วิกูล

ผู้เขียน : วิกูล

อัพเดท: 31 ก.ค. 2008 20.37 น. บทความนี้มีผู้ชม: 4142 ครั้ง

รับรายนั้นสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่า คือ "รายเหลือ"


รายรับ รายเหลือ จะเลือกรายใด

รายรับ รายเหลือ จะเลือกรายใด

วิกูล โพธิ์นาง

Pd_wikulp@hotmail.com

www.oknation.net/blog/wikulponang

กรกฎาคม ๒๕๕๑

 

ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ที่ดูอะไรในรอบๆตัวเรา หรือบางคน ก็คงจะรู้สึกหดหู่กับสภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง หรือชักหลังไม่ถึงหน้า

 

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการใดๆมาช่วยเหลือประชาชนในหลายๆอย่าง ก็คงไม่สามารถช่วยอะไรให้กับใครบางคนมากนัก แต่สำหรับบางคนแล้ว ก็จะรู้สึกว่านี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อวิถีชีวิตปัจจุบันของเขา

คนสองคนถึงจะมีฐานะทางสังคมคล้ายๆกัน แต่กับความรู้สึกพอใจในสภาวะเศรษฐกิจแบบ ณ วันนี้แตกต่างกันเพราะอะไร?

 

สาเหตุที่ทำให้คนสองคนนั้นมีความแตกต่างกันก็ด้วยเป้าหมาย เป้าหมายที่สองคนตั้งไว้ต่างกัน คนหนึ่งหวังแต่ “รายรับ” ต้องรับเยอะๆ จึงเกิดการแสวงหาไม่หยุดหย่อน เหนื่อยทั้งกายทั้งใจ

 

จะไม่เหนื่อยได้อย่างไรในเมื่อ “ต้องการแต่รายรับ กลับไม่ปิดรายจ่าย” เท่าไรก็ไม่พอ ประเด็นนี้ยกเว้นกับผู้ที่ประสบปัญหาที่เกิดจากความไม่สมดุลของรายรับรายจ่ายที่แม้จะประหยัดสุดๆแล้ว

 

กลับกันกับอีกคนหนึ่ง ที่ไม่ได้แสวงหารายรับแต่เพียงอย่างเดียว เขามองที่ “รายเหลือ” คิดว่าวันนี้ เดือนนี้ จะเหลือเท่าไร?  จึงได้พิถีพิถันกับรายจ่าย สิ่งใดไม่จำเป็นก็งด ทำให้รายจ่ายน้อยลง รายเหลือมากขึ้น

คนทั้งสองคน จึงแข่งกันที่ คนหนึ่งตั้งเป้าหมายหารายรับ คนหนึ่งตั้งเป้าหารายเหลือ ความสุขทั้งสองคนตามประสาฆราวาสก็ต่างกัน

 

คนหนึ่งสุขเพราะหาทรัพย์จ่ายทรัพย์ คนหนึ่งสุขเพราะหาทรัพย์ไม่จ่ายทรัพย์ที่ไม่จำเป็น

ถ้าถามว่าจะสุขอย่างไรดี ก็ขอแนะนำว่าควรนำความสุขทั้งสองอย่างมาผสมกัน หาทรัพย์ได้ จ่ายทรัพย์ด้วย พร้อมควบคุมให้เกิดรายเหลือ  โดยพิจารณาประกอบว่า จะซื้ออะไร ซื้อทำไม ไม่ซื้อได้หรือไม่ ถ้าไม่ซื้อเรายังมีชีวิตอยู่ได้ไหม ถ้าคำตอบว่า ถ้าไม่ซื้อเราก็ไม่ตายก็  “ไม่ต้องซื้อ”

 

เพียงพฤติกรรมง่ายที่ว่ามารรับรองว่าจะเหลือรายเหลือต่อเดือนมากทีเดียว ครับ “สุขใดไหนเล่าเท่าทรัพย์เหลือ”

ต่อไปก็สร้างทัศนะคติ และค่านิยมในสังคมกันเสียใหม่ ไม่แข่งกันที่ว่าใครจะรับมากกว่า แต่จะมาโชว์กันที่ ใครจะเหลือมากกว่ากัน

 

รายรับจึงไม่ใช่ดัชนีวัดความสุข ความมั่งคั่งหากแต่ว่ารายเหลือคือดัชนีวัดว่าใครจะสุขกว่ากัน

เครื่องมือที่จะช่วยให้เหลือ ก็ขอนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงสอนเหล่าพุทธสาวกว่า “ต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย”

 

ผู้เลี้ยงง่าย...!!!  ต้องมีคุณลักษณะดังนี้คือ “กินอย่างหมู อยู่อย่างหมา ไปมาเยี่ยงนก”

“กินอย่างหมู อยู่อย่างหมา ไปมาเยี่ยงนก”

 

กินอย่างหมู...!!! คงมิได้หมายถึงกินมูมมามตามประสาหมูหรือกินไม่เลือกดุนไชไปทั่ว แต่ในที่นี้หมายถึง ต้องเป็นคนที่กินง่ายๆ กินแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ร่างกายให้ครบห้าหมู่ งดสิ่งเสพติด งดสิ่งที่วิจิตพิสดาร คิดง่ายๆกินแล้วก็ถ่ายจะเอาอะไรกันนักหนา

 

อยู่อย่างหมา...!!! ก็มิได้ให้ท่านลงไปเป็นเช่นสุนัข แต่ให้สังเกตเจ้าสุนัขหรือหมาน้อยๆ หมาใหญ่ๆ เขาอยู่ได้ทุกที่ ไม่ว่าจะในบ้านหลังใหญ่โต หรือข้างถนนป่าหญ้า ขอให้ที่แห่งนั้นบังแดดบังฝนบังลม นอนได้อย่างปลอดภัย เขาก็พอใจแล้ว นอนอิ่มด้วย  คนเราถ้ายึดแต่ว่าสถานที่อยู่นั้น ก็ให้อยู่อย่างสมฐานะกับรายรับรายจ่าย ไม่สร้างเสียจนเกินพอดี ก็จะไม่ทุกข์ ไม่ต้องแสวงหาให้ยุ่งยาก มีวันว่างด้วย ไม่ถึงขนาด “ทำโอทีผ่อนบ้านจัดสรร”

 

ไปมาเยี่ยงนก...!!! คำสอนนี้พระพุทธองค์ประสงค์จะให้ภิกษุไม่ยึดติดอยู่กับถิ่น พร้อมที่จะจาริกสัญจรไปทั่วแผ่นดินเพื่อเทศนาธรรมกับเหล่าญาติโยม เราชาวฆาราวาสหากนำคำสอนนี้มาประยุกต์ก็จะได้ประโยชน์มิใช่น้อย เพราะถ้าเราไม่ยึดติดในถิ่น หรือภาคนิยมก็จะเกิดความสุข ความสามัคคี ไม่อิจฉาริษยากันจนเป็นเหตุให้ต้องหาทรัพย์เพื่อมาสร้างอิทธิพล ไม่ติดถิ่น ถือว่าทุกถิ่นไทยคือบ้านการเป็นอยู่ก็เป็นสุข กับรายจ่ายรายรับที่แม้จะน้อยนิด เมื่อรักและสามัคคีกันอะไรจะสุขไปกว่านี้อีกหรือคนไทย...!!!

 

ผมมั่นใจว่า  หากเราทุกผู้นามนำคำสอนของพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ “กินอย่างหมู่ อยู่อย่างหมา ไปมาอย่างนก” จะทำให้ การใช้ชีวิตประจำวันแบบไทยๆสอดคล้องกับความพอเพียงได้เป็นอย่างดี สิ่งนี้แหละที่จะทำให้ “รายจ่ายไม่เกินตัว”

 

ต่อไปไม่ต้องถามหรอกว่าใครเงินเดือนเท่าไร มากน้อยกี่หมื่นบาท

แต่เราจะถามกันว่า “คุณมีรายเหลือเดือนละเท่าไร” ลองดูเถอะบางคนรับสี่หมื่นห้าหมื่นต่อเดือนหรือมากกว่า แต่ไม่เหลือถึงห้าร้อย

 

แต่กลับกันคนที่เหลือเก็บเดือนละแปดร้อย กับรายรับไม่ถึงหมื่น ใครรวยกว่ากัน

ขอเป็นกำลังใจครับกับทุกๆท่าน รวมถึงตัวผมด้วยว่า เราจะฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยใจมั่นคง โดยคิดเสมอว่า “เราทำได้”

 

และวันหนึ่งในไม่ช้า เราจะมีคำตอบของตัวเอง ระหว่างรายรับกับรายเหลือว่า “ใครจะมีความสุขกว่ากัน” 

 

////////////////////


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที