ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 22 มี.ค. 2009 12.30 น. บทความนี้มีผู้ชม: 6642 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


เรื่องของการบริหารเชิงกลยุทธ์ ตอนที่ 5

ตอนที่ 4 ที่ผ่านมา (ตอนที่ 4) ผมได้นำเสนอเรื่องของการวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นงานของผู้บริหารที่มองถึงปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการวางกลยุทธ์ขององค์การ โดยต้องพิจารณาให้รอบคอบกว้างขวาง ทั้งภายในและภายนอกองค์การ การวิเคราะห์ปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ช่วยให้เราได้เห็นถึงโอกาส (Opportunity) และข้อจำกัดหรือภัยคุกคาม (Threats) ว่ามีอะไรบ้าง พร้อมกับการวิเคราะห์โดยละเอียดเกี่ยวกับทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีภายในองค์การ เพื่อประเมินจุดแข็ง (Strength) จุดอ่อน (Weakness) รวมเรียกว่า "SWOT Analysis"

มาว่ากันต่อในเรื่องของการกำหนดกลยุทธ์ครับ

การกำหนดกลยุทธ์ เป็นการวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของการบริหารเชิงกลยุทธ์ โดยมีผลผลิตออกมาเป็นแผนงานหลักต่าง ๆ พร้อมด้วยนโยบายและกลยุทธ์ย่อยที่จำเป็นต้องมี

นักวิชาการด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ว่ากันว่า การวางแผนกลยุทธ์ ซึ่งก็คือการกำหนดกลยุทธ์นี้ เป็นกระบวนการของการตัดสินใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ขององค์การ การเปลี่ยนแปลงของวัตถุประสงค์องค์การนั้น การใช้ทรัพยากร รวมไปถึงการวางนโยบายต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นหลักของการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมและการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

ในแง่นี้ การวางแผนกลยุทธ์ จึงไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่การค้นหาปัญหาต่าง ๆ แล้วสร้างกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อจัดการปับปัญหานั้น และไม่ได้เกี่ยวข้องแต่กับเรื่องของการแบ่งสรรทรัพยากรเพื่อนำมาใช้ในการทำให้องค์การบรรลุวัตถุประสงค์เท่านั้น หากแต่ การวางแผนกลยุทธ์ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลไกที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ว่าองค์การจะมีการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีประสิทธิภาพภายใต้วิกฤตต่าง ๆ ที่องค์การประสบด้วย

และความที่การวางแผนกลยุทธ์เกี่ยวข้องกับเรื่องของการจัดสรรทรัพยากร การวางแผนกลยุทธ์ที่ดี จึงต้องมีการวิเคราะห์และตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน โดยได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับสูง โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน พร้อมกับมีการทำแผนงาน งบประมาณประจำปี หรือตามกรอบเวลาที่เหมาะสม

และเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกำหนดกลยุทธ์ อันจะนำไปสู่ปัญหาของการนำกลยุทธ์ไปใช้ในลำดับต่อไป ผู้บริหารจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันถึงทิศทางขององค์การ ซึ่งในทางปฏิบัติเรามักจะพบว่า เรื่องนี้เป็นเรืองสำคัญที่ถูกละเลยนะครับ

แล้วการวางแผนกลยุทธ์หรือการกำหนดนั้นมีกิจกรรมอะไรบ้าง

การวางแผนกลยุทธ์ ประกอบไปด้วยการกำหนดกิจกรรมคือ การกำหนดพันธกิจ (mission) และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) การกำหนดแผนงานหลัก (Major plans) นโยบาย (Policies) และกลยุทธ์ย่อย ๆ (Sub-strategies)

การกำหนดพันธกิจ (mission) และการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Objectives) เป็นการหาข้อสรุปว่า องค์การตั้งขึ้นมาเพื่ออะไรและผลสำเร็จอย่างไรที่องค์การต้องการให้เกิดขึ้น พันธกิจและวัตถุประสงค์นี้ เป็นเครื่องชี้นำว่าองค์กรจะเดินไปในทิศทางใด และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้กิจการอยู่รอดได้ พันธกิจขององค์การต่าง ๆ โดยมากก็จะเกี่ยวข้องกับการอยู่รอด (survival) การทำกำไร (profitability) ขนาดและส่วนแบ่งของตลาด (size and market share) การทำประโยชน์ให้สังคม (social contribution) เป็นต้น

ในส่วนของการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์นั้น องค์การควรยึดถือเอาลูกค้าเป็นหลักครับ และเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำกรับการระบุขอบเขตวัตถุประสงค์ โดยมีข้อที่ควรพิจารณาหลายเรื่องคือ (1) ลูกค้าจะได้รับประโยชน์อย่างไรบ้างจากวัตถุประสงค์ที่เรากำหนด (2) องค์การจะได้รับประโยชน์ทางด้านประสิทธิภาพจากต้นทุน จากที่ระบุไว้ในขอบเขตวัตถุประสงค์อย่างไร (3) ความต้องการของลูกค้าและเทคโนโลยีมีความเกี่ยวข้องกับการผลิต การวิจัยการพัฒนา การทำตลาด และการบริหารอย่างไร เรื่องเหล่านี้ ผู้รู้เค้าว่ากันว่า เราจะต้องคิดล่ะครับ

การกำหนดแผนงานหลัก (Major plans) นโยบาย (Policies) และกลยุทธ์ย่อย ๆ (Sub-strategies) ในความเข้าใจทั่วไปเป็นเรืองของการแจกแจงพันธกิจ วัตุถุประสงค์ออกเป็นแผนงานหลักต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้สามารถทำงานได้บรรลุเป้าหมายที่องค์การกำหนด แผนงานหลักนี้ ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ แผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่จะเป็นแผนงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หรือแผนงานที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นงานประจำ ก็ได้ แผนงานนี้ เป็นสิ่งที่จะเป็นต้องทำเพื่อให้พันธกิจ และวัตถุประสงค์บรรลุได้ ส่วนนโยบาย จะเป็นพื้นฐานของแผนงาน ซึ่งได้แก่ นโยบายการจัดสรรทรัพยากร (Resource Allocation) นโยบายการกำหนดช่วงจังหวะเวลา (Time Horizons) เป็นต้น ในระดับรองลงมาคือกลยุทธ์ย่อย ๆ เป็นหนทางของการนำไปสู่เป้าหมายซึ่งโดยทั่วไปก็คือชุดของแผนงานต่าง ๆ หรือที่เรียกว่าชุดปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ การอบรมพนักงานขายเตรียมไว้ การยุบเลิกหน่วยงานบางหน่วย หรือการขยายงาน เรืองต่างๆ เหล่านี้ จะถูกนนำมาประมวลเข้าด้วยกันเพื่อทำและการันตีว่า องค์การจะไปสู่จุดมุ่งหมายที่วางไว้

กลยุทธ์นั้น มีหลายระดับ โดยมากก็เป็นระดับองค์การ ซึ่งเป็นแนวทางหลักที่มุ่งไปในเรื่องของการเติบโตขององค์การ การผสมผสาน เป็นต้น โดยจะมีการกำหนดกลยุทธ์ระดับรองเรียกว่ากลยุทธ์เฉพาะหน่วยธุรกิจ ไว้รองรับ เช่น กลยุทธ์การเป็นผู้นำการลดต้นทุน การสร้างความแตกต่าง และระดับที่เล็กที่สุดก็คือ กลยุทธ์ระดับปฏิบัติการ หรือกลยุทธ์ระดับหน้าที่ ที่เน้นในเรื่องของการปฏิบัติงานหรือการดำเนินการในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ เช่น การวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดการ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ตอนหน้าเรามาว่ากันถึงเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที