editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 94033 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


ผู้นำกับปัญหา

ปีที่ 2 ฉบับที่ 27
22 กรกฎาคม 2552

ผู้นำกับปัญหา

“In the beginner’s mind there are many possibilities, but in the expert’s there are few.” Shunryn Suzuki

ในจิตใจของผู้เริ่มต้น เห็นความเป็นไปได้มากมาย แต่ในจิตใจของผู้เชี่ยวชาญเห็นความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อย

William LeMessurier เป็นวิศวกรโครงสร้างผู้คำนวณแบบก่อสร้างตึก Citicorp ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนน53 กับถนน Lexington บนเกาะManhattan สหรัฐอเมริกา ตึกนี้สร้างเสร็จเมื่อปี 1977 และเป็นตึกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของโลกในเวลานั้น เดือนมิถุนายน 1978 นักศึกษาวิศวกรรมคนหนึ่งใน New Jersey ที่ทำรายงานเรื่องตึก Citicorp ส่งอาจารย์ได้โทรศัพท์มาสอบถามLeMessurierเกี่ยวกับโครงสร้างเสาหลักของอาคาร 4 ต้นที่ใช้ค้ำยันตึกสูงหลังนี้ เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนได้ให้ความเห็นว่าวิศวกรโครงสร้างน่าจะออกแบบผิดพลาดที่ให้เสาหลักของอาคารอยู่ตรงกลางของทั้ง 4 ด้านแทนที่จะให้อยู่ที่มุมตึกทั้งสี่ด้าน LeMessurier อธิบายให้นักศึกษาเข้าใจถึงเหตุผลที่เขาออกแบบเอาเสาหลักของอาคารไว้ตรงกลางของทั้ง 4 ด้านของตึกสูงนี้ว่าเนื่องจากเขาได้ออกแบบพิเศษเพื่อให้มีระบบป้องกันความแรงของลม ที่พัดมาปะทะอาคารทั้งแนวตรงและแนวเฉียง หลังจากการอธิบายให้นักศึกษาแล้ว

LeMessurier ได้ความคิดว่าจะเอาเรื่องที่นักศึกษาถามนี้ไปสอนนักศึกษาของเขาที่มหาวิทยาลัย Harvard ดังนั้นเขาจึงทำการทบทวนการคำนวณทางวิศวกรรมเกี่ยวกับแรงปะทะของลมต่ออาคารสูงอีกครั้ง ผลการคำนวณปรากฏว่าแรงลมมีผลต่อโครงสร้างมากกว่าที่เขาคาดการณ์ไว้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดเขาโทรศัพท์ถึงสำนักงานใหญ่บริษัทใน New York สอบถามเกี่ยวกับการเชื่อมเหล็กของอาคารในตอนก่อสร้างแต่กลับได้รับคำตอบว่าตอนก่อสร้างไม่ได้ทำการเชื่อมเหล็กตามที่ออกแบบไว้เนื่องจากบริษัทผู้รับเหมางานเหล็กเสนอให้ใช้การยึดด้วยน๊อตเหล็กแทนการเชื่อมเพราะไม่มีความจำเป็น เนื่องจากกฎหมายควบคุมอาคารสูงของมหานคร New York บังคับให้วิศวกรคำนวณเผื่อแรงลมปะทะแนวตรงเท่านั้น ไม่ได้บังคับให้คำนวณเผื่อแรงลมปะทะแนวเฉียง และทางผู้บริหารบริษัทได้ตกลงเปลี่ยนตามข้อเสนอของวิศวกรบริษัทผู้รับเหมา ข้อมูลนี้ทำให้ LeMessurier ยิ่งเกิดความไม่แน่ใจมากขึ้นว่าการยึดมุมโครงสร้างเหล็กด้วยน็อตเหล็กจะสามารถรับความแรงของลมที่ปะทะมุมเฉียงได้หรือไม่ เพื่อความแน่ใจเขาจึงเดินทางไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่ มหาวิทยาลัยแห่ง Western Ontario ประเทศ Canadaขอความเห็นชี้แนะ ซึ่งความเห็นที่ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญคือแรงลมปะทะมุมเฉียงอาจจะแรงเกินกว่าที่ LeMessurier ได้คิดคำนวณล่าสุด เขารู้ทันทีว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้วในงานที่เขารับผิดชอบ แม้ว่ากฎหมายไม่ได้บังคับให้คำนวณเผื่อก็ตาม LeMessurier โทรศัพท์แจ้งให้สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารทราบและเขาเดินทางไปพบผู้บริหารสูงของบริษัท Citicorp ทันทีเพื่อแจ้งให้ทราบถึงสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซึ่งอาจจะเกิดอันตรายในอนาคตและเสนอวิธีการแก้ไขโดยไม่ทำให้คนทั่วไปทราบซึ่งผู้บริหารของบริษัท Citicorp เห็นชอบและอนุมัติให้ดำเนินการแก้ไขโดยทันที และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งไม่ได้กล่าวโทษเอาความผิดLeMessurier ความสำนึกในความรับผิดชอบซึ่งเป็นจรรยาบรรณในวิชาชีพของ LeMessurier ได้รับการยกย่องสรรเสริญจากวิศวกรและประชาชนที่ทราบเรื่องในภายหลังถึงความกล้ายอมรับผิดและมุ่งแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

เรื่องจริงแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย เพราะเรามีคนแบบ LeMessurier น้อยมากหรือแทบไม่มีเลยก็ว่าได้ นักศึกษาวิศวกรรมไทย คงถูกด่ากระเจิงไปแล้วตั้งแต่อาจหาญโทรศัพท์มาถามวิศวกรผู้ยิ่งใหญ่ และอาจารย์ที่สอนนักศึกษาผู้ให้ความเห็นว่าวิศวกรออกแบบโครงสร้างผิดพลาดคงถูกฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายไปแล้ว เมืองไทยต้องรอจนกว่าตึกพังลงมาทับคนตายเป็นสิบ เจ้าหน้าที่ถึงออกมาตรวจสอบ แล้วต่างฝ่ายต่างโทษกันไปมา

Michael Roberto ผู้เขียนหนังสือ What You Don’t Know: How Great Leader Prevent Problems Before They Happen กล่าวว่า การป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของผู้นำที่ยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องของ Mindset จิตสำนึกที่แตกต่างกว่าผู้อื่น ที่ต้องการรู้ถึงปัญหา ค้นหาปัญหา และแก้ไขปัญหาก่อนจะเกิดปัญหา

Intellectual Curiosity
ความสงสัยใคร่รู้อย่างมีปัญญา หมายถึงจิตใจที่ต้องการคำตอบเมื่อเกิดคำถามหรือข้อสงสัย จะใช้ความคิดและหาข้อมูลเพิ่มเติมรวมทั้งปรึกษาผู้ที่รู้มากกว่าตนเพื่อให้ได้คำตอบที่มั่นใจมากขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความกระหายรู้ที่ทำให้ตั้งคำถามตนเองตลอดเวลาว่าสิ่งที่ตนรู้นั้นถูกต้องจริงๆหรือไม่ รวมทั้งความใคร่รู้ในสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เรื่องนี้เป็นปัญหาของสังคมไทย ที่ผู้บริหารมักปิดตัวเองเพราะความหลงในความสำเร็จของตนเอง และคิดว่าสิ่งที่ตนคิดและทำนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สมบูรณ์แล้ว ไม่สงสัยในความคิดของตนเองและไม่ยอมรับในความคิดของคนอื่นที่คิดแตกต่างจากตน ทำให้ผู้บริหารยึดติดกับความเชื่อเดิมและไม่พยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ จริงๆแล้ว “The more things you learn, the better you become at learning” ยิ่งคุณเรียนรู้มากเท่าไหร่คุณก็จะยิ่งดีขึ้นในการเรียนรู้

Systemic Thinking
การคิดอย่างมีระบบ คือการคิดที่ลึกมากกว่าสิ่งที่เห็นเพื่อให้รู้ถึงที่มาแห่งสาเหตุและที่ไปเกิดผลในที่สุด ส่วนใหญ่คนมักจะหยุดตรงที่เห็นและคิดว่าตรงที่เห็นคือปัญหาและพยายามแก้ที่ปัญหาโดยไม่รื้อลงไปดูสาเหตุ ซึ่งอีกไม่นานปัญหาก็เกิดขึ้นอีกและใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ผู้บริหารหลายท่านมุ่งหาผิด (Find fault) และมุ่งตำหนิ (Assign blame) เมื่อได้ใครคนหนึ่งเป็นคนรับผิดเรื่องก็จบโดยไม่สนใจคิดต่อว่าทำไมถึงเกิดความผิดพลาดนี้ขึ้น ฝรั่งเรียกว่าหาแพะสะดวก (Convenient scapegoat) เพราะมันง่ายดี ผู้บริหารไทยก็นิยมใช้เช่นกันเพราะนิสัยคนไทยใจร้อนชอบทำให้เสร็จเร็วๆ เรามีเรื่องตึกถล่ม ไฟไหม้โรงงาน และเรื่องเสียหายอีกมากมายที่เกิดจากการไม่คิดเป็นระบบของคนไทย

Healthy Paranoia
การระแวงอาจถูกมองในแง่ลบว่าไม่ไว้วางใจใคร แต่ในการบริหารงานนั้นจริงๆแล้วก็ไว้วางใจอะไรทั้งหมดไม่ได้ไม่ว่าคนหรือเครื่องจักร หรือ เทคโนโลยี การระแวงที่เป็นประโยชน์คือการคิดไว้ก่อนว่าทุกองค์กรแม้ว่าจะประสบความสำเร็จเพียงใดแต่ก็มีปัญหาซ่อนอยู่ เพียงแต่ยังไม่มีใครค้นพบ ทางที่ดีจะต้องตื่นตัว พยายามค้นหาปัญหาให้เจอก่อนที่มันจะก่อตัวใหญ่จนแก้ไขลำบาก การคิดระแวงไว้ก่อนจึงเหมือนการล้อมคอกไม่ให้วัวหาย

Theodore Rubin กล่าว่า “The problem is not that there are problems. The problem is expecting otherwise and thinking that having problems is a problem.” ปัญหาไม่ใช่อยู่ตรงที่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การคิดว่าการมีปัญหาคือปัญหาต่างหาก ผู้บริหารหลายคนเป็นอย่างนั้นจริงๆคือไม่ชอบปัญหา และคิดว่าการมีปัญหาคือปัญหา®




บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ บทความเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เขียน ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อการพาณิชย์... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที