ขนิษฐา

ผู้เขียน : ขนิษฐา

อัพเดท: 24 ต.ค. 2006 10.43 น. บทความนี้มีผู้ชม: 359604 ครั้ง

ประโยชน์ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ควรรู้อย่างยิ่ง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรเมษฐ์ ปัญญาเหล็ก


รังสีอัลตราไวโอเลต

อัลตราไวโอเลต ( ultraviolet ) หรือที่นิยมเรียกชื่อแบบย่อว่า ยูวี (UV) เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นในช่วงประมาณ 380 nm - 60 nm ซึ่งอยู่ระหว่างแสงที่มองเห็น กับรังสีเอ็กซ์ นักวิทยาศาสตร์จัดแบ่งรังสียูวีออกเป็นสเปกตรัมย่อยโดยอิงกับระดับพลังงานของรังสี ดังนี้

380-200 nm ยูวีใกล้ (Near UV: NUV)

200-10 nm ยูวีไกล (Far UV: FUV)

31-1 nm ยูวีไกลสุด (Extreme UV: EUV)

  แต่ทางวิทยาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นิยมแบ่งรังสียูวีเป็น ยูวีเอ (UVA) ความยาวคลื่น 380-315 nm ยูวีบี(UVB) ความยาวคลื่น 315-280 nm และยูวีซี (UVC) ความยาวคลื่น < 280 nm

ดวงอาทิตย์ให้รังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง ยูวีเอ, ยูวีบี และ ยูวีซี ซึ่งต่างเป็นรังสีอันตรายที่สามารถทำให้ผิวหนังเกรียม หรือรู้สึกปวดแสบบริเวณผิวส่วนที่ได้รับแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน แต่นับว่ายังโชคดีที่รังสีอัลตราไวโอเลตส่วนใหญ่ถูกแก็สโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโทสเฟียร์ดูดกลืนไว้ รังสีอัลตร้าไวโอเลตส่วนที่ทะลุลงสู่ผิวโลกได้เป็นชนิด ยูวีเอ ถึง 99 % อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่ลดปริมาณโอโซนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ผิวโลกได้รับรังสีอัลตร้าไวโลตมากขึ้น การตระหนักถึงอันตรายของรังสีชนิดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สร้างเครื่องมือตรวจจับและศึกษาการเปลี่ยนแปลงปริมาณรังสียูวีบนผิวโลกอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ให้วงการอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นลด หรือเลิกใช้สารฟรีออนในระบบทำความเย็นเพราะหากสารดังกล่าวแพร่ออกสู่บรรยากาศจะทำปฏิกิริยากับโอโซนอย่างรวดเร็ว

รังสีอัลตร้าไวโอเลตสามารถนำมาประยุกย์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ตัวอย่าง เช่น ฆ่าเชื่อโรคในอุตสาหกรรมน้ำดื่ม หรือน้ำผลไม้โดยฉีดพ่นน้ำเหล่านั้นผ่านแหล่งกำเนิดรังสียูวีที่มีความเข้มสูงตามกำหนด เครื่องจับสัญญาณไฟไหม้เป็นหัววัดที่ไวต่อรังสียูวี ทำด้วยซิลิคอนคาร์ไบด์ หรือ อะลูมินัมไนไตรด์ หรือแม้กระทั่งหลอดบรรจุแก็สที่ถูกกระตุ้นด้วยรังสี ยูวีบีได้ง่าย ยูวีบีจากบริเวณไฟไหม้จึงเป็นตัวเลือกให้เครื่องมือเตือนภัยชนิด นี้ทำงาน อย่างไรก็ตาม การเกิดไฟไหม้นอกจากให้ยูวีบี แล้วยังเกิดรังสีอินฟราเรดร่วมด้วยเสมอ เครื่องจับสัญญาณไฟไหม้ติดหัววัดที่ไวต่อทั้งรังสียูวีบีและรังสีอินฟราเรดประกอบกันจึงมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้อย่างใดอย่างหนึ่งตามลำพัง

สารเคลือบผิวบางชนิดใช้ส่วนผสมที่ไวต่อแสงยูวี เช่น สารที่ใช้เคลือบฟัน และสารเคลือบในใยแก้วนำแสง สารเหล่านี้ต้องแห้งเร็วและทนทานจึงต้องใช้ยูวีเร่งปฏิกิริพอลิเมอไรเซชัน ทำให้โมเลกุลเกี่ยวเป็นโซ่ได้รวดเร็วกว่าการปล่อยให้แห้งในที่ร่ม หรือด้วยแสงธรรมดา

แม้ว่าตาของมนุษย์มองไม่เห็นยูวีแต่สัตว์บางชนิดโดยเฉพาะพวกแมลงมองเห็นแสงชนิดนี้ได้ นักวิทยาศาสตร์จึงประดิษฐ์หลอดไฟ “แบล็กไลต์” ที่เปล่งแสงยูวีสำหรับล่อแมลงให้มาสู่กับดักได้เป็นปริมาณมากๆ ในกรณีแมลงเล็กๆ เช่น ยุง อาจใช้กับดักเป็นตระแกรงไฟฟ้าให้ยุงบินมากระทบและตายได้ เหล่านี้เป็นต้น

รังสียูวีทั้งชนิด ยูวีเอ ยูวีบี และยูวีซี ต่างมีพลังงานสูงถึงขั้นทำลายเซลล์ผิวหนังได้ ผู้คนที่อยู่ในเขตร้อนจึงควรระมัดระวังไม่ให้ผิวโดนแสงแดดจ้าเป็นเวลานานเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ผิวเกรียมแล้ว รังสียูวีเอ จากแสงแดดยังทำลายดีเอ็นเอ (DNA) ของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ครีมกันแดดโดยทั่วไปมีสารดักจับรังสียูวีทำให้ลดอันตรายจากรังสีดังกล่าวได้ระดับหนึ่ง นอกจากเป็นอันตรายต่อผิวหนังแล้ว ตาเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่ไม่ควรปล่อยให้รับแสงยูวีความเข้มสูงเป็นเวลานาน เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคทางตา เช่น ต้อหินได้ง่าย การอยู่ในบริเวณที่มีแสงแดดจ้าจึงควรสวมแว่นกันแดดเสมอ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที