ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 61132 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........พิเชษฐ์ กาญจนการุณ

1 ปีกับประสบการณ์ล้ำค่าด้าน Embedded Systems ในประเทศญี่ปุ่น (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 

                สำหรับท่านที่สอง (ต่อเนื่องกับตอนที่ 4)  ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจเช่นเดียวกับท่านแรก โดยท่านนี้  ได้ไปฝึกงานบริษัทเดียวกับของคุณอัธยา  เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา  จึงขอเชิญทุกท่านอ่านบทความไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

 

“สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จักครับ ... ฮาจิเมะมาชิเตะ โยโรชิกุ”

ขอแนะนำตัวกันสั้น ๆ ว่าชื่อ นายพิเชษฐ์ กาญจนการุณ ครับ  ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ ESTATE และเดินทางไปฝึกงานเหมือนกับพี่ ๆ เพื่อน ๆ อีกสิบกว่าคน ที่ท่านผู้อ่านได้อ่านบทความผ่านตามาบ้างแล้วจากฉบับก่อน ๆ และกำลังจะได้อ่านอีกในฉบับต่อ ๆ ไป ก็ขอให้ท่านผู้อ่านตามอ่านให้ครบทุกฉบับนะครับ

 

“เพื่อไม่ให้เสียพื้นที่หน้ากระดาษ ... เรามาเข้าเรื่องกัน”

เนื่องจากผมเองไม่เคยเขียนบทความ และคิดว่าเขียนไม่เก่งเสียด้วย แต่พอทางส.ส.ท.แจ้งให้เขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ตอนที่อยู่ที่ญี่ปุ่น ผมมาคิดไปคิดมา ก็เลยคิดว่าถ้าหยิบเอาเรื่องสนุก ๆ  จากบันทึกประจำวันของผมมาเล่าคงจะเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยได้คัดเลือกเฉพาะส่วนที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะมีถ้อยคำที่ไม่สละสลวยบ้างก็ต้องขออภัยกันไว้ล่วงหน้าด้วยครับ ซึ่งประเด็นที่ผมอยากจะนำเสนอ ก็คือ อยากให้คุณผู้อ่านลองคิดตามดูว่า ถ้าเป็นคุณจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับคน, สังคม และการทำงานของญี่ปุ่นอย่างไร เพราะที่ผมจะเล่ามันก็เป็นเพียงความคิดและมุมมองของผมเอง คงไม่ใช่สิ่งที่จะบอกได้ว่าถูก หรือผิด  และคนญี่ปุ่นจะเป็นอย่างงั้นกันหมดทุกคน

 

“ความเป็นมาเป็นไปของบริษัท CATS Co., Ltd. <www.zipc.com>”

ส่วนหนึ่งของบันทึก: ... วันนี้ดีใจมากที่ได้มีโอกาสฟังเรื่องบริษัทจากปากของคุณXXX1 ซึ่งเป็นลูกชายของท่านประธานบริษัท แกเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมพ่อแกทำบริษัทรับผลิตอะไหล่แบบ OEM ส่งให้โรงงานพลังงานไฟฟ้า แล้วพอมีพนักงานชื่อ XXX2 เข้ามาซึ่งเก่งเรื่อง Software มาก คิดทำ ZIPC ขึ้นมาใช้งานภายในบริษัท แล้วลูกค้ามาเห็นก็ชอบอยากใช้บ้าง ก็เลยทำธุรกิจ Embedded Software ขึ้นมา ทำไปทำมารายได้ดีกว่าฝั่งทำ OEM ก็เลยเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น CATS อย่างทุกวันนี้ ... ช่วงนั้นย้อนกลับไป 20-30 ปี เศรษฐกิจญี่ปุ่นคงกำลังขยายตัวสุดขีดอยู่พอดีแบบว่าใครคิดอะไรได้ใหม่ขึ้นมา เป็นอันขายได้และตั้งบริษัทได้เลย จนปัจจุบันคุณ XXX2 ได้ทำงานตำแหน่งรองประธาน ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นลูกหลาน  ส่วนคุณXXX1 ตอนนี้ยังทำงานเป็นลูกน้องแกอยู่เลย ฟังแล้วก็หวังอยากให้มีเถ้าแก่เมืองไทยสนับสนุนลูกน้องในบริษัท และคิดเอาบริษัทเป็นที่ตั้ง แบบนี้เยอะๆ...

 

“คุยกับอดีต Project Manager ของ Kyocera”

ส่วนหนึ่งของบันทึก: ... การมาฝึกงานเช้า ๆ ทำให้วันนี้ได้มีโอกาสพูดมากกว่าสวัสดี กับคุณ XXX4 หลังจากทักทายแกตามปกติแล้วแกก็ตะโกนข้ามมาถามว่ามีเวลาไปคุยกับแกหน่อยมั๊ย เข้าทางพอดีจึงรีบเข้าไปคุย ... แล้วแกก็เล่าประวัติการทำงานให้ฟังว่า จริง ๆ แล้วแกทำงานสายด้าน Hardware ทำงานเป็น Hardware Designer ที่บริษัท NEC 10 ปี แล้วก็มาทำ Project Management และ Architecture Design  ซึ่งต้องดูเรื่อง Software  ด้วยอีก 10 ปีที่ Kyocera ไม่ว่าเปล่า แกก็คว้า PDA ที่เป็นผลงานแก Design ASIC ข้างในสมัยแกทำอยู่ Kyocera  เมื่อ 5 ปีก่อนนี้มาให้ดู เป็น PDA มี Slot CF card ขนาดเล็กใช้ได้เลย (โอ... พระเจ้าฟังแล้วนี่มันงานมันสุด ๆ แบบว่าหาทำที่ไทยไม่ได้เลย) ... แกก็รู้ว่าเราพูดญี่ปุ่นไม่ค่อยได้และแกเองก็เหมือนอยากพูดภาษาอังกฤษด้วยมั๊ง เพราะระหว่างพูดแกจะพูดคำอังกฤษด้วยตลอดแต่ไม่เป็นประโยค ... ด้วยความยุ่งของแก ก็มีโทรศัพท์เข้ามาที่โต๊ะก็เลยเลิกคุยกันไป เหมือนงานเข้ามาพอดี แต่หลังวางโทรศัพท์แกก็พยายามพูดขอโทษเราอยู่นั่นแหละ เราก็บอกว่าไม่เป็นไรจริงๆไว้พรุ่งนี้คุยต่อ ประสบการณ์ทำงานของแกน่าจะสะท้อนภาพงานของวิศวกรญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นงานที่ดูยากและน่าสนุกมาก...

 

“อาหารกลางวัน และความประหยัด”

ส่วนหนึ่งของบันทึก: ... วันนี้ไม่ได้ไปสวนสาธารณะ นั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน บ่อยครั้งก็รับประทานอาหารที่นี่แหละ เหมือนพนักงานที่นี่แทบทุกคนส่วนใหญ่ห่อข้าวมาบ้าง ซื้อข้าวกล่องข้างล่างบ้าง แล้วก็นั่งรับประทานอาหารกันหน้าโต๊ะทำงาน ไม่ค่อยลงไปรับประทานอาหารกันที่สวนสาธารณะกันเท่าไหร่  รับประทานอาหารที่ร้านก็นาน ๆ ที ถึงจะเห็นเค้าไปรับประทานอาหารกัน  ยิ่งคุณ XXX 3 (หัวหน้างาน) ไม่ต้องพูดถึง เห็นแกนั่งรับประทานข้าวปั้นบ้าง แซนวิชบ้าง ไม่เคยเห็นแกไปรับประทานอาหารที่ร้านเลย จะมีก็ตอนสองวันแรกที่เรามาทำงานที่นี่ แกพาไปเลี้ยงที่ร้าน ขนาดแกเป็น Manager ยังประหยัดมาก ไม่เหมือนที่ไทยไม่ค่อยมีใครห่อข้าวมารับประทานที่ทำงาน มักจะรับประทานอาหารที่ร้านกันส่วนใหญ่  การที่อาหารแพงมันทำให้พนักงานเค้าดูเป็นคนประหยัดกันมาก ...

  

“โดนหัวหน้างานตำหนิ”

ส่วนหนึ่งของบันทึก: ... เรื่องของเรื่องก็คือมี Present Draft ของ STM Design (State Transition Matrix Design) แล้วเราก็เกิดอาการ Design ผิด แบบว่าพลาด ลืมดูไปว่า Action Cells ของ State Hit กับ No Hit มันเหมือนกัน ก็เท่ากับว่าเป็น State เดียวกัน ที่นี้ก็เลยโดนคุณ XXX3 (หัวหน้างาน) แกสวดยับเลยครับ แบบว่าขึ้นอารมณ์โมโหแล้วก็ว่าทำเหมือนคนไม่ได้เรียน ZIPC มา (เออ ... ก็ไม่ได้เรียนมาจิง ๆ นี่ นึกในใจ!) รู้สึกเลยว่าเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าแกจะพูดออกมาจากใจจริง ก็ตอนว่าลูกน้องนี่เอง โห... 
 

คงขอนำเสนอประสบการณ์ไว้แต่เพียงเท่านี้ บทสรุปสำหรับตัวผมเองกับการเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ทุกท่านในทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำงานเพื่อสนับสนุนโครงการ ESTATE นี้ ถือได้ว่าผมโชคดีที่ได้รับโอกาสไปศึกษาการทำงานแบบญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนที่จะได้ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นที่ทำอยู่ปัจจุบัน ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับจากที่นั่นก็เป็นประโยชน์กับงานปัจจุบันมากครับ จะมีจุดที่เสียใจกับตัวเองก็คือ เรื่องที่ไม่สามารถนำธุรกิจจากทางโน้นมาทำต่อที่เมืองไทยอย่างที่ตั้งใจไว้ก่อนเดินทางไปได้ แต่ผมเองก็ยังพยายามดำเนินบริษัทกับเพื่อน ๆ กลุ่มเดิม รับงานพัฒนาซอฟแวร์และดัดแปลงอุปกรณ์ในโรงงานให้กับอุตสาหกรรมไทยต่อไป โดยหวังว่าจะเพิ่มลูกค้าในส่วนโรงงานญี่ปุ่นขึ้นครับ หากท่านผู้อ่านมีประเด็นคำถามใด ๆ เพิ่มเติม สามารถติดต่อผมได้ที่ pichead.tesa@gmail.com ครับ ขอบคุณครับ


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที