ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 10 พ.ค. 2009 11.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 10153 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

งานเขียนชุดนี้ ผมได้เรียบเรียงและสกัดเอาเนื้อหาที่น่าสนใจและนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้จากต้นฉบับหนังสือเรื่อง “ต้องกำจัดเก้าอี้...ถึงจะมีกำไร” เขียนโดยซะกามากิ ฮิซาชิ ประธานบริษัท Canon Electronics ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์เผยแพร่โดยสถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เมื่อปี 2551 โดยหนังสือเล่มนี้ บอกถึงกรณีศึกษาของ Canon Electronics ซึ่งได้ใช้กลยุทธ์การลดต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์การที่แปลกแตกต่างไปจากแนวปฏิบัติที่นิยมกันในหลายเรื่อง และได้รับการพิสูจน์ของประโยชน์ในแง่ผลกำไรที่เกิดสูงขึ้นอย่างน้อย 8 เท่าในรอบเวลาเพียง 5 ปีของการปรับปรุงเท่านั้น

อันว่า หนังสือเล่มใดที่หากอ่านโดนคนคนเดียวหรือคนไม่กี่คน ความรู้ที่มากมายจากหนังสือเล่มนั้น ย่อมตกอยู่กับคนจำนวนไม่มากที่อ่านมัน แต่หากได้นำมาเผยแผ่ขยายความรู้ในวงกว้าง ก็จะช่วยสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับทั้งองค์การและสังคม ซึ่งผมเชื่อว่า เกร็ดความรู้ กลวิธีและแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ จากที่ได้นำเสนอต่อยอดความคิดจากหนังสือเล่มที่อ้างอิง ที่ได้นำเสนอเป็นตอนตอนนี้ จะช่วยให้ท่านผู้อ่านได้ไตร่ตรองและเลือกนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมกับองค์การของท่าน เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักของผู้เขียน และสอดรับกับวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เผยแพร่ของสมาคม ....


ตอนที่ 9 คนที่ใช้ไม่ได้คือพวกที่ชอบโยนงานให้คนอื่น

ตอนที่ 9 คนที่ใช้ไม่ได้คือพวกที่ชอบโยนงานให้คนอื่น

 

ซะกามากิ เชื่อว่า บริษัทจะดีหรือย่ำแย่นั้น ไม่ได้อยู่ที่สินค้าหรือบริการว่ามีคุณภาพดีหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับคนที่มีว่าดีหรือไม่ต่างหาก และผลรวมของกำลังงานของพนักงานทั้งหมดก็คือพลังของบริษัท

 

คนดีนั้น เป็นคนที่องค์การใดก็ต้องการครับ  ไม่มีใครปฏิเสธหรือตั้งแง่ซักถามว่าจริงหรือเปล่า

 

เกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินว่าคนคนหนึ่งดีหรือไม่นั้นหลายหลากมากมี  แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขที่เราใช้ในการพิจารณา สำหรับซะกามากิแล้ว เขาให้ข้อคิดว่าควรมองว่าคนคนนั้น ชอบโยนงานให้คนอื่นหรือไม่

 

คำว่าโยนงานนี้ ผมคิดว่า ซะกามากิ ต้องการสื่อให้เห็นแยกออกไปจากการสั่งงาน และการมอบหมายงานครับ เพราะโดย sense ของคำมันสื่อออกไปแบบว่า ไม่รับผิดชอบติดตามงานที่ส่งต่อไปให้คนอื่น แบบนี้เรียกว่า โยนงานครับ

 

ซะกามากิอธิบายว่า การชอบโยนงาน สะท้อนให้เห็นถึงการขาดจิตสำนึกและไม่รับผิดชอบ ซึ่งหลายคนเมื่อได้รับมอบหมายงานแล้วก็โยนงานออกไปให้ลูกน้องต่อเลย  โดยไม่ได้สนใจติดตามซักถามความคืบหน้าเสียด้วยซ้ำ นานเข้าเมื่อลูกน้องไม่ทำงานตามที่คิดก็ปัดความรับผิดลงไปที่ลูกน้อง  เมื่อเวลาถูกถามจากเจ้านายระดับสูงกว่า หัวหน้างานแบบนี้ มักจะบอกว่า “งานอยู่ที่นาย A เดี๋ยวผมจะเรียกมาสอบถามว่าคืบหน้าอย่างไร...” หรืออะไรประมาณนี้  ผมก็คิดเหมือนกันท่านประธานซะกามากิ แหล่ครับว่า “แล้วมีแก (คือคนที่ชอบโยนงาน) ไว้ทำไมเนี่ย...”  

 

นิสัยชอบโยนงานนี้ ซะกามากิ ระบุชัดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสูญเสียสูญเปล่าอย่างมหาศาลกับองค์การ เราจึงพบว่า บริษัทใดก็ตามที่มีหัวหน้างาน รวมทั้งคนทำงานระดับปฏิบัติพวกนี้อยู่เยอะ บริษัทนั้นมักมีปัญหาการขาดทุน หรือไม่ก็ทรงทรงทรุดทรุด  ถึงกับล้มเหลวไม่เป็นท่า

 

องค์การจึงต้องพยายามหาทางปลดคนพวกนี้ออกไปให้หมดครับ

 


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที