ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 16 เม.ย. 2009 13.16 น. บทความนี้มีผู้ชม: 22763 ครั้ง

เกร็ดความรู้...จากงานสัมมนา
HR Contribution

งานเขียนนี้ เป็นรายงานสรุปองค์ความรู้ที่ผมได้จัดทำขึ้นนำเสนอผู้บังคับบัญชาจากการที่ได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง การปรับตัวด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ (HROD) ในช่วงสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ จัดโดยคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2552 ระหว่างเวลา 09.00-16.30 น. ที่ผ่านมา ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนพ้องน้องพี่ HR ครับ...


กลยุทธ์การปรับตัวแบบ Wise Organization กรณีศึกษาธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์  ได้สร้างแนวทางและวิธีปฏิบัติงานที่ดีของธนาคารฯ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์การเองกับสภาวะวิกฤติในครั้งนี้ได้ คือ

1)  การกำหนดทิศทางและประกาศนโยบายที่ชัดเจนของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งถ่ายทอดสู่ทีมผู้บริหารและพนักงานในแต่ละสายงานของธนาคารฯ ด้วยช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานแล้ว เนื้อสารที่มีการถ่ายทอดได้มุ่งเน้นการเสริมแรงและสร้างขวัญกำลังใจแก่ทีมผู้บริหารและพนักงานอีกด้วย

2) การเตรียมความพร้อมขององค์การเพื่อสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วย
Change Management Program ส่งผลให้องค์การมีความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพที่จะตั้งรับกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และยังอาจจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าและองค์การในที่สุด

3) การให้ความสำคัญและการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งในระดับกลยุทธ์และในระดับปฏิบัติการ เช่น การเข้าไปร่วมทุน (Venture Capital) การให้คำปรึกษาและสนับสนุนข้อมูลในการดำเนินธุรกิจตลอดจนการดูแลความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่กลุ่มลูกค้าในสภาวะวิกฤติ  เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในระยะยาว

4) การมีระบบและโครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงและการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ในการประกอบธุรกิจของธนาคารอย่างเป็นระบบ และมีกระบวนการที่ชัดเจน ตลอดจนการกำหนดให้ทุกหน่วยงานมีระบบในการควบคุมภายในและมีดัชนีวัดความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ( Key Risk Indicator)

5) ความสอดคล้องและเชื่อมโยงกับกลยุทธ์ในระดับองค์การ ด้วยมุมมองที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น สังคม ตลอดจนภาพรวมของเศรษฐกิจในระดับประเทศ

6) การสนับสนุนนโยบายและกลยุทธ์องค์การ ในฐานะ HR as Strategic Partner ซึ่งได้มีการพิจารณา ทบทวนโครงสร้าง นโยบาย แนวทางการดำเนินงานตลอดจนวิธีการพัฒนาบุคลากรเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์การ ได้แก่
     6.1) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานและการจัดอัตรากำลัง เพื่อสนับสนุนกลยุทธ์และหน่วยธุรกิจอย่างเหมาะสม
     6.2) การสร้างศักยภาพในการนำองค์การด้วยการคัดเลือกผู้บริหารที่มีศักยภาพสูงในตำแหน่งหัวหน้าสายงานซึ่งจะเป็นเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์การ
     6.3) การพัฒนาระบบงานบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความคล่องตัวในการบริหารจัดการด้วยระบบ HRMS
     6.4) การพัฒนา Multi Skill ให้แก่บุคลากรให้มีความพร้อมที่จะสนับสนุนงานให้แก่ลูกค้าและหน่วยธุรกิจ และมีความพร้อมสำหรับความก้าวหน้าในสายอาชีพ

7) ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพนักงาน รวมทั้งการสร้างช่องทางให้พนักงานได้มีการสะท้อนความคิด (Feedback) แก่ผู้บริหารผ่านกระบวนการ Voice of Employee ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึง การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากพนักงานของผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์

รายละเอียดของแต่ละเรื่อง ท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในเอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดย Download ได้ที่ลิงค์ต่อไปนี้ครับ http://www.hrd.nida.ac.th/change.php 

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที