INFORWARRIOR

ผู้เขียน : INFORWARRIOR

อัพเดท: 09 ม.ค. 2009 01.06 น. บทความนี้มีผู้ชม: 238202 ครั้ง

The The Cathedral and The Bazzar หรือในชื่อภาษาไทยว่า "มหาวิหารกับตลาดสด" คือหนึ่งในบทความที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนนักพัฒนา
ซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส และมักจะกล่าวกันว่า นี่คือบทความที่ "ต้องอ่าน" สำหรับทุกคนที่สนใจโลกของโอเพ่นซอร์สอย่างแท้จริง


มหาวิหารกับตลาดสด

1. มหาวิหารกับตลาดสด


Linux คือปรากฏการณืที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 1991) ใครจะไปคิดว่าระบบปฏิบัติการระดับโลกจะสามารถก่อตัวขึ้นมาราวกับมีปาฏิหาริย์ จากการแฮ็กเล่นกันสนุกๆ ยามว่างของเหล่านักพัฒนานับจำนวนหลายๆ พันคนจากทั่วทุกมุมโลก ที่เชื่อมต่อกันด้วยเส้นใยบางๆ อย่างดินเตอร์เน็ตเท่านั้น

ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่เชื่อ ตอนที่ Linux เข้ามาอยู่ในข่ายความรับรู้ของผมเมื่อต้นปี 1993นั้น ผมได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ Unix และการพัฒนาแบบโอเพ่นซอร์สมาร่วมสิบปีแล้ว ผมยังเป็นหนึ่งในผู้สมทบงานให้กับ GNU เป็นคนแรก ๆ ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ผมได้ปล่อยซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สออกสู่อินเตอร์เน็ตแล้วหลายตัว โดยได้สร้งและร่วมสร้างโปรแกรมหลายโปรแกรม (อาทิเช่น nethack, โหมด VC และ GUD ของ Emacs , xlife และอื่นๆ) ซึ่งยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในทุกวันนี้ ผมคิดว่าตัวเองมีความเข้าใจดีในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์

แต่ Linux ได้ลบล้างความคิดหลายอย่างที่ผมเคยชื่อว่าตัวเองรู้แล้วนั้นออกไป ผมเคยพร่ำสอนเกี่ยวกับบัญญัติของ Unix เรื่องการเขียนโปรแกรมขนาดเล็ก การสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็ว และการเขียนโปรแกรมแบบวิวัฒนาการมานานหลายปี แต่ผมก็ยังเชื่ออีกด้วยว่า มันมีความซับซ้อนอย่างยิ่งยวดในระดับบหนึ่ง ที่จำเป็นต้องใช้วิธีการพัฒนาแบบรวมศูนย์ ต้องอาศัยระบบระเบียบขั้นตอนในการปฏิบัติ ผมเชื่อว่าซอฟต์แวร์ที่สำคัญๆ (เช่น ระบบปฏิบัติการและโปรแกรมขนาดใหญ่อย่าง Emacs ) ควรถูกสร้างเหมือนสร้างมหาวิหาร (cathedral) โดยพ่อมดซอฟต์แวร์สักคน หรือผู้วิเศษกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นมาอย่างวิจิตรบรรจง ภายในดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันวิเวก โดยไม่มีตัวทดสอบ (beta) ออกมาให้เห็นก่อนที่จะถึงเวลาของมัน

แต่วิธีการพัฒนาของ Linus Torvalds ที่ออกตัวให้เนิ่นๆ และออกให้ถี่ๆ มอบงานทุกส่วนออกไปเท่าที่จะทำได้และเปิดกว้างจนถึงขึ้นที่ไร้ระเบียบมาตรฐาน นี่ไม่ใช่การสร้างมหาวิหารอย่างเงียบขรึมด้วยอาการเทิดทูนบูชา แต่ชุมชนของ Linux นั้นเหมือนกับตลาดสด (bazaar) ที่เอะอะอื้ออึงฟังไม่ได้ศัพท์ ซึ่งแต่ละคนมีวาระและวิธีการที่แตกต่างหลากหลาย (เห็นได้จากไซต์ FTP ของ Linuxที่ใครก็สามารถส่งผลงานของตัวเองเข้ามาได้) การจะเกิดระบบปฏิบัติการที่เสถียร และเป็นเอกภาพขึ้นได้จากสภาพดังกล่าว จึงดูเหมือนต้องเป็นผลจากปาฏิหาริย์เท่านั้น

ความจริงที่น่าตกใจมากก็คือ การพัฒนาแบบตลาดสดนี้ไม่เพียงแต่แค่ใช้งานได้ แต่มันยังได้ผลดีอีกด้วย ขณะที่ผมเรียนรู้ไปเรื่อยๆ นั้น ผมไม่เพียงแต่ทุ่มเทให้กับโครงการทั้งหลาย แต่ผลยังพยายามหาสาเหตุว่า ทำไมโลกของ Linux จึงไม่เพียงแต่ไม่แตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยความโกลาหล แต่ยังกลับแข็งแกร่งและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอัตราความเร็วที่นักสร้างมหาวิหารแทบไม่สามารถจินตนาการไปถึงได้

ในช่วงกลางปี 1996 ผมคิดว่าผมเริ่มที่จะเข้าใจแล้ว โดยผมมีโอกาสอันยอดเยี่ยมที่จะทดสอบทฤษฏีสำหรับการพัฒนาแบบโอเพ่นซอร์สที่ได้ผล หลายอย่างไม่ใช่สิ่งที่ผมเพิ่มเรียนรู้เป็นครั้งแรกจากโลกของ Linux แต่เราจะเห็นว่า โลกของ Linux ทำให้มันโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าการนำเสนอของผมนี้ถูกต้อง ทฤษฏีเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจอย่างชัดเจนด้วยว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้สังคมของ Linux กลายเป็นบ่อเกิดของซอฟต์แวร์ดีๆ และอาจจะช่วยให้คุณพัฒนาผลิตภาพของคุณเองให้มากขึ้นได้ด้วย


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที