editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654867 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


สถานภาพวิทยาการหุ่นยนต์ไทย

       
       ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของโรโบเฟสตา(RoboFesta) ผมได้รับเชิญไปประชุมระดมสมองเรื่องการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์อัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ (AI Robots) ที่เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12-15 ส.ค.นี้
       

       โรโบเฟสตาเปรียบได้กับมหกรรมด้านนวัตกรรมและการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2000 โดยจะใช้ชื่อว่า โรบอตโอลิมปิก แต่ติดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ทางกฎหมายที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลไม่อนุญาต
       
       มีหลายเรื่องที่ต้องคิดเมื่อมนุษย์และหุ่นยนต์ต้องอยู่ร่วมกัน หลายคนคงรอคอย อีกไม่นานนักจะมีทีมหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์(Humanoid Robots) ฟาดแข้งกับทีมดังๆอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในการแข่งขันเวิลด์คัพ ในขณะที่นักสังคมศาสตร์เป็นห่วงการแย่งงานและบทบาทบางอย่างจากมนุษย์ไป และถ้าหากอวัยวะเสมือน (Android Organs) ที่ทำงานร่วมกับสัญญาณสมองมนุษย์ได้รับการพัฒนาขึ้น บริษัทประกันชีวิตและสุขภาพคงต้องปวดหัวเปลี่ยนสูตรคำนวณหรือวิธีในการคิดเบี้ยประกันใหม่เนื่องจากมนุษย์จะมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
       
       มนุษย์สรรค์สร้าง “หุ่นยนต์” ขึ้นมาเพื่อช่วยงานจนถึงการเป็นเพื่อนคู่คิดของมนุษย์ ดังนั้น “ผู้สร้าง” และ “ผู้อาศัย” ในโลกนี้ร่วมกับหุ่นยนต์ ต้องเข้าใจวิทยาการสาขานี้ให้ถ่องแท้ มิฉะนั้นหุ่นยนต์อาจเป็นเช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีอื่นๆที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาแต่กลับให้ผลเสียเพราะมนุษย์เลินเล่อใช้งานผิดจุดประสงค์ที่แท้จริงไป
       
       ประเทศไทยนั้นยากที่จะหลบหลีกกระแสทางโลกที่พัฒนาด้านวัตถุและเทคโนโลยี ผมหวังว่าเรามี “พุทธจริต” เพียงพอในการเลือกแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย
       
       สถานภาพของวิทยาการหุ่นยนต์ไทยในปัจจุบันนั้น ครอบคลุม ทั้งด้านการวิจัย ด้านการศึกษา/เรียนรู้ และด้านอุตสาหกรรม ดังนี้
       
       1.ด้านการวิจัย
       

       ผลสืบเนื่องจากการที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช. ) ร่วมกับ ก.พ. จัดโครงการทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ. 2526ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีหุ่นยนต์ประมาณ 80 ท่าน กระจายทำงานในฐานะอาจารย์และนักวิจัยตามมหาวิทยาลัยและศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC และ NECTEC) นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก งานวิจัยที่ดำเนินอยู่ถูกจัดประเภทดังนี้
       1.1งานวิจัยพื้นฐานเพื่อให้ประเทศไทยมีความรู้ด้านหุ่นยนต์ในระดับแนวหน้าของโลกอย่างแท้จริง งานวิจัยเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) หัวข้องานวิจัยส่วนใหญ่เป็นส่วนต่อเติม จากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของนักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นๆ ตัวอย่างหัวข้องานวิจัยมีดังนี้
       
       -การทำงานร่วมกันของหุ่นยนต์หลายตัว
       -หุ่นยนต์โครงสร้างมนุษย์
       -การใช้สัญญาณประสาทมนุษย์ในการควบคุมหุ่นยนต์
       -ระบบตาของหุ่นยนต์ เป็นต้น
       
       งานวิจัยประเภทนี้ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
       
       1.2งานวิจัยเชิงประยุกต์ โดยเน้นการต่อยอดและการบูรณาการของเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่องานเฉพาะทางที่ต้องการรายละเอียด ความรวดเร็วและความปลอดภัยสูง ตัวอย่างเช่น สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหรือฟีโบ้ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้ร่วมมือกับสำนักงานวิจัยกระทรวงกลาโหมสร้างหุ่นยนต์กู้ระเบิดเพื่อบรรเทาเหตุร้ายในสามจังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ ฟีโบ้ได้จัดสร้างหุ่นยนต์ตรวจรอยร้าวของถังน้ำมันและหุ่นยนต์ทำความสะอาดท่อแอร์อีกด้วย
       
       มีการรวมตัวกันระหว่างนักวิจัยหุ่นยนต์ของหลายสถาบันการศึกษาผ่านสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากเนคเทค จัดสร้างรถอัจฉริยะโดยไม่มีคนขับขึ้น
       
       2.ด้านการศึกษาและการเรียนรู้
       

       มีการใช้เครื่องมือด้านหุ่นยนต์ เพื่อการเรียนรู้แบบConstructionism ของเด็กเล็กระดับประถมเช่นโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิศึกษาพัฒน์ ในการทำงานร่วมกับ Media Lab, จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์
       
       การเรียนรู้ที่ปะปนกับการแข่งขันหุ่นยนต์เกิดขึ้นที่ประเทศไทยกว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น
       
       -การแข่งขัน TPA RoboCon ภายใต้การบุกเบิกของท่านอาจารย์ กฤษดา วิศวธีรานนท์ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ต่อมาพัฒนาเป็น ABU Robot Contest ระดับภูมิภาคเอเชีย เด็กไทยสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศถึง 3 ครั้ง
       
       -Partner Robot Contest และ Intelligent Robot Content ในงาน Robofesta 2002 เด็กไทยก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ
       
       -Robo Cup จัดดำเนินการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ยากที่สุดในโลกเนื่องจากต้องใช้ความรู้ระดับงานวิจัยชั้นสูง ซึ่งเด็กไทยทำอันดับดีขึ้นทุกๆปี โดยในปีนี้เด็กไทยสามารถเข้าสู่รอบแปดทีมสุดท้ายได้นับเป็นความภาคภูมิใจเพราะงบประมาณของหุ่นยนต์ไทย :Jaidee มีเพียง 200,000 บาท ขณะที่หุ่นยนต์แชมเปี้ยนของญี่ปุ่นมีงบประมาณ 20 เท่าตัวซึ่งสูงถึง 4,500,000 บาท
       
       ทางด้านโปรแกรมการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
       

       ระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรทางด้าน Mechatronics เปิดสอนตามคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งเนื้อหาจะครอบคลุมทางด้านหุ่นยนต์ด้วย
       
       ระดับปริญญาโท มีการทำงานวิจัย ด้านหุ่นยนต์ผ่านภาควิชา วิศวกรรม เครื่องกล อุตสาหการ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ที่เป็นเฉพาะทางจริง ๆ คือ คณะเทคโนโลยีชั้นสูงของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และ โปรแกรมปริญญาโทด้านหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ ซึ่งโปรแกรมกำลังขยายออกไปจนถึงระดับปริญญาเอกภายใน พ.ศ.2550
       
       3. ด้านอุตสาหกกรรม
       

       ปัจจุบันประเทศไทย มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (แขนกล) ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ และ อิเล็กทรอนิคส์-ฮาร์ดดิส ประมาณ 3,000 – 4,000 ตัว ซึ่งทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ
       
       หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เฉพาะทางหากนำเข้าจะมีราคาแพงมาก ทางสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ ได้ร่วมมือกับอุตสาหกรรมไทยสร้างหุ่นยนต์ขนาดใหม่ (30 ตัน) ใช้ในสายการผลิตเหล็กรูปพรรณ และ หุ่นยนต์หยิบยางแท่น (10 ตัน) นอกจากนี้ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามฟีโบ้ได้ออกแบบ และ จัดสร้างหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต้นแบบ ให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อให้บริษัทไปผลิตเองอีก 100 ตัว ใช้ในโรงงาน และ ขยายออกไปในเชิงการค้า ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสายพันธุ์ไทยตัวแรก
       
       ในปัจจุบันประเทศไทยมีบริษัทขนาดเล็กที่มีความสามารถในการออกแบบ และ บูรณาการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อยู่ประมาณ 20 บริษัท




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที