editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 654391 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


ปัญญาของมนุษย์กำลังถูกท้าทาย

       เพื่อนนักวิจัยคนหนึ่งประสบความสำเร็จ หันมายึดอาชีพออกแบบสร้างหุ่นยนต์ของเล่นส่งขายทั่วโลก เนื่องจากผลิตคราวละหลายแสนตัวราคาจึงถูก ผมเองยังมีของเล่นประเภทนี้คือ โรโบซาเปี้ยน (Robosapien) ไว้ให้ลูกศิษย์ “เล่นอย่างฉลาด – สร้างปัญญา” ผมมีลูกศิษย์เก่งๆ เยอะ สามารถรื้อและประกอบได้ไม่เหมือนเดิม
โรโบซาเปี้ยน ถูกดัดแปลงด้วยการเพิ่มเติม “สมองและปัญญา” จากเดิมทำการควบคุมการเดินหรือเคลื่อนที่ด้วยรีโมตคอนโทรล ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับรถบังคับวิทยุ เครื่องบินบังคับวิทยุ ที่ต้องอาศัยการตัดสินใจของมนุษย์หรือผู้ควบคุม แต่ด้วยประสบการณ์และความรู้ความเชี่ยวชาญของ ดร.สยาม เจริญเสียง ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทำการชี้แนะแนวทางในการพัฒนาหุ่นยนต์โรโบซาเปี้ยนให้กับลูกศิษย์
       
       ถ้าคิดให้ดีคำชี้แนะนี้เปรียบเสมือน “ทางด่วนหรือทางลัด” ที่ทำให้ลูกศิษย์ไปถึงความรู้ที่ต้องการนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงหุ่นยนต์โรโบซาเปี้ยน โดยเริ่มตั้งแต่พิจารณาปัญหาพื้นฐานของหุ่นยนต์ก่อนว่า จะทำอย่างไรให้หุ่นยนต์มีสมองที่ฉลาดขึ้น?
       
       คุณสมบัติของสมองที่ฉลาดสำหรับหุ่นยนต์ ต้องสามารถที่จะทำการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เจอในสถานการณ์จริงได้เองและถูกต้อง และวิธีที่จะทำให้หุ่นยนต์รู้ถึงปัญหาหรือสถานการณ์ที่เจอได้ จำเป็นจะต้องมี “สัมผัส” เช่นเดียวกับมนุษย์ เช่น ตา หู เป็นต้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับส่งต่อให้ “สมอง” ไปคิดต่อว่าควรทำอย่างไรกับข้อมูลหรือสถานการณ์ที่เจอนั้น โดยสัมผัสของหุ่นยนต์ที่แทนตาหรือการมองเห็นได้มาจากการติดตั้งกล้องที่ส่วนหัวของหุ่นยนต์ และในส่วนของสมองของหุ่นยนต์จะใช้คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือ Microcomputer ติดตั้งไว้ที่ตัวหุ่นยนต์เพื่อทำการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากกล้องหรือสัมผัสต่างๆ เพื่อหาว่าควรจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในขณะนั้น เช่น ในกรณีทีหุ่นยนต์เดินไปเจอกำแพง หุ่นยนต์จะตัดสินใจว่าต้องเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาหรือถอยหลังได้เอง
นอกจากนี้ ในการที่จะทำให้หุ่นยนต์ฉลาดขึ้น สามารถทำได้โดยการรับรู้เสียงและการพูดโต้ตอบซึ่งทำได้ด้วยการติดตั้งไมโครโฟนและลำโพงไว้ที่หุ่นยนต์ ทำให้หุ่นยนต์สามารถที่จะทำการสื่อสารโต้ตอบกับมนุษย์ได้เสมือนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้าง “สมอง” ให้กับหุ่นยนต์ คือ การสร้างสมองที่สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ได้อย่างไม่จำกัด ประกอบกับการสร้าง “วิธีคิด” ที่ถูกต้องให้กับหุ่นยนต์และ เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนล้วนมีสมองที่ทัดเทียมกัน เพียงแต่แตกต่างกันที่วิธีคิดและประสบการณ์ที่เจอในชีวิต ซึ่งจะเห็นว่าคนที่มีวิธีคิดที่ดีหรือเคยเจอประสบกับเหตุการณ์นั้นมาก่อนจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าคนทั่วไป ด้วยคุณสมบัตินี้ จึงเป็นที่มาของการเรียนรู้ในสาขา “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligent)
       

       จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า โรโบซาเปี้ยน ถูกโปรแกรมให้สามารถคิดได้ระดับหนึ่งเป็น “ปัญญาเทียม ๆ” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความสนใจในวงการหุ่นยนต์มาก เพราะช่วยให้หุ่นยนต์เอาตัวรอดได้ในบางสถานที่ เช่น งานสำรวจในพื้นที่ห่างไกลหรืออันตราย สถานที่มนุษย์อยู่ไม่ได้ ควบคุมได้ไม่ดี หุ่นยนต์จึงต้องคิดและตัดสินใจได้เอง และปัญญาประดิษฐ์อันนี้เองที่ทำให้มนุษย์สร้างความสามารถใหม่ ๆที่มีคุณค่าขึ้นมา
       
       คุณวุฒิชัย วิศาลคุณา นักวิจัยของสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้คิดค้นสมองหุ่นยนต์ช่วยแปลภาษามือช่วยเหลือคนพิการ ทำให้เพื่อนๆ ของเราที่พิการสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น ซึ่งแรงกระตุ้นที่ทำให้คุณวุฒิชัยต้องการที่จะคิดค้นสมองหุ่นยนต์ช่วยแปลภาษามือนี้ เกิดจากการพบเห็นว่าในปัจจุบันสถานที่ในแต่ละแห่งของประเทศไทย มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการไม่เพียงพอ อาทิห้องน้ำสำหรับคนพิการทางขา ทางเดินที่มีปุ่มพื้นผิวบนพื้นสำหรับผู้พิการทางสายตา เป็นต้น จากจุดนี้เองทำให้มองเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างคนปกติและคนพิการ ประกอบกับความประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือผู้พิการทั้งทางสังคมด้านและจิตใจให้เท่าเทียมกับคนปกติ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “การสร้างสมองหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่ในการแปลภาษามือจากผู้พิการเป็นเสียงพูด” ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการพูดคุยสนทนากันด้วยเสียงพูดของคนปกติ
       
       นอกจากนี้ สมองหุ่นยนต์นี้ยังสามารถเรียนรู้ภาษามือจากผู้พิการเพิ่มเติมได้ เปรียบเสมือนกับสมองของมนุษย์ที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่เพื่อที่จะ “รู้จำ” สิ่งใหม่ๆ นั้นไว้เป็นประสบการณ์ เมื่อต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์เดิมที่ได้ทำการรู้จำไว้แล้ว จะสามารถที่จะทำการแปลภาษามือเป็นเสียงได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสมองหุ่นยนต์นี้สามารถที่จะทำการเรียนรู้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
       
       ในระยะหลัง ๆ นี้ เราพบว่ามีความสามารถของหุ่นยนต์หลาย ๆ อย่างที่มนุษย์ทำไม่ได้ หลายคนจึงกลัวว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานไปทำหมด บ้างก็คิดว่าหุ่นยนต์จะครองโลกบ้าง ผมคิดว่าเราอย่าเพิ่งไปกลัวเกินเหตุ แต่ควรให้ลูกหลานเรียนรู้และเป็น “ผู้นำ” ในศาสตร์เหล่านี้ ปัญญาเทียมของหุ่นยนต์แม้จะ “คิด” ได้อย่างรวดเร็ว แต่ยัง “รู้” ไม่เป็นเทียบมนุษย์ไม่ได้เลย
       
       พระอรหันต์ท่านหนึ่งได้เมตตาสั่งสอนปุถุชนเรื่องการรู้ของเราว่า “คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ถ้าไม่คิดจะไม่รู้เลย” แค่เพียงปฏิบัติถ้อยคำสั่งสอนนี้ได้ “ปัญญาแท้” ก็จะเกิดขึ้นได้




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที