วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 09 เม.ย. 2009 16.39 น. บทความนี้มีผู้ชม: 5119 ครั้ง

คนดีคือคนทำตามหน้าที่...!!!


-

18845_tura.jpg

ที่ผมใช้คำว่า “มวลชนเสื้อแดง” เพราะกลุ่มกดดันทางการเมืองกลุ่มนี้  ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และมั่นคง ตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย ดังที่นานาอารยะประเทศปฏิบัติอยู่ ทั้งยังขยายแนวร่วมออกไปอย่างต่อเนื่อง ไกลเกินกว่าคำว่า “ม๊อบ”  และจะยังไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ถ้าอำมาตย์ใหญ่ ในสายตาของมวลชนเสื้อแดงไม่หยุดระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” วันหนึ่งเราอาจจะเห็น “กองทัพแดง”

มวลชน  (Mass) หมายถึง “กลุ่มคนหรือประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือประเทศ เป็นกระบวนการรวมตัวอย่างมีระบบ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่จะทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีระเบียบวินัย” (คำบรรยายของวิจิตร เอี่ยมสวัสดิ์, ชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพรัฐศาสตร์ ๘๐๔๑๐ หน้า ๒๓๘ มสธ.)

ทันทีที่มวลชนเสื้อแดง ตั้งธงในการชุมนุม “ล้มอำมาตย์ใหญ่” หลายคนไม่สงสัยว่าอำมาตย์คือใคร เพราะคุณทักษิณได้เอ่ยชื่อไปแล้ว “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ”   กับอำมาตย์ใหญ่ เป็นคนคนเดียวกัน

แต่มีข้อสงสัยว่าอำมาตยาธิปไตย คืออะไร ได้มีนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ หลายสถาบันออกมาให้ความรู้มากหน้าหลายนาม

จึงขอสรุปด้วยวิญญาณของผมเองตามฐานข้อมูลนั้นว่า

อำมาตยาธิปไตย คือการปกครองแบบประชาธิปไตยแต่ถูกครอบงำแทรกแซงจากกลุ่มข้าราชการเก่าแก่ ที่หมดอายุราชการไปแล้ว แอบอ้างอาศัยอำนาจบางประการ

รวมถึงบารมีที่เคยสร้างไว้ สมัยเมื่อตนดำรงตำแหน่ง ไปสั่งการ ยุยงข้าราชการ มิให้ฟังนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยพยายามเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย

ในนิยามข้างต้น  “มลชนเสื้อแดง” พุ่งเป้าไปที่ประธานองคมนตรี โดยกล่าวหาว่า พลเอกเปรม ทำเกินหน้าที่องคมนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โค้นล้มรัฐบาลนายกทักษิณชินวัตร ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ทั้งยังแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล ผ่านการใช้อำนาจและบารมี โดยมีกองทัพเป็นผู้รับใช้ สนับสนุน

สิ่งที่มวลชนเสื้อแดงกล่าวหานั้น ผมไม่สามารถฟันธงได้ว่า ใช่หรือไม่ใช่ เพราะเกินกว่าอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อยู่เหนืออำนาจหน้าที่ คือความถูกต้องชอบธรรม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะได้คิดวิเคราะห์ จากการเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่ผ่านมาเอง ว่ามีผู้ใด ได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์จากการทำรัฐประหารที่ผ่านไปบ้าง  โดยดูจากความสัมพันธิ์ระหว่างบุคคลกับผลประโยชน์ที่ผู้ใกล้ชิดได้รับ หรือแม้แต่ตัวของผู้ถูกกล่าวหาเอง

สิ่งที่น่านำมาวิเคราะห์ ถึงสมมติฐานของมวลชนเสื้อแดงคือ กระแสข่าวการไปพูดคุยวางแผนทำรัฐประหารของผู้หลักผู้ใหญ่บางคน และในกลุ่มนั้น  ก็ได้รับตำแหน่งที่แตกต่างกันไปหลังรัฐประหาร เช่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่เอาเถอะ การไปพูดคุยนั้นเราไม่ได้ยินเอง การรับตำแหน่งของเขาเหล่านั้นก็อาจเป็นความจำเป็นที่ไม่สามารถพูดความจริงได้ทั้งหมดในวันนี้ก็เป็นได้ จึงยังเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะสนับสนุนว่า ประธานองคมนตรี เป็นอำมาตย์ใหญ่ ผู้ใช้ระบอบอำมาตยาธิปไตย

ตามหลักทางพระพุทธศาสนาแล้ว การจะวินิฉัยใครว่าเป็นคนดีหรือไม่ดี ก็ดูที่ใครมีธรรม หรือมีแต่อกุศลธรรม คนดีต้องมีธรรมมากกว่าอกุศลธรรม การทำหน้าที่ของตนเองเป็นการวัดง่ายกว่า เพราะทุกคนล้วนต้องทำหน้าที่แต่ละวันแตกต่างกันไป

คำว่าหน้าที่จึงเป็นการตัดสินขั้นพื้นฐานถึงคนดีหรือไม่ดี “คนที่ทำตามหน้าที่คือคนดี ผู้ใดไม่ทำตามหน้าที่คือคนไม่ดี” ดังที่ท่านพุทธทาสได้สอนว่า “ธรรมะคือหน้าที่ หน้าที่คือธรรมะ”

เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประธานองคมนตรี  จึงต้องไปเปิดรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่เป็นผลผลิตจากรัฐประหารครั้งล่าสุด มาตรา ๑๒ วรรค ๒  “คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้”

ตามมาตรานี้ การทำงานถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ทำเป็นคณะที่เรียกว่าคณะองคมนตรี มิได้ทำเป็นปัจเจกชน

 และผู้ที่จะมาเป็นองคมนตรีนั้น “ต้องไม่” อะไรบ้างนั้น รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ กำหนดไว้ใน มาตรา ๑๔  ความว่า “องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน  ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ”

ประโยคสุดท้ายนั้นสำคัญ “ต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมือง” ถ้าประธานองคมนตรี หรือองคมนตรีใด ฝักใฝ่พรรคการเมืองถือว่า ไม่มีธรรมะ ขัดกับนิยามความเป็นคนดี แต่จะเข้ากันได้กับคำว่า “อำมาตย์ใหญ่” หรือระบอบอำมาตยาธิปไตย

สมควรลาออก...!!!

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า การเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์  การเมืองเป็นเรืองอำนาจ การเมืองเป็นเรื่องของกิเลส ล้วนเป็นโลกีย์วิสัยในทางอกุศลกรรมทั้งสิ้น 

กลับกัน หากปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์ ไม่เข้าไปแสดงให้สังคมเกิดความเชื่อว่า “ฝักใฝ่พรรคการเมือง”

สมควรอยู่ต่อไป...!!!

จะอยู่ต่อหรือลาออก คงต้องอยู่ที่ดุลพินิจที่อยู่เหนือกับ “อคติ”  ของแต่ละคน และที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือเสียงสวรรค์ หรือเสียงมวลประชาชน เพราะประชาธิปไตย ประชาชนเท่านั้นเป็นใหญ่...!!!

 

ภาพประกอบ จากอินเทอร์เน็ต


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที