ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 20 มี.ค. 2009 12.01 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4381 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะเรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้าง HR เพื่อความเป็นมืออาชีพนะครับ....


สไตล์ของผู้นำที่พาองค์การฝ่าวิกฤต (ตอนจบ)

เมื่อตอนที่แล้ว เราได้พูดกันถึง 6 สไตล์ของผู้นำที่เราพบเห็นกันได้ทั่วไปในองค์การต่าง ๆ จากการสำรวจในต่างประเทศของ Hay Group เมื่อปี 2007 ซึ่งก็น่าสนใจไม่น้อยครับ
คราวนี้ก็กลับมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ผู้นำสไตล์ไหนล่ะ ที่จะทำให้องค์การมีบรรยากาศของการทำงานที่ดี (good climate) และทำให้เกิดความสำเร็จในการทำงานได้ตามเป้าหมาย 

Hay Group นำเสนอข้อมูลจากรายงานผลการวิจัยไว้ว่า สไตล์ผู้นำที่เหมาะสมกับการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีนั้น  จะต้องประกอบไปด้วยสไตล์ที่ไม่น้อยกว่า 3 ด้าน ในด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ สไตล์ประชาธิปไตย (Democratic/Participative) สไตล์แบบส่งเสริมความร่วมมือ (Affiliative) สไตล์โค้ชหรือนักสอนงาน (Coach) และสไตล์แบบมีวิสัยทัศน์ (Visionary) แต่หากผู้นำมีสไตล์แบบมุ่งสั่งการหรือให้ทำตามคำสั่ง (Directive) และผู้นำสไตล์ที่ใช้มาตรฐานของตนเองเป็นตัวกำหนดการทำงานของลูกน้อง (Pacesetting) ล่ะก็  รับรองว่า เกิดบรรยากาศแย่แน่อย่างไม่ต้องสงสัย

ผลการวิจัยของ Hay Group บอกเอาไว้ว่า สไตล์แบบมุ่งสั่งการหรือให้ทำตามคำสั่ง (Directive) และผู้นำสไตล์ที่ใช้มาตรฐานของตนเองเป็นตัวกำหนดการทำงานของลูกน้อง (Pacesetting) นั้น รังแต่ทำให้บรรยากาศแย่ และพนักงานไม่มีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน และจะคอยแต่รับคำสั่งร่ำไป เพราะไม่อยากขัดแย้งกับหัวหน้า

มองอีกด้านหนึ่งแล้ว  ก็ไม่ใช่ว่า สไตล์ผู้นำแบบมุ่งสั่งการหรือให้ทำตามคำสั่ง (Directive) และสไตล์ที่ใช้มาตรฐานของตนเองเป็นตัวกำหนดการทำงานของลูกน้อง (Pacesetting) จะเป็นตัวปัญหานะครับ เพราะในบางสถานการณ์เราก็ต้องการสไตล์นี้เหมือนกัน เช่น กรณีไม่มีมาตรฐานหรือขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน หรือกรณีที่ลูกน้องยังขาดประสบการณ์ของการทำงาน  เพียงแต่หัวหน้างานที่เป็นผู้นำนั้น อย่ายืดเอาความคิดตัวเป็นใหญ่ หรือให้เกิดความคิดของลูกน้องว่า "อย่างพูดไปเลย หัวหน้าไม่ฟังหรอก ถึงจะฟัง เขาก็จะทำตามวิธีการของเขา พูดไปไลฟ์บอย.."  ซึ่งหากจะให้ดีก็ต้องผนวกเอาสไตล์ด้านดีมาใช้ก็คือ ใช้สไตล์ผู้นำแบบสอนงาน (Coach) เข้ามาประกอบกัน หรือให้สัดส่วนของสไตล์อย่างหลังมากกว่า งานก็ราบรื่นได้ครับ

ในภาวะวิกฤตที่ย่อมเกิดผลกระทบกับองค์การของเราท่านหนักบ้างเบาบ้างตามสถานการณ์นั้น ย่อมต้องมีหลายเรื่องที่ผู้นำจะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด จะคอยสอนกันอยู่ก็อาจจะไม่เข้าที พนักงานหรือลูกน้องเองก็คงต้องหมั่นค้นคว้าหาความรู้และพัฒนาตัวเองคู่ขนานไปเช่นกัน หากไม่เอาอะไรเลย จะไปโทษหัวหน้าว่าสไตล์ผู้นำของเขาไม่ได้เรื่องก็คงไม่แฟร์ครับ เอาเป็นว่า ต่างฝ่ายต่างปรับเข้าหากัน โดยที่ผู้นำหรือหัวหน้าเองก็ทำงานหนักหน่อยเท่านั้น 
  
อย่าลืมนะครับ ตัวตนของลูกน้องของคุณเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามไป วิเคราะห์ให้ดี จากนั้นก็เลือกว่าจะใช้สไตล์ไหนที่จะทำให้ท่านได้งานมากที่สุด ในขณะที่ลูก้อก็ Happy


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที