editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654729 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


หุ่นยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ

    
       ตั้งใจว่าวันนี้จะเขียนเรื่องสมองหุ่นยนต์ยุคใหม่ที่ใช้อนุมูลไฮโดรคารบอนแทนซิลิคอนอย่างปัจจุบัน เผอิญแฟนคอลัมน์ส่งข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ “หุ่นยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ (National Robot) ” ของเกาหลีใต้มาให้อ่าน ผมจึงอยากคุยถึงเรื่องนี้ก่อน

       “รัฐบาลกิมจิเปิดแผนกระตุ้นการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีเกาหลีใต้ ด้วยการประกาศความร่วมมือกับ 8 บริษัทไอทีสัญชาติเกาหลีใต้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันพัฒนา "หุ่นยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ (National Robot)" สำหรับวางจำหน่ายโดยมีจุดขายเป็นฟีเจอร์ช่วยเหลืองานในครัวเรือน เตรียมสลัดภาพที่นักวิเคราะห์มองว่าเกาหลีใต้ยังเป็นรองญี่ปุ่นและสหรัฐฯอยู่หลายขุม”
       
       ที่จริงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้มิได้ห่างไกลจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มากนัก มีสถาบันการศึกษาและวิจัยชั้นนำหลายแห่ง เช่น ไคสท์ (Korea Institute of Science and Technology: KIST) ที่ผลงานทั้งงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ร่วมกับอุตสาหกรรมออกมาค่อนข้างมาก
       
       แน่นอนครับ ไคสท์เกิดจากการผลักดันและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลเกาหลีใต้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี จนทำให้มีการใช้บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้อุตสาหกรรมบางอย่างเช่น อุตสากรรมเหล็กและเหล็กกล้าก้าวขึ้นอันดับหนึ่งของโลก ส่วนอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ คงไม่ต้องพูดถึงผู้อ่านหลายท่านทราบดีว่าเขาก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว
       
       คนเกาหลีมีความขยันขันแข็งมาก สมัยผมยังเรียนอยู่ญี่ปุ่นเคยเห็นเพื่อนเกาหลีผัดข้าวกิน อีกมือหนึ่งถือหนังสืออ่านไปด้วย พวกเราเด็กไทยที่จับกลุ่มคุยกันอยู่ยังคิดว่าเพื่อนเกาหลีคนนี้ “เพี้ยน” หรือเปล่า แต่พอมื้อต่อไปเขามาทำกับข้าวไปดูหนังสือไปด้วยอีกเช่นเคย พวกเราจึงสรุปว่า เขาไม่เพี้ยนแต่เรามันบ้า ได้ทุนมาศึกษาต่อ แต่กลับมานั่งคุยกันย่างมาราธอน จึงวงแตกรีบไปดูหนังสือบ้าง
       
       ที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ผมยิ่งมีเพื่อนเกาหลีมากขึ้นโดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก หลายคนได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลของเขา ผมจึงมีโอกาสรับทราบแนวทางปรัชญาการจัดการและวิธีคิดของเกาหลีเพิ่มเติม ที่น่าสนใจเมื่อคนเกาหลีศึกษาจบได้รับปริญญาเอกแล้วอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอนของเขามาก แต่รัฐบาลเกาหลีจะแนะนำเชิงบังคับในฐานะผู้ให้ทุนว่า ให้ทำงานหาประสบการณ์ที่ สหรัฐอเมริกาก่อนสักอีก 1-2 ปี หรือไปเรียนสาขาที่แตกต่างไปจากสาขาหลักที่พวกเขาเรียน เช่น บริหารธุรกิจ หรือ การออกแบบอุตสาหกรรม เป็นต้น
       
       เพื่อนสนิทชาวเกาหลีบอกผมว่าแม้ไม่ถูกบังคับก็ต้องทำ เพราะจบปริญญาเอกใหม่ๆโดยไม่มีประสบการณ์อาจหางานทำที่ท้าทายไม่ค่อยได้ในบ้านเมืองเขา
       
       ย้อนกลับมาถึงประเทศไทย ผมโดนถามถึงความเป็นไปได้ว่าไทยเราสามารถมีโครงการ “หุ่นยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ” ได้หรือไม่? ในทางวิชาการขอตอบทันทีว่าเป็นไปได้ ไม่เห็นจะมีอะไรยุ่งยากเลย แต่ความเป็นจริง ความเป็นไปได้ทางวิชาการนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมากกับการทำให้โครงการเกิดขึ้น
       ที่มีผลมากกว่าคือปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์ แรงจูงใจพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเงื่อนไขความเชื่อในเทคโนโลยีไทย ผลิตภัณฑ์ของเราเองที่ถึงแม้ว่าในตอนต้นของการพัฒนาคุณภาพจะด้อยและราคาจะแพงกว่าของต่างประเทศก็ตาม
       
       หลายคนบ่นอย่างหมดกำลังใจว่า เป็นการยากมากที่ไทยจะพัฒนาโครงการอย่างที่เกาหลีใต้ทำอยู่ตามข่าวนั้น ผมยอมรับว่าใช่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การสนับสนุนในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าต่างประเทศผมขอร้องว่าอย่าไปยอมแพ้อะไรง่ายๆเลยครับ
       
       ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งท้าทายคนรุ่นเราเป็นอย่างดี ลึกๆแล้วอาจเป็นเหตุที่พวกเราพากันมาเกิดเป็นคนไทยในยามนี้ เป็นเวลาที่เราต้อง “ฮึดสู้” ด้วยธรรมวิริยะและเข้าใจสภาวธรรมอย่างถ่องแท้ เราก็สามารถพัฒนาประเทศเราได้เช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าทุกประเทศล้วนผ่านความยากลำบากนี้มาทั้งสิ้น
       
       ผมย้ำว่าเราต้องอดทน ทำงานหนัก และประหยัด อย่าเพิ่งตัดพ้อแต่เพียงไม่มีปัจจัยแล้วจะเดินหน้าไม่ได้ เรายังชีวิต จิตใจ และประเทศชาติที่เราจำเป็นต้องบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของความภูมิใจ-National Pride เพื่อคนรุ่นลูกหลานใช้เป็นฐานที่มั่นในการสร้างสังคมของเขาต่อไป
       
       ผมเห็นว่ามีสองแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาหุ่นยนต์ไทย หนึ่งนั้นคืออยากให้มีการจัดการระดับประเทศ เฉกเช่นเดียวกับ สิงคโปร์ เกาหลี และญี่ปุ่น สอง-อยากให้เอกชนใหญ่ๆของไทยที่มีความพร้อมด้านกำลังคนและเงินทุนแสดงบทบาทนำ พวกเราที่สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้เตรียมกำลังไว้ทั้งแรงกาย สมองและความคิดทางเทคนิคและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองทั้งสองแนวความคิดครับ
       
       ผมขอยกตัวอย่างผลงานของเด็กไทยในเรื่องนี้ ที่มีศักยภาพของเทคโนโลยีอนาคตและสามารกประยุกต์เชิงพาณิชย์ได้ด้วย ผลงานนี้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการควบคุมหุ่นยนต์โดยใช้สัญญาณไฟฟ้าทางชีวภาพ โดย คุณทนงศักดิ์ ภมรานนท์ นักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 2 ของ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
       
       เขาได้พัฒนาระบบควบคุมหุ่นยนต์โดยการขยับเขยื้อนดวงตา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการ หรือผู้ป่วยอัมพาตที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ สัญญาณอีโอจี ซึ่งเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่ได้จากการขยับเขยื้อนดวงตา เกิดจากศักย์ไฟฟ้าที่เรตินาและกระจกตา ซึ่งค่าไฟฟ้าจะเปลี่ยนไปตามการเคลื่อนที่ของดวงตา สามารถนำมาใช้งานผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์สั่งการฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ
       ผู้ใช้ต้องคาดแถบคาดหน้าผากซึ่งมีเซ็นเซอร์รับสัญญาณเพื่อส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังตัวรับ ในเบื้องต้น ผู้พัฒนาได้จำลองการบังคับการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ในแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ งานที่ทำอยู่คือแยกแยะความถี่ ขนาด และรูปร่างคลื่น ต่อจากนั้นจึงจับคู่คลื่นกับสัญญาณ บังคับได้ หก แบบ จากการมองซ้าย ขวา ขึ้น ลง และยักคิ้ว แล้วแต่ว่าจะจับคู่กับคำสั่งอะไร ในขณะนี้ยังทำได้ไม่สมบูรณ์นัก ยังมีความคลาดเคลื่อนจากการกะพริบตา จึงได้เตรียมการใช้เทคนิคทางปัญญาประดิษฐ์มาแก้ไขปัญหา เราสามารถประยุกต์การบังคับแบบนี้สำหรับผู้พิการที่ไม่มีแขนขาได้ เช่น บังคับการเคลื่อนที่ของรถเข็นแทนเมาส์คอมพิวเตอร์ได้
       
       งานวิจัยนี้ คุณทนงศักดิ์ได้แรงบันดาลใจมาจากคนพิการคือ สตีเฟน ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียง ทำให้เห็นว่าผู้พิการก็มีความสามารถ ควรหาวิธีการช่วยให้สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติได้ โครงการนี้คาดว่าอีกประมาณ 1 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์
       
       ยังมีงานวิจัยในลักษณะนี้อีกหลายชิ้นที่ ฟีโบ้ (www.fibo.kmutt.ac.th) และ ห้องปฏิบัติการ ของมหาวิทยาลัยต่างๆที่รอการประสานงานและปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน เยาวชนสมองดีประพฤติชอบเหล่านี้ ต้องการพัฒนาหุ่นยนต์สายพันธุ์ปัญญาไทยให้ไปถึง “หุ่นยนต์แห่งชาติ” อย่างมาก ผมได้แนะนำลูกศิษย์ฟีโบ้หลายคนว่าเรียนจบแล้วให้ออกไปตั้งบริษัทสร้างหุ่นยนต์
       
       ช่วยกันทำให้ความใฝ่ฝันเขาเป็นจริงเถิดครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที