คงเดช

ผู้เขียน : คงเดช

อัพเดท: 01 ม.ค. 2009 23.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 187490 ครั้ง

ในขณะที่ "การให้รางวัล" เป็นสิ่งที่นำมาใช้ควบคุมการเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่กับมนุษย์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องระบบการให้รางวัลเท่าใดนัก...


Self-determination Theory (SDT) และ Cognitive Evaluation Theory (CET) ของ Deci และ Ryan (ตอนแรก)

จุดสูงสุดของการจูงใจพนักงานในองค์การคือ การทำให้พนักงานทุกคนมีแรงจูงใจในการทำงาน โดยไม่หวังผลตอบแทนอันเป็นอามิสสินจ้าง หรือรางวัลใดๆ เลย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การให้พนักงานทุกคนมีแรงจูงใจอันเกิดจากภายในของตัวเอง หรือรักในงานที่ทำนั่นเอง

แต่เราจะทำยังไงล่ะ?

Deci (1975) ได้นำเสนอแนวคิดเรื่องของแรงจูงใจภายใน (Intricsic Motivation) เอาไว้ และได้มีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง สำหรับ Deci แล้ว คนที่มี Intrinsic Motivation ต่อกิจกรรมหรือพฤติกรรมอะไรบางอย่าง คือคนที่เริ่มทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมนั้นๆ ด้วยตนเองเพราะรู้สึกชอบพอ สนใจ และพึงพอใจที่ได้กระทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมนั้นๆ

Deci และ Ryan (1985) จึงได้เสนอทฤษฎี Cognitive Evaluation Theory ซึ่งอธิบายว่า ในการที่จะให้คนเรามีแรงจูงใจภายในได้นั้น คนคนนั้นจะต้องได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่สำคัญ 3 อย่างก่อน ได้แก่ Need for Autonomy (ความต้องการที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง), Need for Relatedness (ความต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผุ้อื่น) และ Need for Competence (ความต้องการที่จะเป้นคนที่มีความสามารถ)

เมื่อนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้กับในองค์การ ก็หมายความว่าหากเราต้องการที่จะให้พนักงานมีแรงจูงใจภายในในการทำงานของตน เราก็ควรจะออกแบบงานให้...

1. พนักงานมีโอกาสที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ในระดับที่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานคนนั้นๆ ซึ่งหมายความว่า หัวหน้าควรมอบหมายงานให้กับลูกน้อง โดยอธิบายถึงเป้าหมายของงาน แต่ให้ตัวพนักงานผู้ปฏิบัติงานนั้น ได้มีโอกาสในการเลือกวิธีในการปฏิบัติเอง

2. หัวหน้าได้มีโอกาสเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อยามจำเป็น และมีการป้อน feedback ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ข้อควรระวังก็คือ การให้ความช่วยเหลือนั้นควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ ช่วยในกรณีที่พนักงานขาดปัจจัยที่จำเป็นเพื่อให้พนักงานสามารถที่จะทำงานนั้นให้บรรลุได้ด้วยตนเอง และการป้อน feedback ควรเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ คือพยายามที่จะ "จับถูก" หมายความว่า ควรเน้นที่จะนำสิ่งดีๆ ที่พนักงานทำมาชมเชย มากกว่าจ้องจับผิดพนักงานมาตำหนินั่นเอง...

และหากเป็นไปได้ ก็ควรจะออกแบบงานให้มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ภายในองค์การด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก หากพนักงานได้ตระหนักว่างานที่ตนทำอยู่นั้น มีความสำคัญต่อผู้อื่น ก็จะเป็นการเสริมสร้างความรู้สึกว่างานมีคุณค่าอีกด้วย (และก็จะเติมเต็ม Need for Competence ของพนักงานได้อีกทางหนึ่ง)

3. พนักงานที่ปฏิบัติงานมีความรู้สึกว่างานที่ตนเองทำนั้น ท้าทายความสามารถของตนเองในระดับหนึ่ง คือ ไม่ง่ายจนเกินไป และไม่ยากจนทำไม่ได้ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์มีความต้องการที่จะรับรู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความสามารถอยู่แล้ว... จำภาพยนตร์เรื่อง Troy ได้ไหมครับ? ที่คุณแม่ของ Achilles ทำนายชะตาของลูกชายตนเองว่า หากไม่ไปออกรบ จะมีชีวิตอย่างสงบสุขจนแก่เฒ่า แต่หากไปออกรบแล้วชื่อเสียงจะเป็นที่กล่าวขานไปตราบนานเท่านาน แต่จะต้องสินชีพในสนามรบ... รู้กระนั้นแล้ว Achilles ก็ยังเลือกที่จะไปออกรบ และสุดท้ายก็ต้องตายในสนามรบเมือง Troy... นี่แหละครับ Need for Competence ของมนุษย์ แต่การที่จะสร้างให้เกิด

Intrinsic Motivation มันไม่ได้จบแต่เพียงเท่านี้นะครับ ในภาคจบ เราจะมาพูดถึงวิธีการสร้าง Intrinsic Motivation ตามแนวคิดของ Deci และ Ryan ต่อใน Self-determination Theory ครับ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. Deci, E. L. (1975). Intrinsic motivation. New York: Plenum.
2. Deci, E. L. and Ryan, R. M. (1985). Intrinsic motivation and self-determination in human behavior. New York: Plenum Press
3. Deci, E.L. & Ryan, R.M. (2000). Self-determination theory and the facilitation of intrinsic motivation, social development, and well-being. American Psychologist, 55(1): 68-78.

ดาวน์โหลดเอกสารชิ้นที่ 3 ได้ที่ http://www.psych.rochester.edu/SDT/documents/2000_RyanDeci_SDT.pdf (ลิขสิทธิ์สำหรับอ่านเพื่อการศึกษาเท่านั้น)

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที