นิชาภา

ผู้เขียน : นิชาภา

อัพเดท: 05 ต.ค. 2009 08.45 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6706 ครั้ง

บทความนี้ มุ่งนำเสนอและทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ในแง่มุมต่าง ๆ อันได้แก่ ความหมายและความสำคัญของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเป็นมาของการนำระบบดังกล่าวมาใช้ในภาคราชการไทย หลักการของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ องค์ประกอบของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ และอื่น ๆ โดยเฉพาะความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ความเชื่อมโยงกับการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์ และสิ่งสำคัญที่พึงระวังซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคให้เกิดความล้มเหลวต่อการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ และยังชี้ให้เห็นเป็นการทบทวนถึงการปรับใช้องค์ความรู้เรื่องดังกล่าวในระบบบริหารภาครัฐไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยองค์ความรู้ในเรื่องนี้ปัจจุบันนับได้ว่ามีพลวัตที่ค่อนข้างสูง ตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงไปของหลักการพื้นฐานด้านรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารจัดการภาครัฐ รวมตลอดจนถึงแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของภาคเอกชนที่หลายหน่วยงานภาครัฐใช้เป็นต้นแบบและนำมาปรับใช้กับองค์การภาครัฐเพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสำเร็จในการบริหารกิจการสาธารณะ อย่างไรก็ดี บทความนี้ ไม่ได้มุ่งเนื้อหาในเชิงทฤษฎีมากนักเนื่องจากมักเป็นที่เข้าใจยากโดยเฉพาะในแง่ของการทบทวน หรือการขยายขอบเขตไปวิพากษ์แนวคิดทฤษฎี และการวิพากษ์ผลการนำระบบการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ไปใช้ในระบบราชการไทย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ย่อมมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเห็นต่างกันไปบ้าง และในประการหนึ่งนั้น แม้ในความเป็นจริงที่แนวคิดเรื่องการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์จะได้รับการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับบุคลากรภาครัฐไทยในแง่ผู้ปฏิบัติเอง กลับน่าจะมีไม่มากนักที่จะเข้าใจกับมันอย่างลึกซึ้งมากไปกว่าการรับคำสั่งจากหน่วยเหนือหรือผู้บังคับบัญชาระดับบนมาปฏิบัติ


การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้สัมฤทธิ์ผล ตอนที่ 6

ประโยชน์ของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

 

ในเอกสารเรื่อง “การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์”  ของกลุ่มพัฒนาระบบบริหารและสถาบันพัฒนาการชลประทาน (2546) ได้นำเสนอให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำระบบการบริหารดังกล่าวไว้ได้แก่

1) ช่วยให้ผู้บริหารรู้ตำแหน่งขององค์การ  ผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องทราบว่าองค์การอยู่ ณ ตำแหน่งใด ใกล้หรือไกลจากเป้าหมายหรือจะบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การหรือไม่ การบริหารแบบนี้  จุช่วยให้ผู้บริหารของส่วนราชการทั้งหลายรู้ว่าองค์การกำลังปฏิบัติงานงานได้ดีเพียงไร งานที่ปฏิบัติมุ่งตรงไปสู่เป้าประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่  ประชาชนผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประโยชน์มีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงานที่อาจจะวัดจากคุณภาพของการให้บริการขององค์การเพียงไร การปฏิบัติงานภายในองค์การอยู่ในความควบคุมหรือไม่  และควรปรับปรุงการปฏิบัติงานที่ใดบ้าง นอกจากนี้ การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ ยังช่วยให้ผู้บริหารได้ทราบความคืบหน้าของงานนั้นว่าเป็นไปในทิศทางที่กำหนดหรือไม่  เกิดผลที่ใกล้เคียงสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และสะท้อนไปถึงวิสัยทัศน์ขององค์การเพียงใด  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันของการดำเนินงาน

2) สนับสนุนองค์การให้บรรลุวิสัยทัศน์  ระบบงานประยุกต์ของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ (RBM Application) ที่องค์การหลายแห่งอาจจะพัฒนาขึ้นบนระบบสารสนเทศภายในองค์การ จะช่วยให้ผู้บริหารได้เห็นถึงรายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานนี้เป็นเสมือนสัญญาณเตือนให้ผู้บริหารรู้ว่าขณะนี้ผลการปฏิบัติงานขององค์การ กำลังมุ่งตรงไปสู่วิสัยทัศน์ที่กำหนดหรือผลการปฏิบัติงานตํ่ากว่าเป้าหมายเพื่อให้ผู้บริหารเร่งดำเนินการแก้ไข

3) แปลงกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ  ขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาระบบการบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ คือ การกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จและตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักเพื่อวัดผลการปฏิบัติงานขององค์การเปรียบเทียบกับเป้าหมาย องค์การสามารถนำวิธีการนี้ไปช่วยทำให้กลยุทธ์ที่กำหนดไว้ในแผนกลยุทธ์ขององค์การเป็นจริงในทางปฏิบัติ  โดยการแตกกลยุทธ์ออกเป็นแผนปฏิบัติการและแผนงาน/โครงการ พร้อมทั้งแบ่งมอบความรับผิดชอบให้หน่วยงานต่าง ๆ แล้วจึงวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานตามกลยุทธ์ตามตัวชี้วัดผลการดำเนินงานหลักที่กำหนดไว้

4) ให้ข้อมูลเพื่อการสื่อสารและสร้างความเข้าใจ  การบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์นี้ จัดว่าเป็นเครื่องมือของการสื่อสารการดำเนินงานขององค์การที่มีประโยชน์ทั้งสำหรับภายในและภายนอกองค์การ   ภายในองค์การ  ตัวชี้วัดผลงานหลักจะช่วยสะท้อนผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ภายในเพื่อให้ให้ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่เข้าใจเป้าหมายขององค์การ ตระหนักถึงความสำคัญของงานที่รับผิดชอบ และรู้ว่าผลงานของตนส่งผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานในภาพรวมขององค์การ ทัศนะเหล่านี้ทำให้ผู้บริการและเจ้าหน้าที่เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนผู้รับบริการ  ส่วนการสื่อสารกับภายนอกองค์การนั้น ข้อมูลผลการปฏิบัติงานแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนความเหมาะสมของเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการให้บริการขององค์การ ผู้บริหารสามารถให้ข้อมูลเหล่านี้แก่ทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

5) สร้างพันธะรับผิดชอบของผู้บริหาร ข้อมูลที่ได้รับจาการวัดผลการปฏิบัติงานเทียบกับเป้าหมายเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ช่วยให้ผู้บริหารมุ่งความสำคัญไปที่ผลผลิตและผลลัพธ์เพิ่มความโปร่งใสให้กับการปฏิบัติราชการ ทำให้ส่วนราชการเห็นความสำคัญของการบริหารจัดการผลการปฏิบัติงาน (Performance Management)  เพื่อความคุ้มค่าต่องบประมาณ ประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานและการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวิสัยทัศน์ และทำให้ผู้บริหารระดับสูงไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่มีต่อความสำเร็จ/ความล้มเหลวขององค์การ

6) จัดสรรงบประมาณได้ตรงกับความต้องการ และสถานการณ์ที่เป็นจริง การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นประโยชน์โดยตรงต่อการตัดสินใจจัดสรรและบริหารงบประมาณ องค์การสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าโครงการประโยชน์ของกิจกรรม ประสิทธิภาพและความสามารถในการให้บริการที่เพิ่มขึ้นโดยเทียบผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมาย

7) ให้ข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย อย่างเป็นระบบ รวมทั้งสนับสนุนผู้บริหารให้ตัดสินใจกำหนดนโยบาย ได้ตรงตามความต้องการของประชาชนผู้รับบริการ การบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ข้อมูลว่าองค์การควรเลือกทางเลือกใดในการให้บริการ ทางเลือกใดมีประสิทธิผลหรือความยากง่ายต่อการบรรลุมาตรฐานบริการเพียงไร

จากที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างนี้  ผู้เขียนขอสรุปถึงประโยชน์ของการบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ใน 3 ประการหลักได้แก่ (1) ประโยชน์ในการวางแผนและการตัดสินใจ ซึ่งเป็นผลจากการประเมินอย่างเป็นระบบ ข้อมูลที่ได้เหล่านี้  จะช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ นโยบาย รวมทั้งเป้าหมายในการดำเนินงานได้อย่างถูกต้อง (2) ประโยชน์ในแง่การดำเนินงาน การกำหนดตัวชี้วัดผลงานตามระบบบริหารแบบนี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้ว่าเขาถูกคาดหวังจากองค์การอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลจากตัวชี้วัดผลงานที่กำหนดไว้นั้น จะกระตุ้นให้กระตุ้นให้บุคลากรขององค์การ ตระหนักถึงความสำคัญของงานที่รับผิดชอบ มีจิตสำนึกของการทำงานเพื่อให้ผลการปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัด ดำเนินงานหลัก และการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารใช้ติดตามความก้าวหน้าของผลการปฏิบัติงาน ผู้บริหารสามารถนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจปรับกลยุทธ์ขององค์การให้สอดรับกับสภาวการณ์ที่เผชิญอยู่เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ภายในเวลาที่กำหนด และ (3) ประโยชน์ในแง่การควบคุม ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารทราบว่าองค์การกำลังมุ่งเดินไปในทิศทางใดที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ วิสัยทัศน์ที่วางไว้หรือไม่ ประชาชนผู้รับบริการได้รับความพึงพอใจจากการให้บริการหรือไม่ เพียงใด  และจะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง เป็นต้น


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที