วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 22 ก.ค. 2009 07.37 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5069 ครั้ง

เป็นคนไทย ต้องรู้จักคำว่า "ประชาธิปไตย" พร้อมทั้งเข้าใจถึง "สิทธิ" และ "หน้าที่" เป็นพื้นฐาน


-




18845_tura.jpg



ประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่

วิกูล  โพธิ์นาง

รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

๑๙  กรกฎาคม ๒๕๕๒

 

 

บทนำ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ล้วนกำหนดว่าประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่เป็นผลผลิตมาจากการรัฐประหาร เมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙   ระบุความ ในหมวดที่ ๑ บททั่วไป มาตรา ๒  ประเทศไทยปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเชื่อว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญในอนาคต ก็คงไม่ทิ้งคำว่า “ประชาธิปไตย”

 

เมื่อคำว่า “ประชาธิปไตย” ยังคงเป็นแบบการปกครองประเทศไทยอยู่ขณะนี้ และจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป จึงควรที่จะทำความเข้าใจคำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นพื้นฐาน เพื่อที่จะได้ร่วมกันตรวจสอบตัดสินใจ ต่อกระบวนการทางการเมืองของประเทศว่า “เป็นประชาธิปไตย” จริงหรือเป็นเพียงรูปแบบเท่านั้น

 

นับตั้งแต่ปีที่เราได้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มแข็งขึ้น จะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลหลายครั้ง โดยมีสองกลุ่มใหญ่ๆ เสื้อเหลือง พธม. พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ เสื้อแดง นปช. แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

 

คำว่า “ประชาธิปไตย” จึงถูกนำมาใช้อย่างมากมาย หรืออาจจะเรียกได้ว่า “ประชาธิปไตยแบบฟุ่มเฟือย” แต่ละกลุ่มล้วน “ทำเพื่อประชาธิปไตย” โดยดูได้จากชื่อกลุ่ม  สีเหลืองก็ทำเพื่อประชาธิปไตย สีแดงก็ทำเพื่อประชาธิปไตย แต่แนวคิดของทั้งสองแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน รวมถึงการแบ่งขั้วชนชั้นทางสังคมอีกด้วย สีเหลืองเป็นชนชั้นนำทางกรุงเทพ สีแดงเป็นชนชั้นรากหญ้า จากการรับรู้ของสาธารณะชนที่ผ่านไป

ซึ่งบนพื้นฐานการแสดงออกทางการเมือง ของทุกกลุ่มการเมือง ล้วนอ้างถึง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของตน ของกลุ่ม ที่พึงมีพึงได้ อยู่เสมอๆ จนบางครั้ง การแสดงออกดังกล่าว ได้ไปริดรอน “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของผู้อื่น จนทำให้เขาทุกข์กาย ทุกข์ใจ

 

ประเด็น

เมื่อภาพปรากฏออกมาอย่างนั้น จึงทำให้เกิดความขัดกันทางความคิดความเชื่อว่า แท้ที่จริงแล้วประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่ จึงขอรวบรวมความหมายของคำว่าประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่ มาบันทึกไว้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของฐานความรู้ ที่เราจะได้ตัดสินใจตอบสนองต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไทยได้อย่างไม่สูญเปล่าทางเวลา

 

เนื้อเรื่อง

๑.       ประชาธิปไตย  ( Democracy )[i]  คือแนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนมีสิทธิ์ที่จะปกครองตนเอง ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดก่อนหน้านี้ ที่เชื่อว่าประชาชนมีชีวิตอยู่ เพื่อเสริมบารมี หรือความมั่งคั่งให้กับกษัตริย์ หรือมีชีวิตตามความต้องการของพระเจ้า ประชาธิปไตย เป็นของประชาชนหรือของชาติ ไม่ใช่ของบุคคล หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด มีการแบ่งแยกหน้าที่องค์กรต่างๆในการใช้อำนาจ อันสรุปความหมายของประชาธิปไตยได้จากสุนทรพจน์อันลือเลื่องของประธานาธิบดีลิงคอล์น อดีตประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกาที่ว่า “ประชาธิปไตยคือการปกครอง ของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”

๒.     ความหมายของคำว่าประชาธิปไตย [ii] ประชาธิปไตย มาจากคำว่า “ประชา” (หมู่คนหรือปวงชน) ผสมกับคำว่า “อธิปไตย”  (ความเป็นใหญ่) ประชาธิปไตย จึงหมายความว่า “ความเป็นใหญ่ของปวงชน”  ปวงชนจะเป็นใหญ่ต้องประกอบไปด้วย “สิทธิและหน้าที่ของมนุษยชน” ถ้ามีแต่หน้าที่ เท่ากับ ทาสไพร่ แต่ถ้ามีแต่สิทธิ์ไม่ทำตามหน้าที่ก็เกินขอบเขตประชาธิปไตย  ในสังคมไทยเรานั้นในคำว่าประชาชน จะมีสามัญชนอยู่เป็นจำนวนมากกว่า ชนส่วนน้อยที่เป็น “อธิสิทธิ์ชน” หรือชนที่มีสิทธิ์เหนือสามัญชนบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้สามัญชนทำแต่หน้าที่ โดยไม่ได้ให้สิทธิ์เสมอตน

๓.      ความเป็นมาของประชาธิปไตย[iii]

ก.       ประชาธิปไตยบริสุทธิ์  ยุคดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลก อยู่กันแบบ พ่อ แม่ ปกครองลูก ทำหน้าที่ของตนแต่ละคน โดยให้ความรักความเอ็นดูเคารพเชื่อฟังตามฐานะของแต่ละคน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กันและกัน อยู่กันอย่างมีความสุขที่สุด แบบนี้เรียกว่าประชาธิปไตยบริสุทธิ์

ข.       ทาส  ครั้นต่อๆมาก็มีการปกครองแบบทาสขึ้น โดยครอบครัวของของคนส่วนน้อยที่มีอำนาจ (อภิสิทธิ์ชน) ได้เข้ายึดที่ทำกิน ทรัพยากรทั้งหลายมาเป็นของตนเอง ทำให้มีอำนาจมากขึ้น พร้อมกับการตัดสิทธิ์ครอบครัวและบุคคลส่วนใหญ่ พยายามสร้างให้ตนเองเป็นเทวดา เพื่อหลอกลวงชนส่วนน้อยให้เชื่อหวังจะได้ปกครองได้ง่าย

ค.       ศักดินา  เมื่ออภิสิทธิ์ชนสามารถครอบครองทรัพยากรได้มากแล้ว ก็ไม่มีเวลาจะไปดูแล จึงต้องแบ่งให้กับสามัญชนบางคน โดยให้อำนาจในการดูแลแทนตนที่เรียกว่า “ศักดิ์นา” คนที่ได้ศักดิ์นาก็หลงตนเองลืมว่าเคยเป็นสามัญชน กลับมากดขี่ข่มเหงพวงเดียวกัน

ง.        ทุนนิยม  เมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ทาสไพร่ เริ่มตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมรมเป็นต้นมา อภิสิทธิ์ชนก็เข้ามาควบคุมการลงทุนทั้งเครื่องจักรและแรงงาน โดยเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ ในลักษณะนี้สามัญชนก็ยังเป็นทาสเช่นเดิม แต่เป็นทาสยุคใหม่ในรูปของ “แรงงาน”

๔.      ประชาธิปไตย ตามพจนานุกรม[iv] ระบบการปกครอง ที่ถือมติปวงชนส่วนใหญ่ , การถือเสียงข้างมากเป็นใหญ่

๕.      รัฐธรรมนูญ กับ “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของปวงชนชาวไทย[v]

ก.       สิทธิ ในส่วนของสิทธิ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปรากฏอยู่ในหมวด ๓ “สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย” รวมแล้ว ๑๓ ส่วน  ๔๔ มาตรา ถ้าเปรียบเทียบอัตราส่วนกับมาตราทั้งหมด ๓๐๙ มาตราของรัฐธรรมนูญกับร้อยละ ๑๔.๒๓ ในส่วนของสิทธิถือว่ามาก จึงขอให้ทุกท่านได้เข้าไปศึกษาสิทธิ์ของท่านตามรัฐธรรมนูญเสียแต่บัดนี้ เพื่ออาจจะได้รับทราบ และนำไปใช้ได้อย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ของผู้ร่าง

ข.       หน้าที่ ในส่วนของหน้าที่ กำหนดในรัฐธรรมนูญปรากฏในหมวด ๔ “หน้าที่ของชนชาวไทย” รวม ๕ มาตรา สรุปได้คือ บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ป้องกันประเทศ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รับราชการทหาร(เกณฑ์) ข้าราชการต้องอำนวยความสะดวกกับประชาชน

๖.       ความเข้าใจ “สิทธิ” และ “หน้าที่” ที่ถูกต้อง[vi]

ก.       สิทธิ เป็นสิ่งที่ได้มาตามรัฐธรรมนูญ หรือให้สูงกว่านั้นเราได้สิทธิทุกประการมาตั้งแต่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ตั้งแต่การจุติแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ หรือนัยหนึ่งก็คือเราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ถ้าสิทธินั้นไม่ไปกำจัดสิทธิหรือสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น

ข.       หน้าที เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง สังคมและประเทศชาติ รวมอาจไปทำลายสิทธิของผู้อื่นด้วย

ค.       บางประเด็นเกี่ยวกับ “สิทธิ” และ “หน้าที่”   “หากยึดตามหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน การออกเสียงเลือกตั้งควรเป็น “สิทธิ” ไม่ใช่ “หน้าที่” เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน ซึ่งประชาชนจะใช้สิทธินี้หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ได้ และรัฐไม่สามารถตัดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิได้”[vii]

สรุป

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้รับการพิจารณาโดยคนส่วนใหญ่ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการมอบสิทธิและเสรีภาพให้กับประชาชนได้มากกว่าการปกครองในระบอบอื่น[viii]

 

แม้ว่าการปกครองแต่ละประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจะแตกต่างกันไปบ้างก็ตามที ดังเช่นประเทศไทยเราที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นก็เพราะสภาพภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งสำคัญคือสิทธิ และหน้าที่

 

ในการปกครองแบบประชาธิปไตยไทยนั้น ถือเสียงส่วนใหญ่ของปวงชน ในจำนวนนี้มี “สามัญชน”มากกว่าร้อยละ ๘๐ ส่วนที่เหลือน้อยกว่าเป็นของ “อภิสิทธิ์ชน” ซึ่งคนส่วนน้อยนี้เองในสังคมไทย เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลหลายด้านมากว่าคนส่วนใหญ่

 

การดำเนินกิจกรรมการเมืองทุกครั้งมักอ้างถึงประชาธิปไตย อันเป็นสิ่งสูงสุดที่เราทั้งหลายต้องการ โดยอ้างว่าเพื่อประชาธิปไตย แต่ท้ายที่สุดก็เพียงเพื่อหลอกล่อให้ประชาชนเข้าไปสนับสนุนเป็นกำลังให้ฝ่ายตนหรือตรายางสนับสนุนอำนาจเท่านั้น โดยมากมักมีการอ้างมาจากส่วนของ “อภิสิทธิ์ชน”

 

ประชาชน ผู้เป็นสามัญชนจึงควรที่จะทำความเข้าใจถึงประชาธิปไตยอย่างท่องแท้จะได้ไม่เป็นเบี้ยล่างของผู้หลอกหลอนต่อไป โดยทำความเข้าใจประชาธิปไตยแบบง่ายๆ ดังการอยู่ร่วมกันที่บ้านของท่าน มีพ่อมีแม่ มีพี่มีน้อง อาศัยอยู่ในบ้านประหนึ่งประเทศนั้น แต่ละท่านทำหน้าที่กันแตกต่างไป โดยไม่เอาเปรียบจนเป็นเหตุให้ใครเดือดร้อน เอื้ออาทรต่อกันฉันพี่น้องนั้นคือประชาธิปไตยที่ควรเป็น แม้มีเรื่องบาดหมางก็ยุติลงได้ด้วยกฎกิติของบ้าน นั่นคือสิทธิ และหน้าที่

 

สิทธิ เป็นสิ่งที่เราจะทำหรือไม่ก็ได้ แต่ หน้าที่ต้องทำ หากใครมากำจัดสิทธิ์นั้นไม่เป็นประชาธิปไตย หากใครมาให้เราทำแต่หน้าที่ไม่ให้สิทธิ์นั่นยิ่งไม่เป็นประชาธิปไตย หากใครประสงค์จะได้แต่สิทธิ์ ไม่ทำหน้าที่ถือเป็นพาลไม่เป็นประชาธิปไตย

 

รวมความแล้วก็คือ เรายังต้องอยู่ในการเมือง ซึ่งก็ต้องช่วยกันทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นการเมืองที่ถูกต้อง เพราะการเมืองหมายถึง “ การจัดการหรือการทำให้คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขโดยไม่ต้องใช้อาชญา”[ix]

 

พูดได้อย่างไม่ขัดเขินเลยว่า การปกครองใดที่มีการลงโทษทางกฎหมายที่ไร้แล้วซึ่งนิติธรรมนิติรัฐมากเท่าใดก็ยิ่งห่างไกลคำว่าประชาธิปไตยมากหรือการเมืองที่ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามหากการปกครองใดที่ไร้แล้วหรือมีการลงโทษทางกฎหมายที่น้อยลงเท่าใดก็ยิ่งเข้าใกล้กับคำว่าการเมืองที่ถูกต้องหรือประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น

 

มาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงพอจะอนุมานได้แล้ว่าประเทศไทยเราเข้าใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้น หรือห่างไกลประชาธิปไตยทุกขณะ ลองเปรียบเทียบการปกครองของประเทศ กับการอยู่ร่วมกันในครอบครัวท่านดู โดยมีสถาบันกษัริย์เป็นประหนึ่งพ่อแม่ นายกรัฐมนตรีเป็นพี่ใหญ่ ผู้แทนราษฎร์ สมาชิกวุฒิสภา รัฐบาล คนทั้งชาติ เป็นคนบ้านเดียวกัน จะห่างไกลหรือเข้าใกล้ก็ต้องมาร่วมกันศึกษาถึงประชาธิปไตยให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ก็เพื่อจะให้เรา “รู้เหมือนกัน ทำเหมือนกัน” ในการปกครองแบบประชาธิปไตยไทยเดียวกันได้อย่างถูกต้องราบรื่นยิ่งขึ้น คนบ้านเดียวกัน “รู้เหมือนกัน ทำเหมือนกัน” ก็จะเห็นสวรรค์ รำไร รำไร



อ้างอิง

[i] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประชาธิปไตย (Democracy)

[ii] ปรีดี พนมยงค์ ย่อความจาก ประชาธิปไตยเบื้องต้นสำหรับสามัญชน

[iii] ปรีดี พนมยงค์ ย่อความจาก ประชาธิปไตยเบื้องต้นสำหรับสามัญชน

[iv] พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พุทธศักราช ๒๕๔๒

[v] ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ฉบับลงประชามติ (มติรับร่าง)

[vi] ผู้เขียน (วิกูล โพธิ์นาง)

[vii] ศ. ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ส่วนหนึ่งจากบทความ หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันจันทร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

[viii]  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประชาธิปไตย (Democracy)

[ix] พุทธทาส ภิกขุ ย่อจากบทความหนังสือพิมพ์มติชน ทรรศนะพุทธทาส “การเมืองที่ถูกต้องคือทางแก้วิกฤติ สุรพงษศ์      ทวีศักดิ์


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที