editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 20 ส.ค. 2009 09.29 น. บทความนี้มีผู้ชม: 93807 ครั้ง

บทความสมชัยให้คุณ


คิดทำใหม่

คิดทำใหม่

ปีที่ 2 ฉบับที่ 21
9 มิถุนายน 2552

“To improve is to change; to be perfect is to change often.” Sir Winston Churchill (1874-1965)

การปรับปรุงให้ดีขึ้นคือการเปลี่ยนแปลง และการจะทำให้เกิดความสมบูรณ์ได้จะต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ เป็นคำกล่าวของท่านอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ Sir Winston Churchill ผู้นำอังกฤษชนะในสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์วิกฤติ แม้ว่าในวิกฤตจะมีโอกาส แต่ก็ขึ้นอยู่กับทัศนะคติการมองของผู้นำผู้บริหาร เหมือนอย่างเช่นวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ถ้ามองเป็นสาเหตุ (Cause) แห่งความเดือดร้อน จะเห็นแต่ปัญหารุมล้อมเต็มไปหมด แต่ถ้ามองด้วยความคิดว่าวิกฤติเป็นตัวเร่งกระตุ้น (Catalyst) ให้เกิดความคิดในการแก้ไขปัญหา จะเห็นโอกาสแห่งการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอีกมากมาย ที่มาพร้อมกับวิกฤติ

บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายที่ล้มไปเป็นเพราะสาเหตุหลักสองประการคือ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง (Unable to change) และไม่อยากเปลี่ยนแปลง (Unwilling to change) ทำให้องค์กรไม่สามารถปรับตัวสู้กับแรงขับเคลื่อนภายนอก (External force) ที่รุนแรงและรวดเร็วได้ เพราะผู้นำผู้บริหารยังคิดแบบเดิมคือคิดเพียงแค่ตอบสนองความต้องการของคณะกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นโดยมองข้ามความสำคัญที่เศรษฐกิจโลกได้ถูกกำหนดโดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging economies) เช่น บราซิล อินเดีย จีน เกาหลี ไปเสียแล้ว การมองประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยมุมมองเดิมแบบอาณานิคม (Colonial lens) ที่คิดว่าชนชาติตนเหนือกว่า ทำให้ผู้นำผู้บริหารคิดบนความเชื่อเดิมว่าบริษัทตนมีเทคโนโลยีและคุณภาพเหนือกว่าในการผลิตสินค้าแต่ลืมคิดถึงเรื่องความสามารถในการซื้อ (Affordability) ของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการสินค้าคุณภาพดีที่ราคาซื้อได้

Jagdish N. Sheth และ Charles H. Kellstadt อาจารย์ด้านการตลาดจาก Emory University ให้ทัศนะว่าถ้าผู้นำผู้บริหารยังมองธุรกิจแบบปลาในอ่างปลา คือใช้สวิงเลือกตักเอาปลาตัวที่ต้องการอีกไม่นานจะไม่มีปลาให้ตักอีกต่อไป ทางออกคือ การคิดทำใหม่ (Reinvent) ด้วยการเปลี่ยนชุดความคิด (Mindset) ใหม่ 7 ประการดังนี้

  1. Challenge the industry dogma กล้าท้าทายความคิดเดิมของอุตสาหกรรม
    ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมล้วนผ่านกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการจากระยะเริ่มต้นและเติบโตมาตามเวลา ความสำเร็จในแต่ละระยะทำให้เกิดความเชื่อในระบบธุรกิจว่าการผลิตและการให้บริการโดยวิธีและช่องทางการตลาดที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จดี จนเกิดการยึดมั่นในแนวทางความสำเร็จเดิมและไม่กล้าเปลี่ยนความคิดเพราะยังคงมั่นใจว่ารูปแบบการทำธุรกิจ (Business model) เดิมของตนยังใช้การได้ดี แต่ในความเป็นจริงกลยุทธ์ธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถปรับตัวสู้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
  2. Make ordinary people extraordinary สร้างคนธรรมดาให้ไม่ธรรมดา
    ความคิดในการใช้คนซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีความซับซ้อนมากที่สุดต้องเปลี่ยน เพราะคนในยุคปัจจุบันมีวิถีชีวิตและค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก ผู้นำผู้บริหารจะใช้แค่ทฤษฏี X-Y ของ McGregor คงไม่เพียงพอเพราะคนรุ่นใหม่เขาบอกว่า “I want employment but I don’t want bosses” เขาต้องการทำงานแต่ไม่ต้องการเจ้านาย การใช้คนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นนายจึงเป็นศิลปะการบริหารคนรุ่นใหม่ ผู้นำผู้บริหารต้องเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อจะเจียรนัยคนธรรมดาให้สามารถเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้ แก่องค์กรได้มากที่สุด เหมือนกับผู้ฝึกสอนที่กระตุ้นให้นักกีฬาทุกคนแสดงศักยภาพสูงสุดออกมาให้แก่ทีม
  3. Learn how to be world class customers เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ซื้อระดับโลก
    บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสนใจอย่างมากในการผลิตและการขาย มุ่งการทำตลาดให้สินค้าขึ้นไปอยู่ในระดับโลก (World class) แต่มักจะมองข้ามการเอาใจใส่ในด้านการซื้อวัตถุดิบ ทำให้เป็น great marketer but worse buyer ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เพราะต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบสูงกว่าที่ควรจะเป็น จึงต้องใส่ใจทำบริษัทของตนให้เป็น great buyer ด้วยการเป็นผู้ซื้อระดับโลกที่ฉลาดซื้อเช่นเดียวกับฉลาดขาย
  4. Innovate for affordability นวัตกรรมที่ซื้อได้
    นวัตกรรมเป็นเรื่องจำเป็นในการอยู่รอดของธุรกิจ แต่ต้นทุนของการได้มาซึ่งนวัตกรรมต้องไม่สูงมากจนทำให้สินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมไม่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ เนื่องจากคนไม่สามารถซื้อ เพราะราคาที่แพงเกินไป เช่นนาฬิกาชั้นดีของสวิสยังถูกนาฬิกา Timex ของอเมริกาตีกระหน่ำเสียจนน่วมเพราะราคาที่สามารถซื้อได้ เช่นเดียวกับ Software ของอินเดียสามารถแย่งตลาดจากอเมริกาได้เพราะราคาที่จูงใจกว่า สินค้าของจีนขายได้ในตลาดทั่วโลกเพราะมีนวัตกรรมที่ราคาถูกกว่า ทำให้คนทั่วโลกหลายระดับสามารถซื้อสินค้าได้
  5. Nurture nature ดูแลสิ่งแวดล้อม
    ทำธุรกิจยุคนี้ถ้าไม่มีสำนึกเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นผู้ร้ายของสังคมไปเลย ประชาชนแม้เขาจะไม่ใช่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัทแต่ก็มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์กระบวนการผลิตและการให้บริการของบริษัทได้ ความตื่นตัวในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้ผู้บริโภคสินค้าและบริการและประชาชนทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโลก
  6. Find a higher purpose หาจุดประสงค์ที่สูงกว่า
    ผู้นำผู้บริหารที่คิดเฉพาะ บรรทัดสุดท้ายของบัญชี (Bottom line) ว่ามีกำไรมากที่สุดเท่าไหร่ ปัจจุบันต้องคิดใหม่เพราะกระแสสังคมมองอะไรที่มากกว่าเงินไปแล้ว บริษัทจึงต้องมีจุดประสงค์ที่สูงกว่าเงิน คือความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ถึงจะหาคนดีเข้ามาทำงานได้และมีคนอุดหนุนสินค้า
  7. Practice a culture of responsibility ปฏิบัติวัฒนธรรมความรับผิดชอบ
    การล้มของบริษัทการเงินในสหรัฐอเมริกาเพราะความโลภ การปฏิเสธสินค้าจากจีนที่ปนเปื้อนสารพิษเพราะความโลภ ทำให้เรื่องความรับผิดชอบกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้นำผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์การคิดสร้างคุณค่าใหม่นำไปใช้ปฏิบัติในทุกระดับขององค์กรจนเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ขององค์กรให้ได้

Jim Rohn กล่าว่า “You cannot change your destination overnight, but you can change your direction overnight.” คุณไม่สามารถเปลี่ยนจุดหมายของคุณได้ในเวลาเพียงข้ามคืนแต่คุณสามารถเปลี่ยนทิศทางได้ ถ้าผู้นำผู้บริหารไทยยังไม่ยอมเปลี่ยนทิศทางในการนำบริษัทให้ดีกว่านี้ อีกไม่นานความล้มเหลวจะมาเยือน


บทความแสดงทรรศนะอิสระของผู้เขียน ใช้แหล่งข้อมูลสาธารณะ ไม่มีเจตนาชักชวนให้ผู้อ่านเชื่อ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือส่งบทความต่อ หากมีความประสงค์จะเลิกรับบทความ กรุณาแจ้งให้ทราบ ขอบคุณที่อ่านและเผยแพร่ต่อ ด้วยความปรารถนาดี... สมชัย ศิริสุจินต์ sirisujin@yahoo.com


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที