ESTATE1

ผู้เขียน : ESTATE1

อัพเดท: 27 ต.ค. 2008 16.27 น. บทความนี้มีผู้ชม: 61127 ครั้ง

มารับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์ดี ๆ จากการไปฝึกงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 ปี จาก นักศึกษาโครงการ ESTATE รุ่นที่ 1


ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1........สุภชัย เทพวีรกุล

สำหรับนักศึกษาของโครงการ ESTATE  รุ่นที่ 1  ท่านนี้  เป็นอีกหนึ่งพี่ใหญ่ของโครงการฯ  รองจากหัวหน้าทีม  ที่บอกว่าเป็นพี่ใหญ่  เนื่องจากมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์การทำงานพอสมควร  ก่อนที่จะเข้ามาร่วมโครงการ ESTATE  ขอแนะนำให้ทุก ๆ ท่านได้รู้จัก  นายสุภชัย  เทพวีรกุล  ซึ่งจะมาเล่าประสบการณ์  พร้อมกับแง่คิดต่าง ๆ  ในการไปฝึกงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

 

ช่วงหนึ่งของชีวิตกับ ESTATE 1

               ผมเลือกไปฝึกงานกับบริษัท โตเกียวเคอิโซ ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท คือ เครื่องมือวัดอัตราการไหล (Flow meter) ใช้วัดทั้งของเหลวและก๊าซ  และเครื่องมือวัดระดับ (Level meter) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ  สาเหตุที่เลือกมาฝึกงานที่บริษัทนี้ ก็เพราะว่าผมชอบและสนใจในเทคโนโลยีเกี่ยวกับเครื่องมือวัด และคิดว่าความรู้ที่ได้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้

 

ตามกำหนดการ เมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่นแล้ว ก่อนที่จะไปฝึกงานที่บริษัท จะต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมญี่ปุ่น ก่อนเป็นเวลาประมาณ หกสัปดาห์ เพื่อเตรียมความพร้อม และปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น   โดยจะพักและเรียนภาษาอยู่ที่ ศูนย์ฝึกอบรมคันไซ (AOTS)  ที่เมืองโอซากา ภายในศูนย์จะมีห้องพักเป็นส่วนตัว ห้องเรียนภาษา โรงอาหาร โรงยิม สะดวกสบายมากทีเดียวครับ  ที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ  แห่งนี้  นอกจากกลุ่มของเราแล้วยังมีเพื่อน ๆ จาก ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย บราซิล ที่ทำงานกับบริษัทของญี่ปุ่นที่ไปตั้งโรงงานอยู่ในประเทศนั้นๆ และได้มาฝึกงานกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น พักอยู่ด้วยกัน

 

สำหรับ AOTS หรือ The Association for Overseas Technical Scholarship นั้น ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ 2502 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ของรัฐบาลญี่ปุ่น (METI) ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือทางเทคโนโลยีเป็นแห่งแรกของญี่ปุ่น  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ฉันท์มิตรซึ่งกันและกันระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศต่าง ๆ ผ่านกิจกรรมการฝึกอบรมสำหรับวิศวกร และผู้จัดการของประเทศเหล่านี้ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น  ทุนและกิจกรรมหลักที่ AOTS จัดขึ้นภายใต้เงินช่วยเหลือ ODA (Official Development Assistance) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้แก่ โปรแกรมการฝึกอบรมในประเทศญี่ปุ่นสำหรับวิศวกรและผู้จัดการ) จากประเทศกำลังพัฒนา แยกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การฝึกอบรมด้านเทคนิคที่บริษัทแม่ฯ (หรือบริษัทร่วมทุน) และ การฝึกอบรมด้านบริหาร

 

หลังจากเรียนภาษา ญี่ปุ่นที่ศูนย์ฝึกอบรมคันไซ (KKC) เมืองโอซากา เป็นเวลาหกสัปดาห์แล้ว ผมต้องเดินทางไปฝึกงานกับบริษัท ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่เมืองโยโกฮามา โดยช่วงที่ฝึกงานนี้ทางบริษัทได้จัดให้พักที่ ศูนย์ฝึกอบรมโยโกฮาม่า (YKC)  สภาพที่พักก็ใกล้เคียงกับที่พักเก่า และยังอยู่ใกล้ทะเล จากห้องพักมองออกไปนอกหน้าต่าง ก็เห็นทะเล บรรยากาศค่อนข้างดีทีเดียวครับ  จากที่พักถึงโรงงาน ต้องนั่งรถไฟสามต่อ ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมงครึ่ง แล้วต้องเดินอีกประมาณ สิบห้านาที เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันแต่พอผ่านไปสักสองอาทิตย์ก็เริ่มคุ้นเคยกับการเดินทาง

 

เรื่องการฝึกงาน ทางบริษัทจัดทำตารางสำหรับฝึกงานไว้อย่างละเอียด จะระบุไว้เลยว่าในแต่ละวันจะฝึกเกี่ยวกับอะไรบ้าง  โดยช่วงแรกจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างกว้าง ๆ ก่อน หลังจากนั้นก็จะค่อยเจาะลึก เช่น หลักการวัดอัตราการไหลของของเหลว และ ก๊าซ ,ประเภทของโฟลมิเตอร์แบบต่างๆ, ส่วนประกอบของโฟลมิเตอร์

 

จากนั้นก็จะสอนขั้นตอนของการผลิต Flowmeter , Level meter เริ่มตั้งแต่รับออร์เดอร์จากลูกค้า ,ออกแบบส่วนประกอบของ Flowmetetr ,  การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ,การสอบเทียบ ,การควบคุมคุณภาพในการผลิต และการบรรจุเรียกได้ว่าฝึกกันตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ส่วนมากจะเป็นการเรียน และจะให้ลองทำจริงบ้าง ในงานที่ผู้ฝึกสอนเห็นว่าเราพอจะทำได้

 

ใน ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Embedded นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการวัดสัญญาณจาก sensor แบบต่าง ๆ และการประมวลผล  ตัวอย่างเช่น Ultrasonic Flow meter ซึ่งจะวัดอัตราการไหลได้โดยอาศัยหลักความแตกต่างของความเร็วในการเดินทางของคลื่นที่มีความถี่เหนือคลื่นเสียง ก็จะใช้ Digital Signal Processing ในการวัดสัญญาณ Ultrasonic แล้วเปลี่ยนค่าที่ได้ให้อยู่ในหน่วยของอัตราการไหล

 

สำหรับความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้  นอกจากในด้านของเทคโนโลยีแล้ว ยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมในการทำงานและความรับผิดชอบของคนญี่ปุ่น ทุกคนจะทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการทำงาน.


บทความนี้เกิดจากการเขียนและส่งขึ้นมาสู่ระบบแบบอัตโนมัติ สมาคมฯไม่รับผิดชอบต่อบทความหรือข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และหากท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม หรือทำให้เกิดความเสียหาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ กรุณาแจ้งมาที่ ht.ro.apt@ecivres-bew เพื่อทีมงานจะได้ดำเนินการลบออกจากระบบในทันที