editor

ผู้เขียน : editor

อัพเดท: 18 ส.ค. 2008 15.24 น. บทความนี้มีผู้ชม: 653520 ครั้ง

บทความเรื่องหุ่นยนต์จาก อาจารย์ ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)


ก้าวแรกเมื่อคิดจะสร้างหุ่นยนต์

สาขาสหวิทยาการหุ่นยนต์เกิดขึ้นไม่เกินห้าสิบปี ยังอยู่ในสภาวะการคิดค้นองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ปริศนาความลับการเคลื่อนที่อย่างละเอียดของหุ่นยนต์ที่ผมได้หาคำตอบบางส่วนไว้เมื่อสิบปีที่แล้วขณะที่ผมทำวิจัยระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยท็อปเท็นของอเมริกา ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในขณะนี้สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีของเมืองไทย ผมคาดว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายร้อยปี เราจึงจะได้เห็นการอิ่มตัวของสาขานี้
       
       อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยมีเยาวชนชั้นยอดอยู่เป็นจำนวนมาก เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังถูกจัดไว้อยู่ในกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยี อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องนำเข้าเทคโนโลยีหลักๆหลายอย่าง จนดูเหมือนว่าเราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีได้หรือประเทศเพื่อนบ้านเราได้เลย เมื่อวานก็มีตัวแทนบริษัทไทยผู้จำหน่ายอุปกรณ์และระบบหุ่นยนต์/กลไกอัตโนมัติให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์มาพบผม บ่นว่าโปรเจกต์ส่วนใหญ่ถูกบริษัทจากมาเลเซีย และสิงคโปร์แย่งไปทำหมด จริงอยู่การจัดการระดับประเทศของเรายังขาดการประสานงานและการกำหนดนโยบายชัดๆ จากคณะกรรมการการลงทุนสนับสนุนให้กิจกรรมงานอุตสาหกรรมที่มีคุณค่าสูงในเชิงผลกำไรและศักยภาพตกอยู่ในประเทศเราให้มากที่สุด แต่หากคิดให้ลึกจนถึงระดับล่าง ท่านผู้อ่านจะพบว่าเรายังขาดเวทีสำหรับเยาวชนไทย ขาดการให้โอกาสฝึกฝนงานจริง จนเยาวชนเหล่านี้ “สละทิ้ง” ความสนใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าสู่สายงานอาชีพที่มีการสนับสนุนดีกว่า ที่ๆมี “อุณหภูมิและความชื้น” ที่เหมาะสม หากรัฐและเอกชนไทยไม่รีบดำเนินการแก้ไขให้ทันท่วงที ระดับความสามารถการแข่งขันเชิงอุตสาหกรรมของไทยคงถอยห่างประเทศคู่แข่งทั้งสองอย่างแน่นอน เรามีแนวโน้มจะแพ้ แม้กระทั่งประเทศอุตสาหกรรมน้องใหม่ เช่น เวียดนาม เพื่อนผมคนหนึ่งไปทำธุรกิจที่นั่น บอกผมว่ามีหลายอย่างเราสู้เขาไม่ได้แล้วครับ
       
       การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์เป็นคำตอบหนึ่ง ที่สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) พยายามจัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับสิบปีที่ผ่านมา หลายครั้งพวกเราต้องอดทนกับแรงเสียดสีว่าเป็นการจัดให้เด็กๆมาทำของเล่นแข่งกัน ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์อันใด แต่ ณ วันนี้ เรามีศิษย์เก่าการแข่งขันหุ่นยนต์กว่า 4,000-5,000 คน กระจายตัวทำงานอยู่ในอุตสากรรมชั้นนำ มีภาระความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมอัตโนมัติ บ้างรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทออกแบบและสร้างระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและเครื่องมืออัตโนมัติ
       
       การแข่งขันข้างต้นยังมีส่วนทำให้สาธารณชนไทยได้รับทราบถึง การปรากฏตัวขึ้นมาของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ผมขอขอบพระคุณ อสมท ที่เข้ามาช่วยสื่อสารกิจกรรมนี้ในระดับระเทศ จนแม้กระทั่งมีเด็กๆ อายุ 4-5 ขวบ เริ่มสนใจและเล่นด้วยการสร้างหุ่นยนต์ นี่คือผลสืบเนื่องอีกประการหนึ่งจากการแข่งขันหุ่นยนต์ โดยส่วนตัวผมเห็นว่าเป็นเรื่องดีเพราะคุณพ่อคุณแม่เด็กต้องใช้เวลาเลือกหาซื้อของเล่นประเภทประกอบชิ้นส่วนและต้องเขียนโปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยตัวเด็กเอง นอกจากนี้ผมยังได้เห็นโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันว่า มีบริษัทเปิดให้บริการอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่น้องตัวเล็กๆ ผมขอขอบคุณที่มาช่วยแบ่งเบาภาระในการสร้าง “เขี้ยวเล็บ”ทางเทคโนโลยีสู่เด็กไทย
       
       การแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยนั้นผมมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่มาก และเมื่อผลลัพธ์ของการแข่งขันกระจายออกมาในวงกว้างมากในขณะนี้ จึงอยากให้ความเห็นแก่น้องๆ ในการเดิน “ก้าวแรก” เมื่อน้องคิดจะสร้างหุ่นยนต์ด้วยตนเอง อีกทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคุณพ่อคุณแม่ และบริษัทที่เปิดอบรมอยู่ขณะนี้นะครับ
       
       ประการแรก ต้องรู้ว่า “วิธีคิด” มีความสำคัญมากกว่าเนื้อหาความรู้ โดยเฉพาะสาขาหุ่นยนต์ที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้นว่ายังไม่นิ่ง งานวิจัยที่ผมทำเมื่อสิบปีที่แล้วยังล้าสมัยไปได้อย่างรวดเร็ว ผมเห็นว่าไม่แปลกอะไรเลยที่น้องๆ ตัวน้อยทั้งหลายจะสนใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์โดยมีมุมมองแบบนักวิจัย ไม่แน่นะครับหนูอาจจะ “ปิ๊ง” ไอเดีย ที่เลิศหรูที่ผมคิดไม่ถึงได้เหมือนกัน เด็กเล็กนั้นมีปฏิภาณที่อยู่ “นอกเหตุเหนือผล” มากกว่าผมที่หมกมุ่นอยู่กับทฤษฎีและตรรกะมานับ 30 ปี ติดกับดักของความคิดเดิมๆ
       
       ประการที่สอง กรุณาอย่าเน้นรูปแบบ หรือเชื่อสิ่งที่นักวิจัยรุ่นผมสร้างขึ้นมามากนัก เมื่อค้นพบว่าหุ่นยนต์ที่น้องสนใจนั้นมันทำงานได้ “อย่างไร” แล้ว ต้องคิดถามต่อเลยว่า “ทำไม” ต้องเป็นแบบนั้น เมื่อต้องศึกษาไปถึงกายวิภาคของหุ่นยนต์ จะพบว่ามีความเหมือนกันในเรื่องของ ลำตัว ระบบส่งกำลัง ระบบขับเคลื่อน แหล่งจ่ายพลังงาน การเลือกมอเตอร์ แขนและมือ อุปกรณ์ตรวจจับ อุปกรณ์แสดงผล หากน้องตั้งคำถามข้างต้นอยู่ตลอดเวลา น้องจะโตขึ้นเป็น “ผู้สร้าง” เทคโนโลยีอย่างแน่นอน
       
       ระบบควบคุมในปัจจุบันเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์มาก ดังนั้น จะ “เร็วและละเอียด” มาก แต่เพื่อประโยชน์อะไร บางสิ่งบางอย่างหากเร็วไปแต่ถ้าผิดก็จะส่งผลร้ายแรงกลับมามากเช่นกัน ดังนั้นความถูกต้องควรมาก่อนความเร็ว ผมสอนศิษย์ฟีโบ้เสมอว่า “ธรรมะแม้จะงุ่มง่าม ยังดีกว่าอธรรมที่ปราดเปรียว” นอกจากนี้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ในปัจจุบันทำให้หุ่นยนต์เริ่มคิดเองขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว แนวโน้มเขาจะคิดเองมากขึ้น เราต้องการหุ่นยนต์ประเภทนี้หรือไม่และอย่างไร
       
       น้องต้องเรียนรู้เรื่องการใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง การปฏิบัติที่สัมพันธ์กับทฤษฎีทำให้ความคิดของน้องขึ้นสู่ระดับ “สร้างสรรค์” แทนที่จะเป็นเพียง “เพ้อฝัน” เท่านั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวผมเองที่โชคดีที่จบหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ดร.หริส สูตะบุตร ผู้สร้างหลักสูตรนี้ ได้เน้นความเข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เมือผมไปเรียนที่อเมริกา นอกจากออกแบบชิ้นส่วนหุ่นยนต์ได้ดีเพราะมี “มุมมอง” ด้านการสร้างและการใช้เครื่องมือแล้ว ยังเข้าโรงงานไปทำชิ้นงานได้ทันทีหลังจากออกแบบเสร็จสิ้นโดยไม่ต้องรอช่างเทคนิคของมหาวิทยาลัยเลย นอกจากเครื่องจักรกลแล้ว ยังมีเครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ โวลต์ และโอห์มมิเตอร์ ลอจิกโพรบ/ลอจิกพลัส ออสชิลโลสโครบ
       เครื่องวัดความถี่สัญญาณ เครื่องมือตรวจวัดระบบเซ็นเซอร์ ด้านภาพ เสียง กลิ่น รส เป็นต้น
       
       จากก้าวแรกนี้ ผมขออวยพรให้น้องก้าวขึ้นสู่ “ผู้นำ” เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในระดับโลก และอย่าลืมกลับมาสอนผมด้วยนะครับ




ข้อคิดเห็น/เสนอแนะ มาที่ผู้เขียนได้ที่ djitt@fibo.kmutt.ac.th



drdjitt7070.jpg

รู้จักผู้เขียน
รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา
จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ไดัรับทุนมอนบูโช รัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาและทำวิจัยด้านหุ่นยนต์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอน สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนฟุลไบรท์ และจากบริษัท AT&T ได้รับประกาศนียบัตรด้านการจัดการเทคโนโลยีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมลรัฐแมสซาชูเซสต์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา

ภายหลังจบการศึกษา ดร. ชิต ได้กลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือที่คนทั่วไปรู้จักในนาม “ฟีโบ้ (FIBO)” เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี เพื่อทำงานวิจัยพื้นฐาน และประยุกต์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนให้คำปรึกษาหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และบริษัทข้ามชาติ (Multi-national companies) ในประเทศไทยด้านการลงทุนทางเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติชั้นสูง และการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ



บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที