คงเดช

ผู้เขียน : คงเดช

อัพเดท: 01 ม.ค. 2009 23.28 น. บทความนี้มีผู้ชม: 187414 ครั้ง

ในขณะที่ "การให้รางวัล" เป็นสิ่งที่นำมาใช้ควบคุมการเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตได้ดีที่สุด ไม่เว้นแม้แต่กับมนุษย์ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่แล้วเรากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องระบบการให้รางวัลเท่าใดนัก...


ทฤษฎีความต้องการลำดับขั้นของมาสโลว์

เป็นทฤษฎีที่เป็นทีนิยมอย่างมาก และแพร่หลายสุดๆ ทั้งสายจิตวิทยาและการบริหาร ผมเชื่อว่าทุกคนรู้จักมาสโลว์ด้วยกันทั้งนั้น ทฤษฎีดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการออกแบบระบบการให้รางวัลได้อย่างดีเยี่ยม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ส่วนใหญ่นำไปใช้แล้วกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

มาสโลว์แบบความต้องการออกเป็น 5 ลำดับขั้น ประกอบด้วย

ขั้นที่ 1: ความต้องการพื้นฐานด้านกายภาพ
หมายถึง ความต้องการด้านปัจจัย 4 ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

ขั้นที่ 2: ความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
หมายถึง ความต้องการที่จะมีความมั่นคงในหน้าที่การงาน คือ ขอให้ได้งานที่มั่นคง ไม่เสี่ยงอันตราย

ขั้นที่ 3: ความต้องการความรัก และการมีสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น
หมายถึง การได้รู้จักคนอื่น การได้มีส่วนร่วมในสังคม การมีคนรัก

ขั้นที่ 4: ความต้องการได้รับการยอมรับนับถือ
หมายถึง ความต้องการมีความภาคภูมิใจในตนเอง การได้รับการยอมรับนับถือ

ขั้นที่ 5: ความต้องการที่จะได้พัฒนาตนเองไปสู่ศักยภาพสูงสุดของตน
หมายถึง ความต้องการในการพัฒนาตนเอง เติบโต ไปสู่ระดับสูงสุดที่ตนเองสามารถทำได้

มาสโลว์ได้วางเงื่อนไขเอาไว้ 2 ข้อในแนวคิดนี้ก็คือ

1. ความต้องการทั้ง 5 ขั้นจะเกิดขึ้นตามลำดับ จาก 1 ไปถึง 5 เสมอ
2. ตราบเท่าที่คนคนนั้นยังไม่รู้สึกว่าความต้องการในลำดับขั้นต่างๆ ได้รับการเติมเต็มแล้วละก็ จะยังไม่มีการก้าวข้ามไปยังความต้องการลำดับขั้นต่อไป

นั่นหมายความว่า... หากคนเรายังไม่มีครบปัจจัย 4 ก็จะยังไม่เกิดความต้องการมั่นคงปลอดภัย และถ้าเรายังไม่เกิดความมั่นคงปลอดภัย ความต้องการความรักก็จะยังไม่เกิด และเมื่อความรักยังไม่เกิด ความต้องการการนับถือตนเองก็จะยังไม่มี และหากความต้องการการนับถือตนเองยังไม่ได้รับการเติมเต็ม คนเราก็จะยังไม่คิดที่จะพัฒนาตนอย่างสุดความสามารถ

เงื่อนไขข้อที่ 2 นี่แหละครับ ที่หลายๆ องค์การมักจะมองข้ามไปเสมอ... และเป็นเหตุให้ระบบการให้รางวัลไม่ประสบความสำเร็จ

มีหลายๆ ที่เขาสอนสั่งกันว่า เราไม่ควรที่จะให้รางวัลที่เป็นเงินบ่อยครั้งจนเกินไป เพราะนั่นจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Overjustification หรือก็คือ การที่คนเราคิดว่าเหตุของการมีพฤติกรรมนั้นเป็นเพราะ เราได้รางวัล... เช่น ขยันทำงานเพราะว่าอยากำได้รางวัลคือเบี้ยขยัน เป็นต้น

เลยทำให้องค์การเหล่านั้นพยายามให้รางวัลในรูปของสิ่งที่ไม่ใช่เงิน (non-monetary rewards) เช่น ใบประกาศเกียรติคุณ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สอดคล้องกับแนวคิดของมาสโลว์ดี เพราะมนุษย์เรามีความต้องการการได้รับการยอมรับ ดังนั้นการได้ใบประกาศก็เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าได้รับการยอมรับ... แต่แล้วก็ต้องมากลุ้มใจว่า ทำไมให้แล้วไม่ได้ผล

คำตอบที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ก็เป็นเพราะความต้องการขั้นต้น อย่างเช่น ปัจจัย 4 ยังไม่ได้รับการเติมเต็มไงล่ะครับ... พนักงานรายวันรายได้วันละ 203 บาท ถ้าให้เทียบระหว่างเงินรางวัล 300 บาท กับใบประกาศใบหนึ่ง เขาจะอยากได้อะไร?!?

ปรากฏการณ์ Overjustification หรือการที่คนเราจะไปคิดว่าทำพฤติกรรมนั้นเพียงเพื่อหวังเงินรางวัลจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ เราให้รางวัลที่สูงค่าเกินไป ในการที่จะกระตุ้นให้คนเรามีพฤติกรรมอย่างง่ายๆ หรือพูดง่ายๆ คือให้รางวัลแบบ ขี่ช้างจับตั๊กแตนนั่นเอง

แต่การให้เบี้ยขยัน 300-500 บาท เพื่อแลกกันการที่มาทำงานทุกวันไม่หยุดหรือสาย หรือพูดง่ายๆ คือ ให้เฉลี่ยวันละ 10 บาท ผมว่าไม่น่าจะเกิดปรากฏการณ์ Overjustification หรอกนะครับ

บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที