Meditate

ผู้เขียน : Meditate

อัพเดท: 26 พ.ค. 2010 09.52 น. บทความนี้มีผู้ชม: 166663 ครั้ง

คนทั่วไป โดยปรกติ คิดว่าตัวเอง แข็งแรงอยู่เสมอ
จะไม่ค่อยเตรียมตัว และ มองอนาคตเพื่อเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลง กระทันหัน เปรียบได้กับมาหาหมอเมื่ออาการ ของโรค ชัดเจนหรือโคม่าแล้ว
เช่นเดียวกับธุรกิจ คุณทราบหรือยังว่า คุณก้าวมาไกลขนาด ไหน และความเร็วของโลก หมุนเร็วขึ้น ขนาดไหน สภาพของธุรกิจจะ คงสภาพพร้อมเพื่อการแข่งขันได้นานขนาดไหน นวัตกรรม เปรียบเสมือน วิตามินเสริม หรือไม่ สำหรับธุรกิจ หรือคืออะไร
สาเหตุที่เขียน เพราะ กำลังศึกษา ปริญญาเอก ด้าน การจัดการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงอยาก เอามาร่วมแบ่งปัน ความรู้สู่อุตสาหกรรม


ข่าว ด้านนวัตกรรม (เศรษฐกิจชะลอตัว ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

แบ่งปันข่างดีๆ (เศรษฐกิจชะลอตัว ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม) นับจากนี้ เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยอีกต่อไป เพราะตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนของ "โครงการอบรมผู้บริหารด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์" ครั้งที่ 1 หรือ EXCET I (เอ็กซ์เซต วัน) ซึ่งจัดโดยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ผู้บริหารองค์กรชั้นนำจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 องค์กร นำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้เสริมสร้างขีดความสามารถในแข่งขันขององค์กร รวมถึงประเทศไทยโดยรวม ในเวทีโลก "การที่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้นั้น อันดับแรกจะต้องสร้างองค์กรขับเคลื่อนในระดับนโยบายขึ้นมาก่อน" เซอร์คริส โพเวลล์ ประธาน NESTA (National Endowment for Science, Technology and Art) ประเทศอังกฤษ กล่าวในช่วงบรรยายในหัวข้อ "Innovative Nation and its Financial Architecture" พร้อมกับได้นำเสนอกรณีตัวอย่างของประเทศอังกฤษในแง่มุมของการสร้างองค์กรด้านนวัตกรรมในประเทศว่า "NESTA ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน โดยได้เงินบริจาค 350 ล้านปอนด์ จากหน่วยงานทางด้านสลากกินแบ่ง (National Lottery) เงินก้อนนี้ไม่เพียงให้ความมั่นคงทางการเงิน แต่มันยังให้อิสระในการทำงาน เพราะองค์กรนี้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง ส่วนภารกิจหลักคือความพยายามที่จะสนับสนุนในเรื่องของนวัตกรรมให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนงานของภาครัฐและเอกชนทั่วทั้งประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ NESTA เป็นองค์กรอันดับต้น ๆ ของอังกฤษที่มีการสนับสนุนเงินทุนให้กับบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นอกจากให้การสนับสนุนทางด้านเงินทุนแล้ว NESTA ยังให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือทางด้านการจัดการ ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ เกิดนวัตกรรม และสร้างความเข้าใจให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของนวัตกรรม รวมทั้งพยายามบ่มเพาะวัฒนธรรมผู้ประกอบการธุรกิจที่กล้ารับความเสี่ยง และคิดต่างอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น" เขากล่าวอีกว่า "โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลก็ควรจะมีบทบาทช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวด้วยนวัตกรรม นวัตกรรมจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ องค์กรที่มีนวัตกรรม มีผลิตภัณฑ์ และการบริการใหม่ ๆ ออกมาต่อเนื่อง จะเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน 6.2% ของมูลค่าเพิ่มที่ประเทศอังกฤษได้นั้นมาจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเชื่อว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรวดเร็ว โดยจะสร้างงานให้คนอังกฤษกว่า 1.3 ล้านคน ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าขนาดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะใหญ่กว่าภาคการเงินเสียอีก" นวัตกรรมนับได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งการสร้างนวัตกรรมมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ทว่าในการสร้างนวัตกรรมนั้น สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยความแตกต่างและหลากหลาย บวกกับความร่วมมือจากบุคลากรและหน่วยงานหลาย ๆ ฝ่าย ความยั่งยืนของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจเกิดจากการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับองค์กรและในระดับชาติ สำหรับกรณีตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น มร.เทตสึยูกิ ฮิราโน่ ที่ปรึกษาด้านการ บริหารสถาปัตยกรรมและการออกแบบ กล่าวว่า "ญี่ปุ่นมี Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน โดยในปี 2006 ได้ผลักดันแนวคิดของการรับรู้ (Sense) ให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจระดับชาติ ภายใต้ชื่อ "The Sense Value Creation Initiative" (KANSEI Initiative) ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้บริหารในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในการคิดค้นและดำเนินงานสร้างมูลค่าของสินค้า อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ไม่ควรเน้นเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ควรที่จะเพิ่มองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อผู้บริโภคเข้าไปด้วย องค์ประกอบเหล่านี้เรียกว่า KANSEI หรือ Sense Value นั่นเอง และเมื่อผลิตสินค้าขึ้นมาแล้ว ผู้ผลิตจะต้องทำหน้าที่ในการสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่ในตัวสินค้านั้น ๆ ออกไป เมื่อผู้บริโภคได้รับรู้แล้ว จะทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจต่อสินค้า" นอกจากนี้ METI ยังได้นำ KANSEI ไป ใช้ในการกำหนดกลยุทธ์ปรับภาพลักษณ์ของประเทศผ่านโครงการ "Beautiful Country" โดยเน้น 4 อุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นโดยตรง เช่น การตกแต่งบ้าน, การท่องเที่ยว, ศิลปะ กีฬา และการศึกษา, ดนตรีและการแสดง ตัวอย่างหนึ่งของประยุกต์ใช้ KANSEI คือกรณีศึกษาแคมเปญ "My Style, My Choice" ของสายการบินออลนิปปอน แอร์เวย์ส ซึ่งเริ่มจากแนวคิด Inspiration of Japan ที่เน้นนวัตกรรม ผสานกับการเป็นต้นแบบ (Original) และแนวคิดญี่ปุ่นอันทันสมัย (Modern Japan) โดยผู้โดยสารสามารถเลือกสิ่งที่ต้องการได้ ตั้งแต่กระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นชั้นที่นั่ง การบริการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งเวลาในการให้บริการ เป็นต้น ดร.อาคม เติมพิทยะไพสิท รองเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยในปัจจุบันว่า "Creative Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย เราเริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว แต่วันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นถึงระดับนโยบาย ผ่านโครงการ Creative Thailand ที่มีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนหลัก โดยมุ่งส่งเสริม 4 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่กลุ่มมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งชัดเจนมาก เพราะเป็นเรื่องของงานฝีมือ การแพทย์แผนไทย อาหารไทย และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 มีการบรรจุทุนวัฒนธรรมไว้ด้วย, กลุ่มศิลปะ ซึ่งรวมถึงศิลปะการแสดงและทัศนศิลป์, กลุ่มสื่อ เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี และวีดิทัศน์ และกลุ่มการออกแบบ ซึ่งรวมถึงการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ผลิตภัณฑ์ และแฟชั่น ขณะนี้เรามีสถานศึกษาหลายแห่งจัดหลักสูตรด้านนี้" "สภาพัฒน์ได้ประเมินมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์เทียบกับจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี หากเราสามารถผนวก ท่องเที่ยวเข้ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเป็นก้อนที่ใหญ่มาก ส่วนตัวเลขส่งออกในเซ็กเตอร์ของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เรามีส่วนแบ่งประมาณ 1.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่อันดับ 17 ของโลก จีนนั้นส่งออกมากที่สุด ในด้านการขับเคลื่อน เราทำมาตั้งแต่ก่อนปี"52 โดยมีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ขับเคลื่อนบนงบประมาณสนับสนุนจาก ภาครัฐ เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอด เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ และกระตุ้นกระบวนการคิดสร้างสรรค์" (อ้างต่อ) ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที