเภทที่1 จะเป็น Pillar JH,ET,SHE งานสำคัญ-ด่วน เช่น การค้นพบความผิดปกติของเครื่องจักร(Abnormal) การจัดฝึกอบรมทีมงานให้มีความรู้ความสามารถทำกิจกรรม TPM ได้โดยเร็ว การเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ส่วนงานประเภทที่ 2 จะเป็น Pillar KK,PM,OI  งานสำคัญ-ไม่ด่วนเช่น การปรับปรุงเพื่อลดความยากลำบากในการทำงาน การบำรุงรักษาตามระยะเวลา การปรับปรุงพื้นที่ปฏิบัติงาน(5ส)สำหรับงานประเภทที่ 3,4 ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องเกรงใจใครควรละเว้นเสียบ้างหรือตัดออกไปเลยเพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยเสียเวลาเปล่า (Muda) จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเช่นกัน

                ในการปฏิบัติงานกลุ่มย่อยทุกระดับไม่ควรให้งานมาตกอยู่ที่ประเภทที่ 1 มากเกินไปเพราะจะทำไม่ทันมีแต่เรื่องสำคัญ-ด่วน มากมายไม่รู้จะตัดสินใจทำอะไรก่อน จะเกิดความเครียด คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ควรพยายามวางแผนและปรับปรุงลำดับงานให้ดีให้งานมาอยู่ประเภทที่ 2 คือ สำคัญ-ไม่ด่วน ให้มากๆ กลุ่มย่อยทุกระดับจะได้ทำงานด้วยความสบายใจ มีความสุขในการทำงานจะได้มีเวลาเหลือไปทำกิจกรรม TPM กัน

                                        “ มุ่งทำแต่สิ่งสำคัญมั่นมิวายเป็นหลักชัย 3 ข้อแรกพิชิตตน”

                อุปนิสัยที่4: มีแนวคิดชนะไปด้วยกัน    

 สมาชิกที่จะมาทำกิจกรรมTPM จะต้องเข้าใจดีว่าการทำงานใหญ่ๆระดับองค์กร ฝ่าย แผนกหรือกลุ่มให้สำเร็จได้จะต้องอาศัยความร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานเราไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้เพียงลำพังคนเดียว แต่เนื่องจากสมาชิกที่มาทำงานร่วมกันแต่ละคนจะมีกระบวนทัศน์ (Paradigm) ที่แตกต่างกันไปซึ่งกระบวนทัศน์จะประกอบด้วย ภูมิหลัง ความเชื่อ วัฒนธรรม ประสบการณ์ สติปัญญา การศึกษา ความรู้ และการเรียนรู้ ความแตกต่างๆนี้เองมีทั้งข้อดีและเสียถ้าแตกต่างกันน้อยการระดมสมองก็รวมตัวกันได้ง่ายแต่ถ้าแตกต่างกันมากการระดมสมองก็รวมตัวกันยากหน่อย ดังนั้นสมาชิกต้องพัฒนาตนเองด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์(Paradigm Shift)ให้เป็นคนที่ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยใช้แนวคิด ชนะ-ชนะ (Win-Win) ไปด้วยกันการทำงานกลุ่มจึงจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ Project Team ซึ่งจะต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่ายหลายแผนกร่วมกัน การค้นหาปัญหาและแก้ไขปรับปรุงจะต้องประสานงาน ชี้แจงสาเหตุ ความจำเป็นกันให้ดีเพราะแต่ละฝ่ายก็ไม่ต้องการให้ฝ่ายอื่นมองเห็นปัญหาและข้อบกพร่องของตนเอง การเปิดใจกว้างยอมรับความบกพร่องเพื่อหาแนวทางแก้ไข-ปรับปรุงให้เกิดขึ้นในกลุ่มเรื่องแบบนี้ต้องฝึกฝนเพราะคนส่วนใหญ่ยังทำใจยาก ถ้าเราเริ่มต้นก่อนสมาชิกคนอื่นๆก็จะกล้าที่จะเปิดเผยข้อบกพร่องของตนเองออกมาให้คนอื่นทราบหรือช่วยชี้จุดบกพร่องของหน่วยงานอื่นให้ทุกคนรับทราบเช่นกัน ถ้าบรรยากาศของการประชุมระดมสมองของแต่ละกลุ่มเป็นแบบนี้ การแก้ไข-ปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือบริการก็ไม่ใช่เรื่องยาก ประสิทธิภาพการทำงานก็จะดีขึ้นกับทุกๆฝ่ายมีแต่ฝ่ายชนะทั้งหมดไม่มีฝ่ายใดแพ้เลยเพราะทุกฝ่ายช่วยกันทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเดียวกัน ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมร่วมกันจะทำให้ทุกๆคนมีความรู้สึกที่ดีต่อกันและกันเป็นการสร้าง บัญชีความรู้สึกที่ดีฝากไว้ในใจของสมาชิก(Emotion Bank Account : EBA ) ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นทุกคนก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่มีข้อต่อรองใดๆเช่น ความร่วมมือของฝ่ายผลิตและฝ่ายสนับสนุนการผลิตในการลดเวลาการรอรับสินค้าให้กับลูกค้าทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้น หรือความร่วมมือของฝ่ายผลิตและฝ่ายซ่อมบำรุงทำกิจกรรมการบำรุงรักษาเชิงป้องกันร่วมกันทำให้เครื่องจักรชำรุดเสียหายระหว่างการผลิตเป็นศูนย์เป็นต้น

                                                      “เพียรสรรค์สร้างทางร่วมชัยให้เกิดผล”

                อุปนิสัยที่ 5: พยายามเข้าใจผู้อื่นก่อนที่จะให้ผู้อื่นเขามาเข้าใจเรา

ในการประชุมกลุ่มย่อย ระดมสมอง ขอความคิดเห็น เพื่อหาแนวทางแก้ไข-ปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นมาในหน่วยงาน ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน สามารถนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามความคิดของแต่ละคนได้ตามหลักของการระดมสมองแบบ QC การเป็นนักฟังที่ดีและทำความเข้าใจการนำเสนอของสมาชิกด้วยความตั้งใจ ไม่ไปปฏิเสธหรือคัดค้านระหว่างที่เพื่อนนำเสนอแม้ว่าจะไม่มีเหตุผลสนับสนุนหรือไม่ถูกต้องก็ตามเป็นคุณสมบัติของสมาชิกที่ดี ส่วนการนำเสนอความคิดเห็นของเราอาจเหมือนหรือแตกต่างจากสมาชิกคนอื่นๆก็ได้เป็นเรื่องธรรมดาแต่ต้องมีจุดยืนมีเหตุผลสนับสนุนและสร้างสรรค์ เพราะเป้าหมายของทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือการแก้ไข-ปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จ วิธีการอาจจะแตกต่างกันบ้าง บางขั้นตอนอาจร่วมทางกันได้กับการนำเสนอของสมาชิกคนอื่นๆพยายามหาทางร่วมชัยให้เกิดขึ้น(win-win) ตามเหตุผลความเป็นจริงเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานไม่เกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่การทำงานแต่อย่างใด

                การทำความเข้าใจผู้อื่นก่อนเป็นคุณสมบัติของผู้นำ ผู้บริหารระดับต่างๆตามสายงานบังคับบัญชา    ( Hierarchy System) จะต้องทำความเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีเพราะการทำกิจกรรม TPM เป็นการสร้างและพัฒนาคนเก่งและดีขึ้นมาในองค์กรเอง ไม่ต้องไปหาซื้อตัวคนเก่งมาจากองค์กรอื่นแต่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง แต่การจะรักษาคนเก่งและดีให้อยู่กับองค์กรได้นานมากน้อยแค่ไหนเป็นหน้าที่ของผู้บริหารจะต้องมีความเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชาก่อนว่าเขาต้องการอะไร ทำอย่างไรเขาจึงจะอยู่ช่วยงานเราได้นานๆไม่ใช่ให้เขาต้องมาเอาอกเอาใจเรา เห็นใจเราก่อนเพื่อตำแหน่งหน้าที่ของเรา เพราะพนักงานทุกคนมีเป้าหมายชีวิตของเขาเอง ทุกคนต้องการความก้าวหน้าในอาชีพและตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ต้องการเพิ่มทักษะและความรู้ความสามารถให้กับตนเอง  ต้องการความมั่นคงและความปลอดภัย เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นนั่นเอง ผู้บริหารต้องเข้าใจเขาก่อน แต่ผู้บริหารก็ต้องพิจารณาให้ผลตอบแทนอย่างชาญฉลาดเพราะไม่สามารถให้ได้กับทุกๆคนเสมอกันขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละคนซึ่งผู้บริหารต้องอธิบายให้เขาเข้าใจเราถ้าเขาไม่ได้ตามที่เขาต้องการจะได้เข้าอกเข้าใจกันและเติบโตก้าวหน้าไปด้วยกัน “Grow Beyond”

                                                           “เข้าใจเขาก่อนให้เขาเข้าใจตน”

                อุปนิสัยที่ 6: ผนึกกำลังเพื่อสร้างสรรค์  

 ในการดำเนินการTPM การผนึกกำลังมีความสำคัญมาก เมื่อผู้บริหารระดับสูงมีนโยบายว่าจะนำTPM เข้ามาใช้ในองค์กรแล้วมีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมTPM ขึ้น(TPM Promotion Committee) และคณะอนุกรรมการ(Sub-Committee) ซึ่งคณะกรรมการทั้งสองคณะจะต้องผนึกกำลังกันดำเนินกิจกรรม TPM อย่างสร้างสรรค์ โดยคณะกรรมการส่งเสริมฯซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับฝ่ายขึ้นไปจะทำหน้าที่ถ่ายทอดนโยบายลงไปตามสายงาน(Overlapping Small Group) โดยใช้ Key Performance Indicator ( Kpi) เป็นเครื่องมือวัดผลงานที่เกิดขึ้นจากP,Q,C,D,S,M,E ส่วนคณะอนุกรรมการทำหน้าที่เป็นผู้เสริมหรือเพิ่มพลังให้กับกลุ่มย่อยระดับต่างๆโดยมีกิจกรรม 8 Pillar ของ TPM เข้าไปสนับสนุนกลุ่มย่อย ด้วยการให้ความรู้และให้คำแนะนำปรึกษาและใช้ Key Activity Indicator ( Kai ) เป็นเครื่องมือวัดผลให้กับ Pillar ต่างๆ

                สำหรับกลุ่มย่อยเองการผนึกกำลังกันทำกิจกรรมTPM ให้สำเร็จจะขึ้นอยู่กับสมาชิกว่าได้รับการพัฒนาและฝึกฝนตนเองให้มีอุปนิสัยที่ 1,2,3,4,5 มาดีและใช้งานได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสมาชิกทุกคนในกลุ่มพัฒนาตนเองมาดีรู้จักผนึกกำลัง ผนึกความคิด ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนและยึดหลักความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ให้ความร่วมมือกัน พลังแห่งความสามัคคีจะทำให้ Kpi เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีทุกหัวข้อเรื่อง

                              “มุ่งรวมพลรวมพลังสามัคคี”     “แต่ข้าฯนี้ใช่เดียวดายในโลกกว้าง”

      อุปนิสัยที่ 7 : เตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพให้กับร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ

                ในการดำเนินการTPM ให้สำเร็จจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3ปีสมาชิกที่จะทำกิจกรรมจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ TPM จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อไปพัฒนาเครื่องจักรและกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

อันดับแรกที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนก็คือ สุขภาพร่างกาย การทำกิจกรรม TPM ร่างกายจะต้องแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จะต้องดูแลเรื่องโภชนาการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สะอาดถูกสุขอนามัย ไม่เสพสิ่งเสพติดทั้งหลายที่ทำลายสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจรักษาสุขภาพเชิงป้องกันเป็นประจำ

อันดับที่ 2.สติปัญญา การทำกิจกรรม TPM ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ไขปรับปรุง (Kaizen) การทำงานและเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้งานของตัวเองได้ ดังนั้นสมาชิกต้องศึกษาเรียนรู้ฝึกฝนตนเองตามโปรแกรมที่ทาง Pillar ET จัดเตรียมไว้ให้อย่างเข้มแข็งเพราะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและหน่วยงานเมื่อเราต้องไปผนึกกำลัง (Synergy) กับเพื่อนร่วมงานในกลุ่มย่อยของเรา

                หลักสูตรที่ใช้พัฒนาบุคลากรในการทำกิจกรรม TPM อย่างมีประสิทธิภาพ

17670_payap2.jpg

 

อันดับที่3.จิตใจ การทำTPM ต้องใช้ความพยายามและอดทน ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายมีทั้งแก้ไขได้ง่ายและยาก หรืออาจแก้ไม่ได้ก็มีบางครั้งอาจต้องทำคนเดียวหรือบางครั้งอาจต้องร่วมมือกับเพื่อนสมาชิกหลายคนอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างในการระดมความคิดถ้าสมาชิกยังไม่ได้ฝึกอุปนิสัยที่ 4,5,6 หรือยังฝึกได้ไม่ดีจะทำให้เกิดความเครียดขึ้นได้ เราต้องรู้จักรักษาศูนย์บัญชาการของเราไว้(จิตใจ) ไม่ให้เกิดความท้อถอย หมดกำลังใจไปเสียก่อน พยายามรักษาใจให้สดใสอยู่เสมอ รู้จักผ่อนคลาย ปล่อยวางเสียบ้างด้วยการนั่งสมาธินำจิตมาอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฟังเพลง(Let It Be) หรืออยู่กับธรรมชาติ ให้จิตใจได้พักผ่อนสักนิดแม้เวลาสั้นๆ 1-5 นาทีก็ได้จะทำให้จิตใจแจ่มใสขึ้นพร้อมที่จะทำงานต่อได้

อันดับที่4. สังคมและอารมณ์ พื้นฐานทางอารมณ์ในชีวิตของคนเรานั้นได้รับการพัฒนามาจากลักษณะความสัมพันธ์ของตัวเรากับบุคคลอื่น มีการสื่อสารกันอย่างเข้าอกเข้าใจและร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ตามอุปนิสัยที่ 4,5,6  การทำกิจกรรมTPM ต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในกลุ่มและกลุ่มอื่นๆที่มีการทำงานสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน รวมทั้งบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกันเช่น Supplier ,Customer  หรือ ชุมชนรอบๆโรงงาน การช่วยเหลือให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเป็นเรื่องที่ควรกระทำเพราะทุกคนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันในสังคม

                        “ต้องไม่ลืมว่าตนนี้มีคุณค่า รู้รักษากายาใจให้ผ่องศรี”

สรุปอุปนิสัย 7 ประการในการทำกิจกรรมTPM อย่างมีประสิทธิภาพที่กล่าวมานี้เป็นพัฒนาการของบุคคลจากคนที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยอยู่ในกรอบความคิดของคำว่า “คุณ” เช่น คุณจะให้ผมทำอะไร คุณต้องไปช่วยผม เป็นต้น เมื่อเราเรียนรู้ฝึกฝนอุปนิสัยที่ 1,2,3 ดีแล้วก็จะพัฒนามาเป็นคนที่พึ่งพาตนเองได้โดยอยู่ในกรอบความคิดของคำว่า “ฉัน” เช่น ฉันสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ฉันรับผิดชอบเอง เป็นต้น และเมื่อเราเรียนรู้ฝึกฝนมาถึงอุปนิสัยที่ 4,5,6  ก็จะพัฒนามาเป็น การพึ่งพาซึ่งกันและกันของบุคคล โดยจะอยู่ในกรอบความคิดของคำว่า “เรา” เช่น พวกเราทำได้ เราร่วมมือกันได้ เป็นต้นและสุดท้ายอุปนิสัยที่ 7 เติมพลังชีวิตตนเองให้สมดุล หมั่นศึกษาเรียนรู้ ปรัชญาของ TPM ให้ลึกซึ้งนำไปสู่การปฏิบัติที่บังเกิดผลดีที่สุด ซึ่งอุปนิสัย 7 ประการนี้มีอยู่ในตัวของเราทุกคนแล้ว แต่การที่จะเปลี่ยนหรือออกจากกรอบความคิดภายในตัวเราเอง (Paradigms Shift) และนำมันมาใช้ให้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ เราจำเป็นจะต้องมองสิ่งต่างๆในมุมมองใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับกรอบความคิดใหม่ นี่คือบุคลากรที่องค์กรTPM ต้องการ

                         “บ่มให้เป็น 7 นิสัยปานคีรี ผลความดีจะประสิทธิแก่ข้าฯเอง”

จากการเขียนบทความมา 2 เรื่องแล้วคือ 5ส และ TPM ผมสังเกตดูมีผู้เปิดอ่านเป็นจำนวนมากเช่น การทำกิจกรรม 5ส  142,156 ครั้ง และแนวคิดในการทำTPM ขณะนี้(14 Sep 12) 8,462 ครั้งแต่มีผู้ให้ Comment น้อยมาก(อ่านกันเงียบมาก นี่คือคนไทย ไม่รู้ตั้งใจอ่านหรือเปิดผ่านๆไป) ผมเลยไม่มั่นใจว่าที่เขียนไปมีประโยชน์หรือไม่ ถ้าผู้อ่านพอมีเวลาก็ช่วย Comment กลับมาบ้างสั้นๆก็ได้ครับจะดีมากเราจะได้มีบรรยากาศเป็นกันเองมากขึ้น ผมเองก็จะได้ทบทวนตัวเองว่าควรจะเขียนบทความนี้ต่อแบบไหนหรือไม่ และถ้าผู้อ่านต้องการรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมอีกที่ผมยังไม่ได้เขียนก็บอกเล่ากันมาได้ครับ

                               

                                                                                                                                                                พยัพ มาลัยศรี

                                                                                                                                                ที่ปรึกษาอุตสาหกรรม สสท.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที