editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654540 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


เบื้องหลังเด็กไทยได้แชมป์โลก “หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน

สุดยอดจริงๆครับสำหรับเด็กไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเทศไทยในการเป็นแชมป์โลก“หุ่นยนต์กู้ภัย” สองปีซ้อน ของการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพ (WorldRoboCup) ผมได้ขอให้ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ให้ข้อมูลเบื้องหลังความสำเร็จดังต่อไปนี้ครับ

การแข่งขัน WorldRoboCup นี้มีขึ้นติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปี โดยมีการเวียนจัดไปตามประเทศต่างๆ ตามโอกาสและเวลา ในช่วงเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมา สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย ในการแข่งขันต่างๆ ที่สามารถไปเข้าร่วมกับการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพได้ โดยเริ่มที่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทซีเกทเทคโนโลยี ซึ่งตรงกับการแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก (Robot Soccer – Small Size League)
       
และเมื่อ3 ปีที่ผ่านมาสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ร่วมมือกับเครือซิเมนต์ไทย เพื่อจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ใหม่ขึ้น คือ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกหาตัวแทนเข้าร่วมชิงแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์โลก (WorldRoboCup Rescue) ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยได้รับความสนใจจากนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะหุ่นยนต์ที่ได้พัฒนาขึ้น เป็นหุ่นยนต์ที่มีความใกล้เคียงกับหุ่นยนต์ที่จะประยุกต์ใช้ได้จริง จึงเป็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก

ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายทางเทคนิคว่าหุ่นยนต์กู้ภัยที่พูดถึงและใช้ในการแข่งขันนี้ว่าเป็นอย่างไร หุ่นยนต์กู้ภัย โดยมากจะเป็นหุ่นยนต์เคลื่อนที่ขนาดกลางขนาดไม่ใหญ่กว่า 70 x 70 x70 ลบ.ซม. ก็ขนากเล็กกว่ารถไฟฟ้าที่เด็กอายุสัก 5-6 ขวบสามารถขึ้นไปขี่ได้ และน้ำหนักรวมก็ไม่น่าจะเกิน 70 กิโลกรัม หุ่นยนต์กู้ภัยจะต้องมีสมรรถนะในการเคลื่อนที่ในพื้นที่จำลองซากปรักหักพังของเราได้ รวมถึงการเคลื่อนที่ปีนขึ้นลงบันไดชัน และทางลาดชันกว่า 30 องศาได้
      
นอกจากนี้หุ่นยนต์กู้ภัยต้องมีความสามารถในการเก็บข้อมูล ของเหยื่อเคราะห์ร้าย เช่น รูปลักษณ์ การเคลื่อนไหว การส่งเสียงขอความช่วยเหลือ ความร้อน และการหายใจ โดยตรวจปริมาณคาร์บอนไดออกฆไซด์ในบริเวณรอบๆ เหยื่อเคราะห์ร้าย ทั้งนี้หุ่นยนต์ดังกล่าว อาจจะเป็นหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกล (Tele-Operative Robot) หรือหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ (Autonomous Robot) ก็ได้ ซึ่งหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลจะเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะความยุ่งยากซับซ้อนและความต้องการทางด้านเงินทุนสนับสนุนที่น้อยกว่า
      
การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้นมากกว่า 60 ทีม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ผศ.ดร.ทวีเดช ศิริธนาพิพัฒน์ เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันภายใต้ความดูแลของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและการสนับสนุนของเครือซิเมนต์ไทย ทีมชนะเลิศ คือ ทีม อินดิเพนเดนท์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปราจีนบุรี ผมยังจำได้ว่าน้องๆ ในทีมยังดูอ่อนประสบการณ์อยู่มาก ในปีนั้นหลังจากทีม อินดิเพนเดนท์ชนะเลิศชิงแชมป์ประเทศไทย ก็จะต้องเตรียมตัวไปเข้าร่วมการแข่งขันเวิลด์โรโบคัพ เรสคิว (WorldRoboCup Rescue 2005) ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
      
ปีนั้นผมไปร่วมสังเกตการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย ก็พบว่า น้องๆ ในทีมนำทีมโดย นายพินิจ (โน๊ต) เขื่อนสุวงศ์ เป็นกลุ่มนักศึกษาที่มีความเป็นกันเอง ฉลาด มุ่งมั่น และมีจิตใจที่ดีไม่คิดร้ายต่อคู่ต่อสู้ แม้ว่าอยู่ในระหว่างการแข่งขัน ผมได้มีโอกาสเข้าไปแนะนำและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่บ้าง
      
ปีนั้นทีม อินดิเพนเดนท์ ได้ผ่านเข้ารอบไปจนถึงรอบ เซมิไฟแนล (Semi-Final) ซึ่งก็เป็นที่น่าดีใจเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จสำหรับทีมหน้าใหม่จากประเทศไทยอย่างเรา อย่างไรก็ตามหุ่นยนต์จากทีมอินดิเพนเดนท์ ก็เป็นที่สนใจมากอยู่ เพราะเป็นหุ่นยนต์ขับเคลื่อนด้วยล้อ จำนวน 10 ล้อเรียงต่อกัน และทำงานได้อย่างเป็นที่น่าประทับใจ ทั้งนี้ทีมอื่นๆ จะเน้นใช้หุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยสายพานคล้ายรถถัง และแชมป์โลกในปีนั้นคือ ทีม เพลลิแกนยูไนเต็ด (Pelican United) จากประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง

ในปีต่อมาการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงแชมป์ประเทศไทยปี 2548 ปีนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยผมมีหน้าที่เป็นพ่องานจัดการแข่งขัน ภายใต้ความดูแลของสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยและสนับสนุนโดยเครือซิเมนต์ไทยเช่นเคย
      
ปีนี้บอกได้ว่า มาตรฐานของหุ่นยนต์ที่มาเข้าร่วมการแข่งขันสูงขึ้นกว่าปีแรกเป็นอย่างมาก ทั้งหมดมีทีมเข้าร่วมสมัครมากกว่า 100 ทีม การแข่งขันแบ่งเป็นสองรอบ คือ รอบคัดเลือก (จากทั้งหมดคัดให้เหลือ 8 ทีม) และรอบชิงชนะเลิศจัดขึ้นที่ เอ็มซีซี ฮอลล์ เดอะมอลล์งามวงค์วาน
      
ปีนี้ทีม อินดิเพนเด้นท์ ก็พัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องระบบการติดต่อสื่อสารไร้สาย ระหว่างหุ่นยนต์และสถานีควบคุมระยะไกล ที่ทำได้ดีอย่างไร้ปัญหา อย่างไรก็ตามถึงแม้ทีมอินดิเพนเดนท์จะเป็นแชมป์เก่า ที่ผ่านการแข่งขันในระดับโลกมาแล้ว ก็ไม่ได้ทิ้งห่างทีมต่างๆ ในรอบชิงชนะเลิศภายในประเทศของเรา นั่นก็แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานการแข่งขันของเรา และความสามารถของนักศึกษาของเราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก
      
ในที่สุดผลก็ออกมาว่า ทีมอินดิเพนเดนท์ สามารถป้องกันแชมป์ประเทศไทยได้เป็นปีที่ 2 โดยครั้งนี้ผมจะต้องทำหน้าที่เป็น “โค้ช” พาน้องๆ ทีมอินดิเพนเดนท์ ไปร่วมการแข่งขันชิงแชมป์เวิลด์โรโบคัพ เลสคิว (WorldRoboCup Rescue 2006) ที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมันนี

สำหรับปีนี้มีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 18 ทีม สำหรับทีมที่น่ากลัวก็คงเป็นทีม เพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่นที่ขนหุ่นยนต์ทั้งแบบควบคุมระยะไกล และหุ่นยนต์อัตโนมัติถึง 6 ตัว นอกจากนี้ก็เป็นทีมจากประเทศเยอรมันนีที่พึ่งชนะเสิศการแข่งขัน เยอรมันโอเพ่นมา เร็วๆ นี้ ทีมจากประเทศออสเตรเลียก็ยังคงเป็นทีมที่น่าจับตามอง ทีมจากทางเจ้าภาพ Georgia Tech เอง และทีมจากสถาบันชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกาคือ California Institute of Technology – Cal Tech ที่เป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยหลักขององค์การนาซ่า อย่าง Jet Propulsion Lab – JPL
      
การแข่งขันปีนี้เป็นการแข่งขันสุดโหดที่ต้องมีการพันธกิจ (Mission) ระหว่างการแข่งขันถึง 9 พันธกิจ โดย 5 พันธกิจแรกจะคัดทีมกว่าครึ่งออก สำหรับ 3 พันธกิจถัดมาจะเป็นการตัดสินรอบชิงชนะเลิศ และพันธกิจสุดท้ายจะเป็นการแข่งแบบวัดใจดูความสามารถและสมรรถนะของหุ่นยนต์ เรียกว่า “Best-In-Class” คล้ายๆ เทคนิคยอดเยี่ยม เป็นต้น สำหรับ ในพันธกิจที่ 1 ทีมอินดิเพนเดนท์ยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ คือพบเหยื่อเคราะห์ร้ายเพียง 2 เหยื่อและยังมีปัญหากับการติดต่อสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์และผู้ควบคุม ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในทีมระดับแชมป์โลก ซึ่งผมเองและอาจารย์อีกสองท่านในฐานะที่ปรึกษาและโค้ช จากทางสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ก็ยังไม่ยอมทำอะไรโดยยังให้โอกาสสมาชิกทีมอยู่ นอกจากนี้ก็เป็นทีมรุ่นน้อง “ไอเดียล” ที่ทำได้ไม่เลวโดยค้นพบเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ถึง 4 เหยื่อ และทีมจากมหาวิทยาลัยหอการค้ายังคงตื่นสนาม ยังไม่พบเหยื่อเคราะห์ร้ายเลย และมีปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างหุ่นยนต์เป็นอย่างมาก
      
พันธกิจที่ 2 ในวันต่อมา ทีมอินดิเพนเดนท์ ทำได้ดีขึ้นแต่ผมรู้ว่า มันยังไม่ใช่ความสามารถสูงสุดของพวกเขา โดยสามารถหาเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ 4 เหยื่อ แต่ปัญหารเรื่องการสื่อสารยังคงมีอยู่ ทำให้ทีมไม่สามารถใช้หุ่นยนต์หลัก คือ Indy 1 ได้ โดยต้องใช้หุ่นยนต์รองคือ Indy 2 ในการทำคะแนน และทีมไอเดียลก็ยังคงเส้นคงวาทำได้ดีขึ้นโดยค้นพบเหยื่อเคราะห์ร้าย ถึง 5 เหยื่อในขณะที่ ทีมจากมหาวิทยาลัยหอการค้า สภาพดีขึ้น ทั้งนี้คะแนนอย่างเป็นทางการตั้งแต่พันธกิจที่ 1 ยังไม่ออก ผมก็ได้ปรึกษากับอาจารย์วรา และสรุปได้ว่า ถึงเวลาจุดไฟสตาร์ทเครื่องทีมแชมป์เก่าได้แล้ว ทั้งนี้เพราะทีมอินดิเพนเดนท์ หลังจากได้แชมป์โลกที่เบรเมน แต่ละคนก็เริ่มขยับขยายเพื่ออนาคตของเขา ไม่ว่าจะเป็น นายพินิจ (โน๊ต) ที่กำลังจะเตรียมตัวไปเรียนต่อปริญญาโท และเอก ที่ประเทศฝรั่งเศส และนายเนติ (เน) ที่ ทาง สจพ. ส่งให้ไปทำวิจัยที่ประเทศเยอรมันนี ทีมจึงขาดความเป็นทีมเวิร์กลงไป อาจารย์วราและผมก็ได้เรียกสมาชิกทีมอินดิเพนเดนท์มารวมพลคุยกันเป็นการส่วนตัว เรียกได้ว่า เราใช้จิตวิทยา เพียงเล็กน้อย กับสมาชิกทีมที่เรียกว่ามีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้เขาลดความตื่นแชมป์ หรือที่เรียกว่า Champion Syndrome ไปได้ ทีมเขากลับมามีระบบอย่างน่าเหลือเชื่อ ในพันธกิจที่ 3 ทีมอินดิเพนเดนท์ก็ทำลายสถิติสนามได้ทันทีโดยสามารถหาเหยื่อเคราะห์ร้ายได้ถึง 6 เหยื่อ ซึ่งเป็นกำลังใจให้ทีมน้อง อย่างไอเดียวที่ตามติดมาเป็น 6 เหยื่อเช่นกัน สำหรับทีมจากหอการค้าก็ได้ 5 เหยื่อเคราะห์ร้าย เป็นว่าทีมจากประเทศไทยเข้าที่เข้าทางและเป็นที่โดดเด่นกว่าทีมอื่นๆ มาก
 
สรุปว่าเราผ่าน 5 พันธกิจ เข้ารอบชิงชนะเลิศ เป็นที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม โดยที่ ทีมน้องใหม่ “ไอเดียล” แสดงความ “นิ่ง” กว่ารุ่นพี่เข้าเป็นที่หนึ่ง ทีมอินดิเพนเดนท์ เข้าเป็นที่สอง หลังจากคืนฟอร์มมาได้ แลทีมน้องใหม่ จากหอการค้ามาเป็นที่ 3 ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับประธานกรรมการจัดการแข่งขัน นายอาดาม จาคอบ (Mr. Adam Jacob) ในปีนี้และพบว่า สิ่งที่ทีมอินดิเพนเดนท์ทำไว้ได้ดีกว่าทีมอื่นๆ หรือแม้แต่ดีกว่ากฏกติกาของการแข่งขันนั้น ถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงมาตราฐานการทดสอบหุ่นยนต์กู้ภัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เป็นการแสดงถึงความสำเร็จในการยกระดับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยที่จัดขึ้นภายในประเทศที่โดย สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผมก็ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการกำหนดมาตรฐานหุ่นยนต์กู้ภัยในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นการเปิดโอกาสแก่วงการวิชาการหุ่นยนต์ไทย ต่อไป
      
สำหรับในรอบชิงชนะเลิศของการแข่งขัน เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว 2007 นั้น สนามแข่งขันได้ถูกดัดแปลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าและมีความยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างยิ่ง คุณมัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เครือซีเมนต์ไทย ได้นำทีมนักข่าวจากประเทศไทยเพื่อเข้าทำข่าว รวมถึงให้กำลังใจน้องๆ สมาชิกทีมแข่งหุ่นยนต์เป็นอย่างดี ในที่สุดพันธกิจที่ 1 ของรอบชิงชนะเลิศ ทีมอินดิเพนเดนท์ก็ทำลายสถิติของสนามได้อีกครั้งโดยค้นพบเหยื่อ เคราะห์ร้ายได้ถึง 7 เหยื่อ ในขณะที่ ทีมไอเดียลทำได้ 6 เหยื่อ และหอการค้าทำได้ 5 เหยื่อ จากนั้นทีมเพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มตีตื่นจากความได้เปรียบที่เขามี หุ่นยนต์อัตโนมัติ จนแซงหน้าขึ้นมาเป็นที่ 2 ในที่สุด สรุปผลการแข่งขันคือ ชนะเลิศอันดับที่ 1 ทีมอินดิเพนเดนท์ จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แชมป์โลกจาก เบรเมน 2006 สามารถรักษาแชมป์ขึ้นครองตำแหน่งแชมป์โลก เวิร์ลด์ โรโบคัพ เรสคิว ปี 2007 ที่แอตแลนต้า เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน สำหรับ อันดับที่ 2 ได้แก่ทีม เพลลิแกน ยูไนเต็ด จากประเทศญี่ปุ่น อันดับที่ 3 ได้แก่ทีม CEO Mission II จากมหาวิทยาลัยหอการค้า และอันดับที่ 4 ทีมแชมป์ประเทศไทยปี 2549 จากสถาบันพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

จากผลการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรฐาน ความพร้อมของ ศาสตร์ทาง วิชาการหุ่นยนต์ ของไทยที่อยู่ในระดับแข่งขันกับชาติต่างๆ ได้แล้ว นอกจากนี้ก็คือคุณภาพของ นักศึกษา วงการศึกษา ของไทยที่สามารถผลิตบุคลาการระดับโลกได้ ผมต้องของขอบคุณ นักศึกษา ครูอาจารย์ของทีมทุกทีมที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันให้มาตราฐานหุ่นยนต์ของเราให้สูงขึ้น ผู้สนับสนุนจากภาคเอกชน เครือซิเมนต์ไทย และกรรมการและสมาชิกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยทุกท่าน อดีตนายกสมาคมฯ ทุกท่าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล และรศ.ดร.ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ที่ได้ร่วมกันส่งเสริมวิชาการทางด้านหุ่นยนต์ในประเทศไทยให้พัฒนามาจนถึงจุดสูงสุดจุดนี้ได้ ผมมั่นใจว่าเราจะยังก้าวให้สูงขึ้นต่อไป สุดท้ายขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ส่งใจไปเชียร์และให้การต้อนรับความสำเร็จ ซึ่งผมกล่าวในนามนายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยคนปัจจุบันว่า “แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยสองสมัยซ้อนนี้ เป็นความสำเร็จของคนไทยทุกคน”


ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที