ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 13 มี.ค. 2009 00.19 น. บทความนี้มีผู้ชม: 29586 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน ทั้งผู้เขียนและท่านผู้อ่าน ในลักษณะ “เรียนรู้ร่วมกัน สรรค์สร้างวิชาชีพ HR” และความเป็นมืออาชีพของทุกท่าน....


ภาคทฤษฎีของความพึงพอใจในการทำงาน (ตอนที่ 1)

ในตอนนี้  ผู้เขียนจะขอนำเสนอพื้นฐานแนวคิดเรื่องความพึงพอใจในงาน คั่นรายการบทเรียนของการบริหารผลการปฏิบัติงาน เพื่อปูพื้นฐานความเข้าใจบางประการในแง่พฤติกรรมของมนุษย์ในองค์การ และในการทำงาน

งานเขียนนี้ สรุปจากเค้าโครงดุษฎีนิพนธ์หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตของผู้เขียนที่ได้จัดทำไว้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา จึงไม่ได้นำเสนออ้างอิงไว้ในที่นี้  ท่านผู้อ่านท่านใดที่ต้องการจะได้ข้อมูลรายการอ้างอิง กรุณาติดต่อกับผู้เขียนผ่านทางเมล์นี้นะครับ c_waritthorn@hotmail.com

ความพึงพอใจในงาน  (ตอนที่ 1)

จากการศึกษาแนวความคิดเกี่ยวกับความพึงพอใจ สามารถสรุปได้ว่า  ความพึงพอใจ  เป็นความรู้สึกสองแบบของมนุษย์  คือ  ความรู้สึกทางบวก  และความรู้สึกทางลบ  ความรู้สึกทางบวกเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้ว  จะทำให้เกิดความสุข  ความรู้สึกนี้เป็นความรู้สึกที่แตกต่างจากความรู้สึกทางบวกอื่นๆ กล่าวคือ  เป็นความรู้สึกที่มีระบบย้อนกลับ  ความสุขสามารถทำให้เกิดความสุขหรือความรู้สึกทางบวกที่เพิ่มขึ้นได้  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเป็นความรู้สึกที่สลับซับซ้อน  และความรู้สึกนี้จะมีผลต่อบุคคลมากกว่าความรู้สึกทางบวกอื่น ๆ โดยความรู้สึกทางลบ  ความรู้สึกทางบวกและความสุข  มีความสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อน  และระบบความสัมพันธ์ของความรู้สึกทั้งสามนี้เรียกว่า  ระบบความพึงพอใจ 

ความพึงพอใจจะเกิดขึ้นเมื่อระบบความพึงพอใจมีความรู้สึกทางบวกมากกว่าทางลบ (Shelly  1975:252-268)  ในทำนองเดียวกัน  Mullins (1985 : 280) เห็นว่า ความพึงพอใจ  เป็นทัศนคติของบุคคลที่มีต่อสิ่งต่างๆ หลายๆ ด้าน  เป็นสภาพภายในที่มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของบุคคลที่ประสบวามสำเร็จในงานด้านปริมาณและคุณภาพ  เกิดจากมนุษย์จะมีแรงผลักดันบางประการให้ตัวบุคคลซึ่งเกิดจากการที่ตนเองพยายามจะบรรลุเป้าหมายบางอย่าง  เพื่อที่จะสนองต่อความต้องการหรือความคาดหวังที่มีอยู่  และเมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นจะเกิดวามพอใจ  เป็นสะท้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น  เป็นกระบวนการหมุนเวียนต่อไปอีก

หรืออาจกล่าวได้ว่า  ความพึงพอใจของบุคคล  จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการ  ได้รับการตอบสนองในระดับหนึ่ง  โดยบุคคลจะต้องตั้งเป้าหมาย  เพื่อให้บรรลุความต้องการ  ความพึงพอใจของบุคคลจะแตกต่างกันตาม  สภาพแวดล้อมทางกายภาพ  ลักษณะส่วนบุคคล  และสิ่งเร้า  หรือสิ่งจูงใจที่มากระตุ้น ในทัศนะของ Hillgard and Others  (1971: 304-305) สิ่งจูงใจ (incentive) ทำให้เกิดความพึงพอใจ  เป็นสิ่งจูงใจทางบวก  (positive incentive)  ซึ่งได้แก่กิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมทางวัตถุ  ที่จะสร้างความพึงพอใจตามเงื่อนไขของความต้องการ  เช่น  อาหาร  เป็นสิ่งจูงใจที่สร้างความพึงพอใจต่อแรงขับ (drive)  เกี่ยวกับความหิว  น้ำเป็นสิ่งจูงใจทางบวก  ก็ไม่ได้สร้างความพอใจต่อความต้องการทางกายภาพ  แต่อาจเกิดจากเหตุผล เฉพาะตัวของบุคคล  เช่น รสหวาน  อาจเป็นความพึงพอใจของแต่ละบุคคล  แม้ว่าจะไม่ได้คุณค่าทางอาหาร  เป็นต้น และจากแนวคิดดังกล่าวมาแล้ว พอจะสรุปความหมายของความพึงพอใจได้ว่า เป็นแรงจูงใจและความรู้สึกเป็นสุขที่เกิดจากการปรับตัวของบุคคล  จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลได้รับสิ่งที่ต้องการ 

ความพึงพอใจ จึงเป็นความรู้สึกในเชิงการประเมินค่าของบุคคลต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  โดยเป็นสภาวะที่จิตปราศจากความเครียด  ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความต้องการ  ถ้าความต้องการนั้นได้รับการตอบสนองทั้งหมดหรือบางส่วนวามเรียดก็จะน้อยลง  ความพึงพอใจก็จะเกิดขึ้น  และในทางกลับกัน  ถ้าความต้องการนั้นไม่ได้รับการตอบสนอง  ความเครียดและความไม่พึงพอใจก็จะเกิดขึ้น  ซึ่งความพึงพอใจนี้มีความสัมพันธ์กับทัศนคติอย่างแยกกันไม่ออกหรือในบางกรณีก็สามารถใช้แทนกันได้  (Victor Vroom, 1964: 29)

Struass and Sayles (1960 : 19  อ้างถึงใน  กิติมา  ปรีดีดิลก,  2529 : 321)  กล่าวถึงความพึงพอใจในการปฏิบัติงานว่า   ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน  หมายถึง  ความรู้สึกพอใจในงานที่ทำและเต็มใจที่จะปฏิบัติงานนั้นให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์การ  คนจะรู้สึกพอใจในงานที่ทำเมื่องานนั้นให้ผลประโยชน์ตอบแทนทั้งทางด้านวัตถุ  และทางด้านจิตใจ  เพื่อสามารถสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของเขาได้

ส่วน Gilmer (1966 : 254–255)  ให้ความหมายของความพึงพอใจในงานว่าเป็นผลของเจตคติต่างๆ  ของบุคคลที่มีต่อองค์ประกอบของงานและมีส่วนสัมพันธ์กับลักษณะงานและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งความพอใจนั้น ได้แก่ ความรู้สึกว่ามีความสำเร็จในการทำงาน  รู้สึกว่าได้รับการยกย่อง และรู้สึกว่ามีโอกาสก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน โดยที่ความพึงพอใจ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อได้รับผลสำเร็จตามความมุ่งหมายที่วางไว้ หรือเป็นความรู้สึกขั้นสุดท้ายที่ได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ (Wallenstein, 1971: 35)

ความพึงพอใจในการทำงาน (Job Satisfaction) กล่าวได้ว่าเป็นสภาพทางจิตใจหรือความรู้สึกและทัศนคติของบุคลากรแต่ละคน  ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือประสานงานกันของสมาชิกขององค์การ  และความรู้สึกที่มีต่องาน เงินเดือนค่าตอบแทน ความมั่นคงในการปฏิบัติงานการได้รับการยอมรับนับถือ และความเชื่อมั่นที่จะปฏิบัติงาน ที่มีผลต่อสัมพันธภาพในการทำงานของบุคลากรในองค์การ 

ในทัศนะของนักวิชาการเช่น Locke  (1976) และ Porter (1970) ได้ให้คำนิยามสอดคล้องกันว่า ความพึงพอใจในการทำงานเป็นความเต็มใจและความต้องการ หรือความปรารถนาของบุคคลที่จะทำงาน ซึ่งเกิดจากการชอบงาน และความพยายามทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้  ความพึงพอใจในการทำงานนี้ โดยทั่วไปเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการจากงานและผลที่ได้รับ และเป็นความรู้สึกทางบวกต่องานที่ได้รับผิดชอบ  โดยความพึงพอใจนี้ มีความสำคัญในลักษณะของการสร้างแรงกระตุ้นในการทำงาน และมีผลให้บุคลากรสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น           

Swenson (2000) เสนอความเห็นขยายความเพิ่มเติมว่า  ความพึงพอใจในงาน เป็นตัวพยากรณ์สะท้อนว่าบุคลากรมีแรงกดดันและความเครียดเกิดขึ้นจากการทำงานในระหว่างที่เขาทำงานนั้นเพียงใด ซึ่งหากบุคลากรมีความสุขกับการทำงานในหน้าที่รับผิดชอบแล้ว มักจะมีแนวโน้มการทำงานอย่างเกิดประสิทธิผล  Swenson  ยังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจถึงคุณลักษณะของความพึงพอใจในการทำงานไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ ความเชื่อว่าองค์การช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความพึงพอใจต่อองค์การในระยะยาว มีความใส่ใจต่อคุณภาพการทำงานและคุณภาพชีวิตในการทำงาน บุคลากรมีพันธะกรณี (commitment) ต่อองค์การ  มีอัตราการลาออกหรือการเปลี่ยนงานเข้าออกน้อย และมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า  การบริหารงานในองค์การ ไม่ว่าจะเป็นองค์การภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม จะประสบผลสำเร็จได้นั้นผู้บริหารจะต้องสามารถที่จะนำปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยทางการบริหาร มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากรในองค์การเกิดความพึงพอใจและปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จตามที่กำหนดไว้  นอกจากนี้ผู้บริหารขององค์การจะต้องมีความคิดริเริ่มในการวางแผนจัดองค์การ  การบริหารภายในองค์การอย่างหลากหลาย   ตลอดทั้งแสวงหาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ  ที่จะทำให้องค์การได้พัฒนาตามเป้าหมายที่วางไว้  โดยภาระหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  การพยายามชักชวนโน้มน้าวจิตใจให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทุกคนเต็มใจ  และร่วมมือร่วมใจกันที่จะปฏิบัติหน้าที่จึงจะทำให้งานต่างๆ  ในองค์การประสบผลสำเร็จ  ปัจจัยแวดล้อมในการสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงาน ดังกล่าวส่วนหนึ่งก็คือ  ความพึงพอใจนั่นเองครับ

ตอนต่อไปมาว่ากันถึงองค์ความรู้เรืองความพึงพอใจในการทำงานตอนจบกันครับ...


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที