ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 11 เม.ย. 2011 10.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 37796 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


(ตอนเดียวจบ)

มีนักศึกษาปริญญาโทท่านหนึ่ง เข้าใจว่าน่าจะเรียนในสายการบริหารจัดการ หรือการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ถามผมมาทางเมล์ว่า กำลังทำวิจัยระดับปริญญาโท ควรเลือกที่จะทำในเรื่องอะไรหรือพูดง่าย ๆ ก็คือ หัวข้อประมาณไหน

 

ผมขอตอบตามความเข้าใจและประสบการณ์ผ่านทางนี้ก็แล้วกันครับ เผื่อไว้ว่า ท่านอื่น ๆ จะได้อ่านและใช้ประโยชน์ด้วย

 

ก่อนอื่น ผมออกตัวก่อนว่า ผมเพียงให้ความเห็น โดยอ้างอิงจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญนะครับ  ท่านผู้อ่านโปรดนำไปไตร่ตรองและปรึกษาความเป็นไปได้ที่จะทำใน details กับอาจารย์ที่ปรึกษาอีกครั้งนึงจะเป็นการดี  อย่าลืมครับว่า อาจารย์ที่ปรึกษาไม่ได้รอบรู้ไปเสียทุกเรื่อง จะมีเรื่องที่อยู่ในขอบข่ายความรอบรู้อยู่เหมือนกัน แต่ในหลักการพื้นฐานทั่ว ๆ ไปนั้น อาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่าน  ให้คำปรึกษาเป็นอย่างดีได้เช่นเดียวกันหมด

 

ในการวิจัยทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management Research) นั้น ผมคิดว่าไม่ได้แตกต่างไปจากการวิจัยในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์อื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการ หรือบูรณาการเอาความรู้ของสาขาวิชา หรือองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ มาใข้เพื่อทำความเข้าใจและปรับใช้ประโยชน์ในการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งหลายทั้งปวงในวงข่ายของงานด้านนี้นั่งเองครับ  ซึ่งก็สามารถทำได้ทั้งในลักษณะของการวิจัยหลัก (Basic or Exploratory research) เพื่อสร้างองค์ความรู้ และทฤษฎี หรือการวิจัยประยุกต์ (Applied or Operational research) เพื่อเน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหาร/การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  ซึ่งในแง่ของรูปแบบการวิจัย นั้น ผู้รู้หลายท่านอย่าง  Flippo, De Cenzo & Robbins, Mondy & Noe บอกเอาไว้ว่า ผู้วิจัยเลือกใช้ได้ทั้งในแบบการวิจัยแบบทดลอง (Controlled experiments) หรือการวิจัยสำรวจ (Survey) ซึ่งนิยมทำกันอย่างมากในแบบการทำวิจัยมือใหม่ของนักศึกษาระดับปริญญาโท  อย่างไรก็ตาม  ก็ยังมีให้เห็นบ้างที่นักศึกษาระดับปริญญาโทจะทำงานวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical studies) โดยเน้นการศึกษาค้นคว้าจากข้อมูลทุติยภูมิ  การวิจัยกรณีศึกษา (Case studies) ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาเป็นรายกรณี

 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า ควรเลือกที่จะทำงานวิจัยเรื่องใด ขอตอบตามความเห็นของกูรู เช่น Flippo และ Mondy & Noe ซึ่งกูรูเหล่านี้ท่านมอบว่า  เรื่องที่เราควรเลือกทำวิจัยนั้น น่าจะเป็นเรื่องของการจัดหาบุคลากร (Procurement) คือจะมีเครื่องมืออย่างไร วิธีการแบบไหน เป็นตัวแบบ หรือโมเดล เพื่อที่จะให้การสรรหาและเลือกสรรบุคลากรก่อให้เกิดผลในเชิงการเพิ่มผลผลิต (increase productivity) ขององค์การได้  รวมทั้งอาจจะเลือกศึกษาในแง่ของการพัฒนา (Development) ระบบการจ่ายค่าตอบแทน (Compensation) ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากร และเป็นแนวทางที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานในองค์การได้อย่างแท้จริง  เป็นต้น  ผมคิดว่า  เมื่อได้หัวข้อมาแล้ว ก็ต้องมาคิดต่อว่า ในหัวข้อนั้น เราต้องการให้งานวิจัยพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาอย่างไร ในแง่มุมหรือประเด็นไหน นั่นเอง  ยกตัวอย่าง หากจะทำงานวิจัยเรื่อง Package ของสวัสดิการและค่าตอบแทนพิเศษที่จูงใจให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน กรณีศึกษาบริษัท A แบบนี้ก็ใช้ได้  แต่จะให้กว้างก็อาจจะเป็นของธุรกิจ B ซึ่งมอบภาพรวมของธุรกิจ เป็นต้น  แต่น่าเสียดายครับ ที่เราเห็นแต่งานวิจัยสอบถามความคิดเห็นจำพวกความคิดเห็นของพนักงาน...ต่อการใช้โปรแกรมการฝึกอบรมแบบ OJT อะไรแบบนี้  อาจารย์บางท่านวิจารณ์ว่า หัวข้อแบบนี้ก็แค่ให้จบตามหลักสูตร  และหากให้ผมวิจารณ์ว่าประเด็นของการวิจัยในด้านการบริหาร/การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สถาบันใดดูดีมาก ผมขอตอบว่า NIDA ครับ ไม่เชื่อต้องลองไปดูในปีตั้งแต่ 2551 เป็นต้นมา  เสียดายที่ผมไม่ได้เป็นศิษย์ NIDA ครับ เพราะไม่มีเงินเรียน....

 

นอกเหนือจากนี้  ท่านอาจจะวิจัยปัจจัยที่ส่งผลต่อแนวโน้มการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในอนาคตก็ได้ครับ เช่น ดูว่า ปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์ (Demographic factor) ได้แก่เรื่องคุณภาพของประชากร ความเสมอภาคในโอกาสเข้าทำงาน (Affirmative action)  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological factor) หรือเรื่องของการรวมตัวของผู้ปฏิบัติงานเป็นสหภาพ (Union factor) จะมีผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์การเพียงใด


หากจะลึกไปกว่านั้น นักศึกษาอาจจะวิจัยในประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องต่าง ๆ ตามที่ De Cenzo & Robbins พูดไว้ โดยอาจจะตั้งคำถามเริ่มต้น และตามด้วยข้อความต่อไปนี้ เป็นคำถามของการวิจัยก็ได้
1. องค์การจะเกี่ยวข้องกับ HR มากขึ้น (concern by organization with HRM)
2. องค์การต้องการใช้คนที่มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานมากขึ้นหรือไม่ หากไม่ องค์การจะถอด จะปลด คนเหล่านี้ที่มีทัศนคติที่ไม่เหมาะสมกับความต้องการขององค์การอย่างไร ( removal of termination as a threat)
3. จะสร้างองค์การขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพ (lean and mean) อย่างไร  องค์การแบบนี้ ต้องการภาวะผู้นำอย่างไรเพื่อขับเคลื่อน 

4. จะจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับพนักงาน (matching the environment to employee : ergonomics) อย่างไร เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อไปถึงความพึงพอใจสูงสุดในการทำงานของพนักงาน
5. สหภาพแรงงานควรลดบทบาทลง (decline of unions) หรือไม่ในโลกของการบริหารยุคใหม่

เอาล่ะครับ เชื่อว่า ท่านที่ถามมาน่าจะได้ประโยชน์บ้าง อย่างไรก็ดี น่าดีใจที่อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้เริ่มเขียนเป็นตำราเรื่องการวิจัยทางทรัพยากรมนุษย์ออกมาบ้างแล้ว  ก็ซื้อหาไปอ่านและเลือกหัวข้องานวิจัยมาสักเรื่องครับ

 

ความสำเร็จของการทำงานวิจัยแท้จริงนั้น อยู่ที่การเริ่มต้นแบบมีทิศทาง เป็นไปได้ ใกล้ตัว และตั้งใจจริงครับ    


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที