วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 16 พ.ค. 2009 08.48 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5394 ครั้ง

คับที่อยู่ได้ คับใจไม่อยากอยู่


-



18845_family4.jpg



เมื่อถึงช่วงที่บริษัทเรามียอดการผลิต ที่ต้องอาศัยพนักงานสัญญาจ้าง ในจำนวนที่มากขึ้นกว่าปกติ

 

หัวหน้าหน่วยงาน ก็จะประสบปัญหาการลาออกของน้องๆ กลุ่มดังกล่าว ก่อนที่จะครบสัญญา ทั้งบริษัทต้องเสียเวลาสรรหา เลือกสรรค จัดฝึกอบรม ให้กับพนักงานใหม่ที่เข้ามาทดแทนเป็นระยะๆ ซึ่งก็เป็นช่วงระยะเวลาที่สั้นๆ ในแต่ระรอบ

 

ส่งผลให้การผลิต เป็นไปแบบไม่ราบรื่น คุณภาพ ประสิทธิภาพ ของงานต่ำลง เกิดอุบัติเหตุถี่ขึ้นเป็นต้น

 

การแก้ไขปัญหานี้ ในเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วน หัวหน้าหน่วยงานต้องให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ ที่ก้าวเท้าเข้าสู่เส้นเขตแดนของหน่วยงาน ตั้งแต่ก้าวแรก โดยให้ความสำคัญต่อบุคคลเสมอกัน

                       

วิธีการตัวอย่างง่ายๆ ๕ ข้อ ดังนี้

๑.        หัวหน้าหน่วยงาน ต้องทราบล่วงหน้า ถึงข้อมูลที่พนักงานใหม่ จะเข้าหน่วยงาน อย่างน้อยหนึ่งวัน

๒.       หัวหน้าหน่วยงาน ต้องเป็นผู้ต้อนรับด้วยตนเอง  เมื่อพนักงานเข้าถึงหน่วยงาน โดยทำความรู้จัก เช่นเรียกชื่อเล่น ถามประสบการณ์ สุขทุกข์ พื้นเพภูมิหลัง

๓.        หัวหน้าหน่วยงาน ต้องคอยเทียวไปถามเป็นระยะๆ เมื่อพนักงานเข้าจุดทำงานแล้ว  ถึงการทำงาน ว่าสภาพร่างกาย จิตใจเป็นอย่างไรบ้าง แสดงความเป็นห่วงอย่างจริงใจให้น้องๆเห็น

๔.        หัวหน้าหน่วยงาน ต้องแสดงให้พนักงานเห็นว่า  หัวหน้าหน่วยงานจะไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกันในสถานที่ทำงาน หากเกิดขึ้น ต้องกำจัดอย่างนุ่มนวลรอบคอบ

๕.        หัวหน้าหน่วยงาน “ต้องรู้จักพนักงานทุกคน”

 

ทั้ง ๕ ข้อพอสรุปให้จำง่ายว่า “มีข้อมูล ต้อนรับ ถามไถ่ ไม่เอาเปรียบ และรู้จักทุกคน” ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่าง ที่ท่านสามารถนำประสบการณ์ มาประยุกต์ใช้ได้ บนพื้นฐานคติ “ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จแล้วด้วยใจ” ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา

 

หรือแม้แต่สุภาษิตไทยยังกล่าวใว้ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” ผู้มีบทบาทสำคัญของหน่วยงานหรือก็คือ หัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งมีอิทธิพลอย่างสูงในการทำงานของลูกน้อง จึงต้องให้ความสำคัญ ต่อจิตใจของคน ทุกเพศวัยเสมอกัน โดยปราศจากอคติ

 

นิทานเรื่อง “โคนันทวิศาล” จะเป็นตัวอย่างสนับสนุนได้เป็นอย่างดีถึงเรื่องความสำคัญทางใจ แม้แต่ “โค” คนมาพูดสั่งไม่ถูกหูก็ยังดื้อไม่ลากเกวียนต่อ

 

ข้อคิดเห็นที่นำเสนอมานั้น หากปฏิบัติได้ ผมมีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้า ว่าปัญหาการลาออกของน้องๆ พนักงานสัญญาจ้างจะลดลงมากกว่าร้อยละห้าสิบ  และถ้ายิ่งใช้ศักยภาพของท่านเองอย่างเต็มที่แล้ว อัตราจะเพิ่มไม่ถึงร้อยก็ใกล้เคียง

 

แม้จะกล่าวว่า งานยุ่ง ไม่มีเวลา ก็ขอให้ลองปฏิบัติอย่างจริงๆจังๆ เฉพาะในข้อ ๕  ที่ว่า “รู้จักพนักงานทุกคน”  ก็ได้ผลพอสมควร

 

ถามตนเอง และตอบดูครับว่า “หัวหน้าหน่วยงาน รู้จักพนักงาน ลูกน้องของท่านทุกคน แล้วหรือยัง” ถ้ายังไม่รู้จักฉันใด ก็ไม่ต่างอะไรกับที่ท่านไม่รู้จักคนในครอบครัวเดียวกัน ฉันนั้น

 

ผลพลอยได้ของการปฏิบัติการตามแนวทางข้างต้น “หัวหน้าหน่วยงาน จะได้รับรู้ในสิ่งที่มากกว่าได้รับรู้มา” อันจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคลในหน่วยงานได้เป็นอย่างดี

 

ยังไม่สาย เริ่มได้ทันที เริ่มเลยครับทำได้แน่นอน กรุณาเงยหน้าขึ้นแล้วมองไปรอบๆหน่วยงาน แล้วถามตัวเองซิว่า มุมใดของหน่วยงานที่ท่านไม่ได้เดินเข้าไป ณ จุดนั้นมานานแล้ว จนลืมไปว่าไปครั้งสุดท้ายเมื่อไร  ดูว่ามีพนักงานคนใดบ้างที่เรายังไม่รู้จัก และไม่เคยทักทายกันเลย หรือทักก็นานแล้ว จนจำไม่ได้ว่าเมื่อไรอีกเช่นกัน

 

อย่าให้ถึงขนาดที่น้องๆเดินสวนทางกันแล้วถามตัวเองว่า “น้องๆที่เดินผ่านไปอยู่หน่วยงานใด” ทั้งที่ก็ลูกน้องตัวเองแท้ๆ

 

ขอให้เริ่มด้วยรอยยิ้มที่ตัวท่านเอง และต้องมั่นใจว่าเป็นยิ้มที่ออกมาจากหัวใจ เข้าไปหาพนักงาน แล้วจะพบกับสิ่งมหัศจรรย์ นั่นคือรอยยิ้มของลูกน้องที่ใสซื่อบริสุทธิ์ ความอิ่มเอิบใจจะล้นปรี่ในหัวใจท่านอย่างไม่ทันตั้งตัว

 

ยิ้มหรือยังครับ....!!!

 

 

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที