ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

ผู้เขียน : ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต

อัพเดท: 03 มี.ค. 2009 09.46 น. บทความนี้มีผู้ชม: 37098 ครั้ง

เกร็ดความรู้...เพื่อเป็นมนุษย์งานมือโปร
HR Contribution

ในสภาพการณ์ของสังคมที่ความรู้เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด และเป็นสิ่งจำเป็นของการเรียนรู้เพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับหน้าที่การงานและชีวิต ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงขอฝากเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการทำงานไว้ให้ได้เรียนรู้กัน....


กระบวนการของการพัฒนาตนเอง

การบรรลุผลสำเร็จในการพัฒนาตนเอง ย่อมต้องอาศัยทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจจริงและจัดกระบวนการปรับปรุงพัฒนาตนเองที่เหมาะสม โดยมุ่งไปสู่เป้าหมายที่มีความหมายต่อชีวิต เรียม ศรีทอง (2542, หน้า 155-164) ได้เสนอขั้นตอนการพัฒนาตนเองที่ประยุกต์จากหลักการศึกษาความจริงตามหลักหลักวิทยาศาสตร์รวม 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย การสำรวจพิจารณาตนเอง การวิเคราะห์จุดเด่น จุดบกพร่องของตนเอง กำหนดปัญหาและพฤติกรรมเป้าหมาย การรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน เลือกเทคนิควิธีและวางแผนการพัฒนา ทดลองปรับปรุงพัฒนา และการประเมินผลและขยายผลการพัฒนาซึ่งสรุปได้เป็นขั้นตอนของการพัฒนาตนเองดังต่อไปนี้ ขั้นที่ 1 การสำรวจ พิจารณาตนเอง หมายถึง การรับรู้สภาพการดำรงชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่าอยู่ในสภาวะที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่หรือไม่ การพิจารณาสภาพปัญหาหรือความต้องการของตนมีประโยชน์ต่อการกำหนดลักษณะปัญหาหรือพฤติกรรมเป้าหมายต่อไป การรับรู้สภาวะแห่งตนในด้านต่างๆ จำเป็นต้องมีความถูกต้องชัดเจน ตัวอย่างการประเมินตนเองด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) เกี่ยวกับสภาพร่างกาย มีสิ่งที่ควรพิจารณาประเมินตนเองได้หลายประการ เช่น สุขภาพร่างกาย กริยาท่าทาง และบุคลิกภาพโดยรวม (2) เกี่ยวกับอารมณ์และจิตใจ มีลักษณะที่ควรศึกษาสำรวจ เช่น สุขภาพ ทางจิตนิสัยใจคอ และการมีวินัยในตนเอง (3) เกี่ยวกับพัฒนาการทางสังคม หมายถึง ความสามารถทั่วไปในการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่น มีลักษณะที่อาจประเมินได้หลายประการ เช่น ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร พฤติกรรมการแสดงออก และความสัมพันธ์กับผู้อื่น (4) เกี่ยวกับสติปัญญา ความสามารถและการประกอบอาชีพการงานมีลักษณะที่พึงประเมินได้หลายประการเช่น ความรู้ทั่วไป การตัดสินใจ การแก้ปัญหาและการบริหารเวลา และความ สามารถพิเศษ ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์จุดเด่น จุดบกพร่องของตนเองเป็นการทำความเข้าใจผลการประเมินสภาพทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคม สติปัญญา และความสามารถของตน จากขั้นที่ 1 เพื่อจำแนกคุณลักษณะบุคลิกภาพหรือลักษณะพฤติกรรมที่ส่งเสริมชีวิตที่ดีลักษณะที่เป็นส่วนของปัญหาอุปสรรคของการดำเนินชีวิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดทิศทางการปรับปรุงและพัฒนาตนเอว่า จะลดลักษณะพฤติกรรมเก่า จะหยุดพฤติกรรมทั้งหมด จะรักษาพฤติกรรมที่มีอยู่แล้วไว้จะเสริมแต่งพฤติกรรมเดิมให้คมชัด หรือจะฝึกหัดพัฒนาพฤติกรรมใหม่การกำหนดทิศทางการปรับปรุงตนเองควรเป็นไปอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในการวิเคราะห์ลักษณะบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมของบุคคล ควรพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน เช่นเงื่อนไขของพฤติกรรม สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมแรงจูงใจที่มีผลต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นต้น ขั้นที่ 3 การกำหนดปัญหาและพฤติกรรมเป้าหมาย การกำหนดเป็นการพิจารณาให้ชัดเจนว่า พฤติกรรมที่จะเลือกปรับปรุงและพัฒนานั้นมีความสำคัญต่อตนเองมากที่สุดโดยพิจารณาลำดับคุณค่าของลักษณะหรือพฤติกรรมที่ส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น หรือเป็นลักษณะหรือพฤติกรรมที่ขัดขวางการพัฒนาชีวิตตนเองและผู้อื่น และเป็นลักษณะหรือพฤติกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมอื่นๆ ตามมาอีกตามลำดับ ซึ่งอาจพิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ ในการกำหนดปัญหาควรพิจารณาแยกให้เห็นได้ว่าสภาพปัญหาที่ต้องการปรับปรุงนั้นเกี่ยวข้องกับอะไร หรือเป็นปัญหาที่มีสาเหตุพื้นฐานมาจากอะไรด้วย โดยทั่วไปอาจแยกแยกประเภทปัญหาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ ปัญหาที่เกิดจากความคิด ปัญหาที่เป็นอารมณ์ความรู้สึก ปัญหาเชิงพฤติกรรม และปัญหาความขัดแย้ง ขั้นที่ 4 การรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาจะช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมเป้าหมายที่ถูกต้อง และเป็นแนวทางการเลือกเทคนิควิธีการปรับปรุงตนเองที่เหมาะสมต่อไป ข้อมูลพื้นฐานมักได้จากการสังเกตและบันทึกพฤติกรรม เป้าหมาย และวิธีการวิเคราะห์พฤติกรรม ขั้นที่ 5 การเลือกเทคนิควิธีและการวางแผนปรับปรุงตนเอง การเลือกเทคนิควิธีการปรับปรุงและพัฒนาตนเอง อาจใช้วิธีการฝึกหัดปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือปรับเปลี่ยนความคิดก็ตามควรเลือกใช้เทคนิควิธีที่ง่ายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการปรับปรุง จะใช้วิธีการเดียวหรือใช้หลายวิธีประกอบกันก็ได้ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมบางอย่างอาจใช้หลายเทคนิควิธีควบคู่กัน ซึ่งผู้ใช้เทคนิคต่างๆพึงศึกษาและพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดของแต่ละเทคนิควิธีให้ถ่องแท้ และเลือกวิธีการที่เหมาะสม สำหรับการวางแผนการพัฒนาตนเอง ควรกำหนดเวลาที่สอดคล้องกับเป้าหมาย จัดเตรียมสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขการส่งเสริมความสำเร็จในการพัฒนาตามแผน และแสดงแผนงานให้ชัดเจน อุปสรรคของการพัฒนาตนเองของบบุคคล มักเกิดจากความเคยชินที่มักจะทำตามสบาย ขาดวินัยไม่ควบคุมหรือจัดระบบการพัฒนาให้รัดกุมและมีคุณภาพ ในการวางแผนปรับปรุงตนเอง อาจกำหนดวัตถุประสงค์ระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้ โดยระบุว่าเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการทดลองแล้วจะเกิดผลอะไรแก่ตนเอง การกำหนดวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจน จะส่งผลถึงการไม่สามารถประเมินผลได้ วัตถุประสงค์ที่ดีควรจะกระทำได้จริงและสอดคล้องกับสภาพความต้องการหรือสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ขั้นที่ 6 การทดลองปรับปรุง และพัฒนาตนเอง ในขั้นนี้เป็นการดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้ ตามระยะเวลาที่ระบุไว้ ความมุ่งมั่นเป็นสิ่งสำคัญให้บรรลุความสำเร็จโปรดอย่าลืมความภาคภูมิใจที่ตนทำได้ แล้วให้กำลังใจหรือให้รางวัลในการตั้งใจทำดีของตนด้วย ขั้นที่ 7 การประเมินและขยายผลการพัฒนาตนเอง ในขั้นนี้เป็นการติดตามดูว่าการทดลองปรับปรุงและพัฒนาตนเองบรรลุผลสำเร็จเพียงใด ในกรณีที่มีข้อบกพร่องก็สืบค้นทบทวนดูว่ามีอะไรเป็นปัจจัยนอกเหนือจากที่เตรียมวางแผนไว้หรือเป้าหมายขาดความชัดเจนอาจพิจารณาปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น และย้อนกลับไปทบทวนการประเมินตนเอง หรือวิเคราะห์ตนเองใหม่ ถ้าการประเมินผลการทดลองประสบผลสำเร็จ ก็พิจารณาต่อว่าจะดำเนินการยุติแผนงานและทำให้พฤติกรรมคงอยู่ได้อย่างไรรวมไปถึงอาจมีแรงจูงใจที่จะขยายผลการพัฒนาไปยังพฤติกรรมอื่นๆต่อไปอีก เอกสารอ้างอิง กรองแก้ว อยู่สุข. (2541). พฤติกรรมองค์การ. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กุญชรี ค้าขาย. (2545). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา. กุลธน ธนาพงศธร และเสน่ห์ จุ้ยโต. (2544). การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. ในเอกสารการสอนชุดวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (หน่วยที่ 4) พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ณัฎฐพันธ์ เขจรนันทน์. (2545) กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาองค์การ. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท. ถวิล ธาราโภชน์ และศรัณย์ ดำริสุข. (2544) พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : ทิพยวิสุทธ์. ยุวดี ศรีธรรมรัฐ. (2541). การบริหารงานบุคคลในภาครัฐกิจ. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียม ศรีทอง. (2542). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน. กรุงเทพฯ : เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น. ศุภชัย ยาวะประภาษ. (2546) การบริหารงานบุคคลภาครัฐไทย : กระแสใหม่และสิ่งท้าทาย. กรุงเทพฯ : จุดทอง. เอมอร กฤษณะรัวงสรรค์. (2545). หลัก ทฤษฎี และกระบวนการพัฒนาคน. กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฎสวนสุนันทา. สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน. (2547). คู่มือการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาข้าราชการ. กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง. สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. (2542). ร่างรายงานการวิจัยเอกสารเรื่อง การจัดระบบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักงานปฏิรูปวิชาชีพครู สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน. (2544). การพัฒนาบุคคล. นนทบุรี : สหมิตรพริ๊นติ้ง.

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที